นักพัฒนาเมืองบอกว่าเมืองเปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิต ที่มีวัฏจักรเกิด แก่ เจ็บ ตายตามธรรมชาติของสัตว์โลก เราคงเคยเห็นเมืองเด็ก ๆ อย่างพวกเมืองใหม่ (New Town) รอบ ๆ นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เมืองแก่อย่างตลาดเก่าหลาย ๆ แห่งตามหัวเมืองที่เสื่อมถอยทรุดโทรมลงทุกวัน และเมืองที่ตายแล้วอย่าง Ghost Town ในอเมริกา แต่เมืองหลวงมีความสำคัญกับประเทศและโลก ปล่อยให้เป็นไปแก่ตายไปตามวัฏสงสารไม่ได้ ต้องปรับปรุง เยียวยา ผ่าตัดกันเต็มที่ ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็ต้องย้ายกันหละ
อย่างเมียนมาร์ก็เพิ่งจะย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปที่เนปิดอว์เมื่อปี 2548 มาเลเซียก็ย้ายศูนย์กลางการบริหารการปกครองภาครัฐจากกัวลาลัมเปอร์ไปที่เมืองใหม่ปุตราจายาเมื่อปี 2553 ประเทศไทยก็ผ่านการย้ายเมืองหลวงมาหลายครั้งหลายหน อยุธยาก็ย้ายมาจากที่อื่นแน่ๆ มีหลายสันนิษฐาน ว่ามาจากฝั่งตรงข้ามแม่น้ำที่เรียกว่าอโยธยา บ้างก็ว่ามาจากอู่ทอง ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ย้ายศูนย์กลางการปกครองไปอยู่ที่ลพบุรีตามที่เราเห็นท้องเรื่องของละครดัง ต่อมาก็ย้ายไปธนบุรีแล้วก็ข้ามฝั่งมากรุงเทพมหานครได้ 250 ปีเข้าไปแล้ว
จากเมืองเกิดใหม่เมื่อ พ.ศ.2325 เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เปิดรับเทคโนโลยีทันสมัยจากตะวันตกในรัชกาลที่ 4 จนรุ่งเรืองในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 จากนั้นก็เริ่มป่วย เจ็บออด ๆ แอด ๆ เรื่อยมา จนอาการหนักในช่วง 20 ปีให้หลังนี้ ปัญหาฝังรากมานานทั้งความแออัด รถติด น้ำท่วม มลภาวะ จะปรับปรุงแก้ไขอะไรก็ติดขัดไปหมด จึงมีแนวคิดจะสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ดีกว่า มีข้อเสนออยู่หลายที่ ไม่ว่าจะเป็นเพชรบูรณ์หรือท่าตะเกียบที่จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ก็ยังไม่ได้ย้าย เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนล้อมต้นไม้จากบ้านหลังหนึ่งไปปลูกที่บ้านหลังใหม่ คำถามหรือเราควรย้ายเมืองหลวงกันไหมนะ
บทบาทความเป็นเมืองหลวง
ทุกประเทศล้วนแต่มีเมืองหลวง แต่บทบาทหน้าที่ของเมืองหลวงของแต่ละประเทศแตกต่างกันไป เมืองหลวงบางแห่งทำหน้าที่ศูนย์กลางของทุกอย่าง ไม่เพียงแต่การบริหารราชการเท่านั้น ยังเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ สังคม ความเชื่อ โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ แบบโตเกียวและกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงในลักษณะนี้จะอยู่ในประเทศที่มีรัฐชาติที่เข้มแข็ง ทุกคนในชาติถือเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ไม่แยกว่าฉันเป็นคนเผ่านี้เผ่านั้นอย่างชัดเจน ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเหล่านี้เป็นระบบรวมตัวเดียว ไม่ได้แยกระบบออกเป็นแคว้นหรือมลรัฐอย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีการปกครองแบบรวมศูนย์ (Centralization) เมืองหลวงจึงต้องทำหน้าที่ศูนย์กลางของทุกอย่าง ทั้งด้านการเมือง การปกครอง โครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ เพราะแต่ละบทบาทหน้าทีมีความเชื่อมโยงกันในเชิงเศรษฐศาสตร์และสังคมวิทยา
อย่างไรก็ตาม เมืองหลวงของบางประเทศทำหน้าที่เพียงการบริหารจัดการภาครัฐและกิจกรรมเกี่ยวเนื่องเท่านั้น ส่วนการเป็นศูนย์กลางด้านอื่น ๆ ก็มีเมืองสำคัญอื่นรับบทบาทนั้นไปตามความเหมาะสม ตัวอย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองหลวงศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่ Washington D.C. ส่วนศูนย์กลางธุรกิจกระจายออกไปอยู่ที่ New York, Los Angeles, Chicago ประเทศอินเดีย เมืองหลวงคือ New Delhi ส่วนเมืองเศรษฐกิจหลักคือ Mumbai (Bombay เดิม)
ประเทศที่มีศูนย์กลางประเภทต่าง ๆ แยกไปอยู่ตามเมืองที่มีศักยภาพในด้านนั้น จะมีลักษณะเป็นชาติที่ประกอบด้วยคนหลายกลุ่มที่มีความแตกต่างกัน เช่น สหรัฐอเมริกาตั้งต้นจากคนยุโรปแต่ละประเทศมาเลือกที่ตั้งของตนเองทางฝั่งตะวันออก แบ่งเขตกันปกครองเป็น 13 รัฐ แล้วหาที่ตั้งเมืองหลวงที่อยู่ตรงกลางพอดี คือ Washington D.C. ให้เป็นเมืองด้านการบริหารการปกครองเพียงอย่างเดียว ส่วนรัฐต่าง ๆ ก็มีศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของตนเอง เช่น New York, Philadelphia และประเทศอินเดีย ประกอบไปด้วยชนเผ่าหลายเผ่า แบ่งประเทศเป็นแคว้นต่าง ๆ ที่มีระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของตนเอง มีระบบการบริหารจัดการแบบกระจายตัว (Decentralization) การรวมเป็นสหพันธรัฐจึงเลือกเมืองหลวงเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการบริหารการปกครองเท่านั้น
ย้ายเมืองหลวงเพื่ออะไร
การย้ายเมืองหลวงถูกตั้งความหวังไว้ว่าจะแก้ปัญหาที่หมักหมมในมหานครมาเป็นเวลานาน จากพื้นที่และอาคารแบบเดิมที่เคยเหมาะสมต่อการใช้งานเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว กลายเป็นรูปแบบที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการสมัยใหม่ ทั้งขนาดแปลงที่ดิน สถาปัตยกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และทำเลที่ตั้ง
เมืองหลวงแห่งใหม่จะได้รับการออกแบบและวางผังบนพื้นที่เปิดใหม่ ไม่ติดกับข้อจำกัดบนพื้นที่เดิม ไม่ต้องปรับปรุงฟื้นฟูซึ่งยากลำบากกว่า ใช้เวลามากกว่า ใช้งบประมาณสูงกว่า และนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งต่อมวลชนที่ยังได้ประโยชน์จากการใช้สอยแบบเดิม เมืองหลวงแห่งใหม่ย่อมทันสมัยและ สะดวกต่อการใช้งานตามความต้องการในปัจจุบันและในอนาคตมากกว่าเมืองหลวงเดิม
กล่าวกึงเมืองหลวงกรุงเทพ
สำหรับกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยมิได้หมายถึงศูนย์กลางการบริหารการปกครองเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในระดับศูนย์กลางของชาติหรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะต้องมีที่ตั้งที่สามารถติดต่อ เชื่อมโยง สื่อสารกับหน่วยงานอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และมีประสิทธิภาพ ซึ่งการรวมศูนย์กลางทุก ๆ ด้านเข้าด้วยกันสอดคล้องกับทฤษฎีที่ตั้งเรื่อง Agglomeration หรือการประหยัดจากการกระจุกตัว ที่กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันมาอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันแล้วเกิดความประหยัดในต้นทุนมากขึ้น การแยกส่วนใดส่วนหนึ่งออกไปจากการกระจุกตัวนี้ย่อมก่อให้เกิดต้นทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการแข่งขันลดลง กิจกรรมหลายประเภทอาจย้ายไปอยู่เมืองหลวงของประเทศที่เป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้
ประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะได้รับผลกระทบจากการย้ายเมืองหลวงก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา ทั้งในแง่ต้นทุนซึ่งต้องลงทุนอีกเป็นจำนวนมากทั้งเอกชนและภาครัฐ อีกทั้งวิถีชีวิตของคนไทยที่ผูกพันกับถิ่นฐานบ้านเรือนเป็นอย่างมาก การย้ายเมืองหลวงหมายรวมถึงการย้ายประชากรจากความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเดิม ไปสู่ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ เกิดเป็นชุมชนรูปแบบใหม่ที่ต้องปรับตัวเข้ากันใหม่ ผ่านกระบวนการขัดแย้งและประสานกันในช่วงเวลาหนึ่ง กว่าจะลงตัวก็ต้องมีการปรับแต่งกันเป็นเวลานาน
ผู้ที่จะประสบปัญหามากที่สุดคือผู้ใช้แรงงานในเมือง ซึ่งต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในเมืองใหม่ กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการชุมชนเพื่อความประหยัดในการดำรงชีวิตและอำนาจในการต่อรองกับภาครัฐ ซึ่งเมืองใหม่ส่วนใหญ่จะละเลยกับกลุ่มคนเหล่านี้เนื่องจากต้องลงทุนสูงและได้ผลตอบแทนต่ำ โครงสร้างพื้นฐานแบบใหม่ มีค่าเริ่มต้นใหม่จึงต้นคิดค่าใช้บริการสูงตามไปด้วย ประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายเจ๊งหลังจากย้ายเมืองหลวงใหม่มาแล้วหลายประเทศ เช่น บราซิล ไนจีเรีย ซึ่งประเทศไทยก็มีวิถีทางการเมืองไม่ต่างจากประเทศเหล่านั้นเท่าใดนัก จึงมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาลได้เช่นกัน
จะย้ายเมืองหลวงของไทยต้องพิจารณาอะไร
แนวคิดการย้ายเมืองหลวงของประเทศไทยคงต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจตนเองว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงประเภทที่เป็นทุกอย่าง มีลักษณะรวมศูนย์ทั้งการบริหารการปกครองราชการ เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์และสังคม การย้ายเมืองหลวงถ้าจะทำได้ก็คงย้ายบางกิจกรรมที่ไม่ต้องปะปนกับกิจกรรมอื่น ๆ ออกไปเท่านั้น โดยเล็งไว้ที่การย้ายศูนย์ราชการออกไปตั้งที่ใหม่ แต่การย้ายศูนย์ราชการจะมีเหตุมีผลอย่างเหมาะสมก็ต่อเมื่อรูปแบบการบริหารงานภาครัฐเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก ทำให้ที่ตั้งและอาคารราชการที่มีอยู่ในเมืองหลวงเดิมไม่สามารถตอบสนองความต้องการเชิงพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เช่น จากเดิมเคยกระจายตัวอยู่ตามที่ต่าง ๆ ต้องมารวมกันอยู่เพื่อความสะดวกในการติดต่อประสานงานระหว่างกัน พื้นที่เดิมไม่เหมาะสมกับการเป็นพื้นที่ของรัฐ ควรเอาไปทำอย่างอื่นที่มีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าและคุ้มค่ากับต้นทุนการย้ายหน่วยงานของรัฐไปอยู่ที่ใหม่ หรือต้องการโครงสร้างพื้นฐานแบบใหม่ที่ไม่สามารถแก้ไขของเดิมได้ ถ้าคิดตามเหตุผลที่กล่าวไว้ข้างบนนี้แล้ว ทุกท่านคงตอบตัวเองได้ว่า ประเทศไทยมีเงื่อนไขอย่างไร ราชการไทยเปลี่ยนไปถึงจุดที่ต้องการพื้นที่แบบใหม่แล้วหรือยัง และเมืองหลวงเดิมหรือเมืองหลวงใหม่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยมากที่สุด
*** บทความลง rabbit today เมื่อปี 2020 ***