นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ประชาชนควรรู้วิธีการดูแลส่งเสริมสุขภาพใจตัวเองในเบื้องต้น เพื่อขจัดความเครียดที่เข้ามากระทบชีวิตได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย
วิธีการคลายเครียดที่ประชาชนควรฝึกปฏิบัติให้เป็นทักษะประจำตัวไว้ก็คือ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ โดยใช้เทคนิคของการเกร็งและคลายกล้ามเนื้อแต่ละส่วนอย่างรู้ตัว ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้ารวม 10 กลุ่ม ซึ่งอยู่ภายใต้กลไกควบคุมสั่งการของสมอง อาศัยหลักการเมื่อกล้ามเนื้อผ่อนคลายจะมีผลให้จิตใจและอารมณ์ของเราผ่อนคลายไปด้วย เนื่องจากกายกับจิตเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้
วิธีการเครียดด้วยเทคนิคผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
วิธีการคลายเครียดที่ประชาชนควรฝึกปฏิบัติให้เป็นทักษะประจำตัวไว้ก็คือ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ โดยใช้เทคนิคของการเกร็งและคลายกล้ามเนื้อแต่ละส่วนอย่างรู้ตัว ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้ารวม 10 กลุ่ม ซึ่งอยู่ภายใต้กลไกควบคุมสั่งการของสมอง อาศัยหลักการเมื่อกล้ามเนื้อผ่อนคลายจะมีผลให้จิตใจและอารมณ์ของเราผ่อนคลายไปด้วย เนื่องจากกายกับจิตเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ วิธีการนี้มีขั้นตอนง่ายๆ สามารถทำได้ด้วยตนเอง ใช้ได้ทุกวัย ในการฝึกปฏิบัติให้ทำในสถานที่ที่มีความสงบ นั่งในท่าสบาย คลายเสื้อผ้าให้หลวม ถอดรองเท้า หลับตา ทำใจให้ว่าง ให้สมาธิจดจ่ออยู่ที่กล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกายที่จะฝึกเกร็งและคลายออก โดยใช้เวลาเกร็งนานประมาณ 3-5 วินาที และผ่อนคลายนาน 10-15 วินาที จึงเริ่มเกร็งซ้ำใหม่ ทั้งนี้เพื่อผลในระบบการไหลเวียนเลือดด้วย ตามขั้นตอนต่อไปนี้
- มือและแขน ทำทีละข้าง เริ่มจากข้างขวา ให้เหยียดแขนออก แล้วกำมือและเกร็งแขนนาน จากนั้นให้คลายออก และทำซ้ำ แล้วสลับมาที่มือและแขนข้างซ้ายด้วยวิธีเดียวกัน
- หน้าผาก โดยการเลิกคิ้วสูงแล้วคลาย และการขมวดคิ้วแล้วคลาย
- แก้ม ตา จมูก โดยการหลับตา แล้วย่นจมูก จากนั้นให้คลาย
- ขากรรไกร ลิ้น ริมฝีปาก โดยการกัดฟัน แล้วใช้ลิ้นดันที่เพดานปากแล้วคลาย และเม้มปากให้แน่น แล้วคลาย
- คอ โดยก้มหน้าให้คางจรดคอแล้วคลาย จากนั้นให้เงยหน้าจนสุดแล้วคลาย
- อก ไหล่ และหลัง ด้วยการสูดหายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้สักครู่แล้วค่อยๆ ผ่อนออก และยกไหล่ทั้ง 2 ข้างให้สูงแล้วคลาย
- หน้าท้องและก้น ด้วยการแขม่วท้องให้สุดแล้วคลาย จากนั้นให้ขมิบที่ก้นแล้วคลาย
- เท้าและขาข้างขวา โดยการเหยียดขาออก และงอนิ้วเท้าทั้งหมดแล้วคลาย จากนั้นให้กระดกปลายเท้าขึ้นและคลาย และเปลี่ยนมาทำที่เท้าและขาข้างซ้ายด้วยวิธีการเดียวกัน
นพ.กิตต์กวีกล่าวต่อว่า การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ควรฝึกทำจุดละ 8-12 ครั้ง เพื่อให้เกิดความชำนาญ ใช้เวลารวมประมาณ 20-30 นาที อาจฝึกในช่วงเช้าหรือก่อนนอนก็ได้ ควรฝึกให้สม่ำเสมอทุกวัน เมื่อเกิดความคุ้นเคยแล้วอาจทำเฉพาะส่วนที่ปวดเมื่อยก็ได้
ผลของการฝึกจะให้ผลดี 3 ด้าน คือทางกาย กล้ามเนื้อต่างๆ จะผ่อนคลาย ทำให้สบายตัว คลายปวดเมื่อย ผลทางจิตใจจะรู้สึกปลอดโปร่ง คลายความกังวล ลดความคิดฟุ้งซ่าน และยังทำให้มีสมาธิมากกว่าเดิม เนื่องจากขณะที่ฝึก จิตใจของเราจะจดจ่ออยู่กับการเกร็งและคลายกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสมองดีขึ้น
นพ.กิตต์กวีกล่าวด้วยว่า หากฝึกปฏิบัติคลายเครียดแล้วยังไม่ได้ผล จิตใจยังไม่สบายหรือใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้ เช่น นอนไม่หลับ กินไม่ได้ เป็นติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ขึ้นไป ขอให้ปรึกษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน