5 สิงหาคม 2565 ที่โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ร.อ. นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และคณะ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลแม่สอด เยี่ยมเสริมพลัง อสม. และเปิดหอผู้ป่วยไอซียูเด็ก โดยมี นายแพทย์ธวัชชัย เศรษฐศุภพนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และคณะให้การต้อนรับ
ดร.สาธิต กล่าวว่า โรงพยาบาลแม่สอดได้ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยหนักทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากสถิติการคลอดในโรงพยาบาลเฉลี่ย 2,500 รายต่อปี และในเขตพื้นที่ชายแดนประมาณ 7,000 รายต่อปี พบว่าผู้ป่วยเด็กอาการหนักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้สถานที่แออัด ประกอบกับในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลแม่สอดต้องให้การดูแลผู้ป่วยเด็กจากทุกพื้นที่ที่สงสัยเป็นโควิด จึงขยายบริการโดยปรับปรุงหอผู้ป่วยนรีเวชกรรมและห้องพิเศษรวม ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติ เป็น “หอผู้ป่วยไอซียูเด็ก” ที่ได้มาตรฐาน รองรับการให้บริการรักษาผู้ป่วยเด็กอาการหนักเพื่อให้รอดพ้นจากภาวะคุกคามชีวิตและปลอดภัยจากภาวะแทรก โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล และทีมสหวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ ผ่านการอบรมและมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยเด็กวิกฤติโดยเฉพาะ เป็นการช่วยลดการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลนอกพื้นที่
“โรงพยาบาลแม่สอด เป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูง มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนางานการแพทย์ที่ไม่หยุดนิ่ง สามารถดูแลสุขภาพพี่น้องในพื้นที่อำเภอแม่สอดและพื้นที่ชายแดน 5 อำเภอฝั่งตะวันตกของจังหวัดตากได้อย่างมีคุณภาพ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงระบบการรักษาที่ได้มาตรฐานตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข” ดร.สาธิตกล่าว
สำหรับหอผู้ป่วยไอซียูเด็ก โรงพยาบาลแม่สอด เดิมเป็นอาคารชั้นเดียว ตั้งอยู่บริเวณอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉินในปัจจุบัน ให้บริการรวมกันทั้งผู้ป่วยหนักเด็กและผู้ใหญ่ ต่อมาปี 2540 แยกบริการเฉพาะผู้ป่วยหนักเด็กมาที่ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ปี 2543 ได้ขยายบริการและปรับปรุงหอผู้ป่วยหนักผู้ใหญ่เดิม ให้เป็นหอผู้ป่วยหนักเด็ก ในปี 2552 ได้ย้ายไปอยู่ที่ ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติ และในปี 2563 ได้ปรับปรุงขยายโครงสร้างอาคารเป็นหอผู้ป่วยไอซียูเด็กจาก 8 เตียง เป็น 16 เตียง ปัจจุบันให้การดูแลเด็กอายุระหว่าง 8 - 15 ปี ที่มีอาการหนัก อาทิ โรคระบบทางเดินหายใจ คลอดก่อนกำหนด ปอดอักเสบ และโรคตามฤดูกาล เช่น ไข้เลือดออก เป็นต้น