28 ก.ย.2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี และหน่วยงานท้องถิ่น ร่วมกันลงพื้นที่เยี่ยมชมการบริหารจัดการกระจายชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บางขะแยง และร้านขายยา อ.เมือง จ.ปทุมธานี
ยุทธวิธีเชิงรุก
นพ.จเด็จ เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และการกระจายชุดตรวจ ATK เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถตรวจได้เอง เป็นยุทธวิธีหนึ่งที่เชื่อว่าจะช่วยควบคุมและป้องกันโรคได้ โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการกระจายผ่านร้านยาต่างๆ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือการกระจายผ่านพี่น้อง อสม. ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มเสี่ยงต่างๆ สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น
นพ.จเด็จ กล่าวว่า เป้าหมายการกระจายชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด คาดว่าจะแจกหมดภายใน 2 เดือน ก่อนประเมินสถานการณ์อีกครั้ง อย่างไรก็ตามขณะนี้พบว่าการให้ประชาชนเดินทางมารับชุดตรวจเองที่ร้านยา อาจยังมีข้อจำกัดสำหรับกลุ่มเป้าหมายบางส่วน เช่น ผู้ค้าในตลาด พนักงานขับรถสาธารณะ ผู้ประกอบการร้านเสริมสวย ร้านนวด ที่อาจไม่มีเวลาเดินทางมารับด้วยตนเอง ดังนั้น อสม.จะเป็นคำตอบในการเป็นหน่วยเดินเท้านำชุดตรวจไปถึงประชาชน และหากพบว่าติดเชื้อก็สามารถทำหน้าที่ในการประสานเข้าสู่ระบบการรักษาได้
“ตอนแรกที่อาจมีความกังวลว่าพี่น้อง อสม. จะทำเป็นไหม เข้าใจไหม สื่อสารได้หรือไม่ เพราะยังต้องมีการใช้แอปพลิเคชันอะไรต่างๆ แต่จากตัวอย่างการดำเนินงานของพื้นที่ ต.บางขะแยง ก็ยืนยันให้เราเห็นแล้วว่า อสม. มีความเข้าใจและสามารถทำได้ เช่นเดียวกับ อสม.กว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ ที่จะสามารถเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการเฝ้าระวังโรค ร่วมกับท้องถิ่นในการจัดเตรียมสถานที่ หรือ Community Isolation เพื่อช่วยเหลือดูแลกันได้ในชุมชน” นพ.จเด็จ กล่าว
ศักยภาพ อสม.ปทุมธานี
จ.ปทุมธานี ได้รับชุดตรวจ ATK จาก สปสช. รวมทั้งสิ้น 114,900 ชุด แบ่งเป็นหน่วยบริการจำนวน 8 แห่ง รวม 105,000 ชุด ร้านขายยาจำนวน 4 ร้าน รวม 1,800 ชุด และคลินิกชุมชนอบอุ่นจำนวน 6 แห่ง รวม 8,100 ชุด โดยหน่วยบริการได้มีการกระจายผ่านโรงพยาบาลแม่ข่าย และสาธารณสุขอำเภอ ลงไปยังพื้นที่
นางสมคิด ปานบุญ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บางขะแยง กล่าวว่า รพ.สต.บางขะแยง เป็นพื้นที่แรกในการแจกชุดตรวจ ATK ภายในตำบล โดยได้มีการบริหารจัดการ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงลงทะเบียนรับชุดตรวจผ่านแอปฯ เป๋าตัง รวมถึงการใช้ อสม.ในพื้นที่เป็นเครือข่ายแจกชุดตรวจให้แก่กลุ่มเสี่ยงในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ที่ไม่สามารถใช้แอปฯ ได้ และยังช่วยบันทึกผลตรวจเพื่อใช้ในการติดตามข้อมูล ขณะเดียวกันกรณีพบผลเป็นบวก ก็จะช่วยประสานส่งให้กับโรงพยาบาลแม่ข่ายและศูนย์พักคอยเทศบาลตำบลบางขะแยง เพื่อให้การดูแลต่อไป
