3 กันยายน 2564 สปสช.เผยแนวทางกระจายชุดตรวจโควิด ATK แบบตรวจด้วยตัวเองให้แก่ประชาชน กลุ่มเสี่ยง 8.5 ล้านชุด เน้นแจก 2 รูปแบบ คือแจกในชุมชนแออัด-ตลาด และหน่วยบริการ ไม่ว่าจะเป็น รพ. รพ.สต. คลินิก และร้านขายยาในพื้นที่สีแดง ในส่วนของหน่วยบริการแจกผ่านแอปเป๋าตัง เบื้องต้นแจกคนละ 2 ชุด ใช้ตรวจห่างกัน 5 วัน เผื่อให้ตรวจซ้ำเมื่อตรวจครั้งแรกแล้วได้ผลเป็นลบ คาดเริ่มแจกได้ 15 ก.ย.นี้
ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) 8.5 ล้านชุดพร้อม
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงแนวทางการกระจายชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) แบบ Self-test สำหรับให้ประชาชนตรวจโควิดด้วยตัวเอง หลังจากที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ลงนามจัดซื้อ 8.5 ล้านชุด โดยระบุว่าขณะนี้ทางคณะทำงานวางแผนการกระจาย ATK ของ สปสช. ซึ่งมี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้วางแผนเร่งกระจายชุดตรวจ เบื้องต้นจะเน้นที่กลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่สีแดง ในครอบครัว/ชุมชนมีผู้ติดเชื้อ เพื่อให้ตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตัวเอง คาดว่าจะเริ่มแจกได้ 15 ก.ย.2564
กระจาย 2 ช่องทางหลัก
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า สำหรับช่องทางการกระจายนั้น จะกระจายผ่านหน่วยบริการที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพใน 2 รูปแบบ คือ 1) แจกให้ชุมชนแออัด และ 2) แจกที่หน่วยบริการ
1.แจกให้ชุมชนแออัด
เป็นการกระจายไปตามแจกในชุมชนแออัด รวมทั้งตลาดต่างๆ โดยที่ทางผู้นำชุมชน หรือผู้ประสานงาน หรืออาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะดำเนินการรับชุดตรวจ และกระจายให้กลุ่มเป้าหมาย โดยที่ประชาชนไม่ต้องเดินทางมารับที่หน่วยบริการ
- ใน กทม.ลงทะเบียนรับ ATK กับศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.)
- ส่วนต่างจังหวัด ลงทะเบียนรับ ATK กับหน่วยบริการในพื้นที่ เช่น รพ.สต. หรือ รพ.ใกล้ชุมชน
กลุ่มเป้าหมาย
1.ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 โรค (ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด)
2.ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการติดเชื้อ (มีไข้ ไอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจหอบ หายใจลำบาก)
3.ผู้ที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ติดเชื้อโควิด
4.ผู้ที่ทำงานประสานงานในชุมชน
2.แจกที่หน่วยบริการ
หน่วยบริการได้แก่ รพ. และ รพ.สต.ทุกแห่ง รวมถึงคลินิก และร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ ในพื้นที่สีแดงเพื่อให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงนำกลับไปตรวจที่บ้าน โดยประชาชนขอรับผ่านแอปเป๋าตัง หากเข้าเกณฑ์ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง จะมีขั้นตอนให้ดูร้านขายยาใกล้บ้าน และโทรประสานเพื่อไปขอรับหรือให้ผู้อื่นไปรับที่หน่วยบริการ
เช็คหน่วยบริการรับ ATK ผ่านแอปเป๋าตัง
