เทรนด์ HealthTech ปี 2021 เมื่อ Virtual Healthcare คือ New normal
ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีที่มาแรงในปี 2020 HealthTech หรือเทคโนโลยีด้านการดูแลสุขภาพเป็นภาคส่วนที่ได้รับการจับตามอง เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 ที่ทำให้ทุกคนหันมาตระหนักกับความสำคัญเรื่องสุขภาพมากขึ้น จนบริการด้านสุขภาพได้รับผลดีไปตามๆ กัน
อย่างไรก็ตาม หากเราจับตาดูเทรนด์ของเทคโนโลยีด้านสุขภาพจากปี 2020 และในอนาคต จะเห็นว่าแม้มีแนวโน้มที่ดี แต่ก็มีหลายอย่างที่ต้องปรับตัวเพื่อให้บริการยังดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ เราจึงขอนำเสนอความเคลื่อนไหวและแนวโน้มของ HealthTech ในปัจจุบันให้ผู้อ่านได้รับทราบกัน
Telemedicine เทรนด์ใหญ่ HealthTech ที่โตเป็นประวัติการณ์จาก COVID-19
บริการด้านสุขภาพเป็นบริการพื้นฐานที่มีข้อกำหนดมาตรฐานและการกำกับดูแลที่เข้มงวด ผู้ให้บริการซึ่งเป็นฝ่ายที่ต้องปฏิบัติตามจึงมีทางเลือกในการสร้างสรรค์วิธีและรูปแบบการให้บริการที่ไม่หลากหลายนัก แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 พื้นที่โรงพยาบาลกลายเป็นพื้นที่จำเป็นสำหรับการควบคุมการแพร่ระบาด และการ Lockdown ได้เข้ามาเป็นปัจจัยเพิ่มข้อจำกัดการเข้าถึงบริการ อย่างไรก็ตาม ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ประกอบกับบริการด้านสุขภาพที่ยังจำเป็นในทุกสภาวการณ์ “Telemedicine” จึงเป็นนวัตกรรมแรกที่ได้รับการนึกถึงเพื่อตอบสนองความต้องการในสภาวะดังกล่าว
การสำรวจจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐฯ ระบุว่าการใช้งาน Telehealth ในช่วงเดือนมีนาคม พุ่งสูงขึ้นถึง 154 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน สาเหตุของการเติบโตนี้มาจาก 2 ปัจจัย คือมาตรการ Lockdown เพื่อลดการแพร่ระบาด และการผ่อนคลายมาตรการกำกับดูแลบริการ Telehealth เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ในเวลานี้
ไม่เพียงการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสหรัฐฯ แต่ตลาด Telemedicine อยู่ในทิศทางการเติบโตระดับสูง โดย Research and Market ได้เผยแพร่รายงานคาดการณ์ตลาด Telemedicine เมื่อเดือนพฤศจิกายน ระบุว่าตลาด Telemedicine ทั่วโลกจะโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 37.7 เปอร์เซ็นต์ นับจากปี 2020 ถึงปี 2025 โดยคาดการณ์ในปี 2025 ธุรกิจการดูแลสุขออนไลน์ทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 191,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ด้าน Research and Market ยังระบุว่า ภูมิภาคที่คาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตสูงที่สุดใน 5 ปีนับจากนี้คือ เอเชียแปซิฟิก เนื่องจากความต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการก้าวสู่สังคมสูงวัยในเอเชีย ซึ่งลักษณะดังกล่าวรวมถึงเทรนด์ที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน
เมื่อ “ประสบการณ์การดูแลสุขภาพ” กำหนดโดย “ผู้รับบริการ”