นางสมคิด กล่าวว่า แม้พื้นที่ ต.บางขะแยง จะมีความซับซ้อนเนื่องจากเป็นปริมณฑลรอยต่อเขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่งผลให้มีประชาชนนอกพื้นที่เข้ามาขอรับชุดตรวจ ATK อย่างต่อเนื่อง แต่เพื่อความครอบคลุมในการค้นหาเชื้อ ทาง รพ.สต.บางขะแยง จึงไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะคนในพื้นที่ โดยได้มีการบริหารจัดการเพื่อให้เพียงพอ พร้อมประชาสัมพันธ์เชิงรุกผ่าน อสม. และเครือข่ายสุขภาพ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ให้ช่วยกันเร่งสร้างความเข้าใจในการแจกชุดตรวจ
“เราแนะนำประชาชนให้ลงทะเบียนผ่านแอปฯ เป๋าตัง โดยสแกนผ่าน QR Code ที่กำหนดให้ ประชาชนสามารถบันทึกผลตรวจ ส่วนกลุ่มเสี่ยงผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้สูงอายุ คนพิการที่มีบุตรหลานไปทำงานนอกพื้นที่ จะต้องได้รับการตรวจ โดย อสม. จะนำชุดตรวจ ATK ไปแจกถึงบ้าน หากใครทำเองได้ก็จะสอนให้ใช้ชุดตรวจ ATK และบันทึกผล สำหรับคนที่ไม่สามารตรวจเองได้ อสม.จะช่วยตรวจ จากนั้นก็จะบันทึกผล และนำข้อมูลเข้าระบบการดูแลรักษาทันทีหากพบผลติดเชื้อ” นางสมคิด กล่าว
ด้าน นางดวงตา เรือนสุข ประธาน อสม. ต.บางขะแยง จ.ปทุมธานี กล่าวว่า รพ.สต.จะมอบหมายให้ อสม. 1 คน ดูแลราว 20 หลังคาเรือน ซึ่งในพื้นที่ ต.บางขะแยง มีผู้ป่วยติดบ้านและติดเตียงรวมกันราว 100 คน โดยทาง รพ.สต. ได้อบรมถึงการแจกชุดตรวจ ATK การบันทึกผล และการติดตามผล ขณะที่ อสม. จะมีรายชื่อลูกบ้านที่ดูแล และเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง
“อสม.จะช่วยสอนให้ประชาชนรับชุดตรวจผ่านแอปฯ เป๋าตัง หรือกรณีที่ประชาชนไม่มีแอปฯ เราก็จะทำให้และบันทึกข้อมูลเองทั้งหมด ซึ่งระบบนี้สะดวกมาก และใช้ไม่ยาก จึงมองว่าจะช่วยทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงการตรวจคัดกรองโควิดได้ครอบคลุม” นางดวงตา กล่าว
ตรวจทันทีที่ได้รับชุดตรวจ
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ส่วนที่อยากเน้นย้ำคือเมื่อประชาชนทราบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง และมารับชุดตรวจไปแล้ว ขอให้ทำการตรวจทันที และขอความร่วมมือในการลงข้อมูลผลตรวจเข้าสู่ระบบ เพื่อให้หน่วยงานสามารถนำไปใช้ในการประเมินและติดตามสถานการณ์ได้ นอกจากนี้ภายหลังการใช้ชุดตรวจเสร็จแล้วทุกครั้ง ขอให้ประชาชนทิ้งใส่ถุง ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อและปิดถุงให้มิดชิด พร้อมเขียนกำกับให้ทราบว่าเป็นขยะติดเชื้อ เพื่อร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม และปกป้องพนักงานเก็บขยะต่อไป
อนึ่ง ข้อมูล ณ วันที่ 2 ต.ค. 2564 เวลา 13.05 น. ทั่วประเทศมีประชาชนเข้ามารับชุดตรวจ ATK ไปแล้วทั้งสิ้น 390,420 ชุด โดยเป็นการจ่าย ATK ให้กับประชาชนรวม 192,696 คน และได้มีการบันทึกผลการตรวจแล้ว 87,525 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของผู้ที่ได้รับ ATK โดยมีรายงานพบผลเป็นบวกจำนวน 828 ราย
สปสช.