สำหรับการค้นหาหน่วยบริการ หรือตรวจสอบว่าที่ไหนเข้าร่วมบ้างนั้น สามารถตรวจสอบรายชื่อผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยขณะนี้ธนาคารกรุงไทยกำลังพัฒนาระบบและคาดว่าวันที่ 11 ก.ย.64 นี้ จะมีการอัพเดทแอปเป๋าตังที่เพิ่มเมนูรับชุดตรวจโควิด-19 ฟรี ในหัวข้อเป๋าตังสุขภาพแล้วเสร็จ ซึ่งประชาชนกลุ่มเสี่ยงเลือกใช้บริการตามเมนูนี้ได้ อีกทั้งที่หน้าร้านยาก็จะมีสติ๊กเกอร์ใหญ่ๆ ว่าเป็นจุดแจก ATK ของ สปสช. ด้วย
"ที่ต้องแจกผ่านหน่วยบริการเพราะต้องการให้มีการให้คำแนะนำ และการแจกจะแจกคนละ 2 ชุดเพราะเมื่อได้ผลเป็นลบแล้วอาจยังไว้วางใจไม่ได้ อีก 5 วันอาจต้องตรวจอีกครั้ง และถ้ามีผลเป็นบวกก็จะมีขั้นตอนเพื่อนำเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือ Home Isolation หรือถ้าเข้าระบบการดูแลในระบบชุมชน หรือ Community Isolation ก็จะต้องตรวจซ้ำด้วย RT-PCR" นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า หากประชาชนมีปัญหาในการรับชุดตรวจ ATK สามารถโทรถามสายด่วน สปสช. 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ add line สปสช. ที่ @nhso เพื่อสอบถามข้อมูลต่างๆได้เช่นกัน นอกจากนี้แล้ว ขอแนะนำประชาชนที่ไม่มีอาการเจ็บป่วยให้ add friend กับ @nhso ไว้ก่อนก็ได้ เพราะเมื่อเกิดเหตุจำเป็นก็จะได้สอบถามข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
ร้านยาจิตอาสา 1,500 พร้อมแจกและแนะนำ
รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้มี "ร้านขายยาจิตอาสา" ที่ประสงค์จะเข้าร่วมกระจายชุดตรวจโควิด-19 ประเภท Antigen Test Kits ได้ลงทะเบียนกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แล้วจำนวน 1,500 แห่งทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นร้านขายยาที่มีเภสัชกรชุมชนประจำอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อที่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถลงทะเบียนขอรับชุดตรวจ ATK ได้ สามารถค้นหารายชื่อ “ร้านยาใกล้บ้าน” ผ่านแอพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ที่กลุ่มเสี่ยงจะไปขอรับ ATK ได้
“เภสัชกรชุมชนจะช่วยแนะนำว่าวิธีการตรวจเป็นอย่างไร ผลลัพท์เป็นบวก หรือ ลบอย่างไร ถ้าไม่แน่ใจสามารถส่งภาพถ่ายผลตรวจมาให้ร้านยาชุมชนประเมิน แล้วก็ตรวจซ้ำอีกครั้งภายใน 3-5 วันเพื่อความแน่นอน ถ้าผลเป็นบวกให้ส่งผลตรวจมาที่ร้านยา ใช้วิธีคุยกันปรึกษาหารือกันว่ามีอาการอื่นๆ อีกหรือไม่ เช่น ไอ มีไข้ หายใจไม่ออก เพื่อจะแยกได้ว่าคนไข้นี้เป็นกลุ่มสีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง แล้วถ้าเป็นสีเขียวก็เข้าระบบ Home Isolation หรือ Community Isolation แต่ถ้าเป็นสีแดงจะลงทะเบียนไปสถานพยาบาลที่ผูกกับตัวทุกคนอยู่แล้ว”
“ปัจจุบันคนลงทะเบียนเข้าระบบ Home Isolation กับสปสช.เรียกว่าล้น ทำให้กว่าจะมีแพทย์หรือพยาบาลติดต่อกลับไปหาผู้ป่วยก็ล่าช้า ดังนั้น ระบบที่จะถูกเซตใหม่แบบนี้ ย่อมจะสามารถแบ่งเบาภาระของสถานพยาบาลได้อีกมาก ร้านขายยาจิตอาสา 1,500 แห่งนี้ ก็จะถือเป็นการเพิ่มจุดให้บริการเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก ซึ่งแต่ละจังหวัดก็จะมีเครือข่ายร้านขายยา เชื่อมต่อความร่วมมือกันอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อโมเดลนี้เดินหน้ากระบวนการช่วยเหลือประชาชนด้วยระบบสาธารณสุขแบบปฐมภูมิจะเข้มแข็งมากขึ้น”