เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 – สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการโดย อนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ ได้จัด “การสรุปผลรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระดับประเทศ ประจำปี 2566” โดยมี นพ พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธาน พร้อมได้รับมอบผลสรุปความคิดเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ประจำปี 2566 ที่กลั่นกรองเป็นข้อเสนอ 34 ประเด็น ร่วมกับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากผู้แทนผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่าย นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ
นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทย ดำเนินการมากว่า 2 ทศวรรษแล้ว ดูแลสุขภาพคนไทยผู้มีสิทธิราว 48 ล้านคน ได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง นานาชาติให้การยอมรับและยกย่องให้ไทยเป็นต้นแบบของการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชน
ความสำเร็จที่เกิดขึ้น นอกจากนโยบายรัฐบาลที่ได้สนับสนุนแล้ว ยังเกิดจากการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งจากทุกภาคส่วน โดยมีกระบวนการรับฟังความเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่สร้างการมีส่วนร่วมนี้ ทำให้ระบบเกิดการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการจัดประชุมรับฟังความเห็นทั่วไป สปสช. ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องทุกปี และได้ปรับรูปแบบการรับฟังความเห็นให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ ทั้งการเปิดรับฟังผ่านระบบออนไลน์ การบูรณาการร่วมกับงานประจำ รวมไปถึงข้อมูลจากสื่อมวลชน การรุกรับฟังความเห็นองค์กรวิชาชีพ และท้องถิ่นจากการลงพื้นที่ เป็นต้น โดยความคิดเห็นที่นำเสนอเข้ามานี้ ได้ถูกรวบรวมจัดทำเป็นข้อเสนอและผลักดันเป็นสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการพัฒนาระบบ
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ กล่าวว่า ก่อนที่จะมาสู่การสรุปผลการรับฟังความเห็นในวันนี้ ที่ผ่านมา สปสช.เขต ทั้ง 13 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ ได้มีการจัดการรับฟังความเห็นผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งครอบคลุมประเด็นการรับฟัง 8 ด้านตามข้อบังคับ ทั้งฝ่ายผู้ให้บริการและรับบริการ ซึ่งมีผู้ร่วมนำเสนอกว่า 20,000 คน โดยคณะทำงานได้กลั่นกรองเป็น 34 ประเด็น พร้อมส่งมอบข้อเสนอเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
“วันนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะนำไปสู่การดำเนินการและสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ที่จำเป็นในระบบ เป็นประโยชน์ต่อผู้ให้บริการและผู้รับบริการ และจากความเห็นที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเสนอแนะเข้าอย่างมากมายในปีนี้ ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนร่วม และการเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร่วมกัน” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกๆ ความเห็นและทุกๆ ข้อเสนอที่ทุกท่านได้ส่งเข้ามา ถือเป็นข้อมูลสำคัญต่อบอร์ด สปสช. และสำนักงานฯ ที่จะใช้เป็นข้อมูลเพื่อบริหารจัดการและพัฒนาระบบต่อไป ซึ่งภายหลังรับมอบข้อเสนอในวันนี้แล้ว สปสช.จะได้นำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด สปสช. เพื่อดำเนินการ สำหรับในส่วนข้อเสนอปี 2566 ที่มาจากการบูรณาการงานประจำทั้ง 13 เขต และจากการลงพื้นที่ซึ่งได้พบผู้บริหารองค์กรท้องถิ่นนั้น สปสช. ได้ดำเนินการตอบสนองแล้ว โดยนำเข้าอนุกรรมการชุดต่างๆ เพื่อดำเนินการ รวมถึงประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ผลสรุปข้อเสนอ 34 ประเด็น อาทิ การคัดกรองและให้บริการกายภาพบำบัดในเด็กอายุ่ 10-15 ปี ที่มีภาวะกระดูกสันหลังคด, การรักษาไวรัสตับอักเสบซี ขยายการรักษาไม่จำกัดอายุเพื่อให้ประชาชนทุกวัย, เพิ่มสิทธิประโยชน์บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรสำหรับกลุ่มอายุ 20 ปีขึ้นไป โดยไม่จำกัดเงื่อนไข, เพิ่มสิทธิประโยชน์วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีสำหรับประชาชนทุกคน, สนับสนุนอาหารเหลวสำเร็จรูปสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นโดยใช้งบประมาณงบกองทุนท้องถิ่น, การรับผ้าอ้อมในกลุ่มผู้ป่วยในที่มีความจำเป็นในโรงพยาบาล และ ผู้ป่วยจิตเวชไปรักษาที่ไหนก็ได้ไม่ต้องมีใบส่งตัว เป็นต้น