Telemedicine ถือเป็นของใหม่ที่ทั้งผู้ให้บริการ ผู้กำกับดูแล และผู้ใช้บริการต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ ทุกฝ่ายจึงต้องฟังเสียงของผู้รับบริการที่จะคอยสะท้อนถึงคุณภาพและประสิทธิภาพของบริการรูปแบบใหม่ จึงถือได้ว่าในยุคก้าวกระโดดของ Telemedicine ผู้รับบริการจะเป็นผู้กำหนด “ประสบการณ์การดูแลสุขภาพ” เด่นชัดที่สุดเมื่อเทียบกับยุคก่อน
ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันส่งผลกระทบต่อการเตรียมความพร้อมในการให้บริการอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น สถาบันการแพทย์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียรายงานตัวเลขผู้รอรับบริการในช่วงต้นของการแพร่ระบาดว่ามีจำนวนมากกว่า 3 เท่าของช่วงปกติ ด้านผู้ให้บริการรายหนึ่งในสหรัฐฯ ระบุว่าแม้บน Platform จะมีแพทย์ผู้ให้บริการกว่า 4,000 คน แต่ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและต้องเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการมากยิ่งขึ้น
ความไม่พร้อมที่เกิดขึ้นกระทบกับประสบการณ์ใช้งาน Telemedicine โดยภาพรวมอย่างแน่นอน ความท้าทายของ Telemedicine ในเวลานี้จึงเป็นเรื่องของการขยายศักยภาพบริการให้รองรับคนจำนวนมาก พร้อมกับการสร้างบริการให้ทุกฝ่ายได้รับประสบการณ์ใช้งานที่ดี ด้วยเหตุนี้ โจทย์ของ Telemedicine จึงไม่ได้อยู่ที่การเข้าถึงผู้ใช้จำนวนมากอีกแล้ว แต่อยู่ที่การรักษาบริการให้ยั่งยืนแม้จะผ่านพ้นช่วงการแพร่ระบาดไปแล้วก็ตาม
โจทย์ใหญ่คือการรักษา Telemedicine ให้ยั่งยืนในภาวะ Post-Pandemic
จากการเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันทำให้เห็นว่า Telemedicine ยังขาดปัจจัยอีกหลายอย่างเพื่อให้บริการเกิดความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่ยังไม่ได้รับการกำหนดให้เป็นมาตรฐานปกติ การพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ดีพอต่อการใช้บริการพร้อมกันจำนวนมาก
นายแพทย์ Lee Schwamm รองประธานด้านการดูแลสุขภาพบนดิจิทัล โรงพยาบาล Mass General Brigham ประเทศสหรัฐฯ กล่าวในการเสวนาด้าน Telemedicine ในงาน CES ปี 2021 ว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 กลายเป็นการถางทางให้กับบริการ Virtual Healthcare รูปแบบต่างๆ แต่ทั้งอุตสาหกรรมก็ต้องตระหนักว่า โครงสร้างเทคโนโลยีของเราไม่เพียงพอต่อการรับความต้องการมหาศาลที่เกิดขึ้นได้
นอกจากการเพิ่มโครงสร้างด้านเทคโนโลยีที่ต้องลงมือทำแล้ว ช่วงหลังการแพร่ระบาดยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงเทรนด์ของ Virtual Healthcare ที่สำคัญไม่น้อย โดยประเด็นพิจารณาที่ผู้ให้บริการควรตระหนักเพื่อปรับ Telemedicine จากบริการที่จำเป็นสู่บริการที่ยั่งยืน มีดังนี้
- สร้าง Platform ให้เป็น Digital ตั้งแต่แรก ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ผู้ให้บริการควรตระหนักถึงการสร้าง Platform ให้มีบริการทั้งหมดในรูปของ Digital ตลอดการใช้งานตั้งแต่การรับผู้ใช้บริการจนถึงขั้นตอนการชำระเงิน การออกแบบประสบการณ์ของลูกค้าให้ได้รับบริการครบตลอดเส้นทางเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างความประทับใจแก่ผู้รับบริการอันมีผลต่อรูปแบบบริการในระยะยาว
- สร้างความเชี่ยวชาญในการใช้ Platform ให้กับผู้ให้บริการ ไม่เพียงแค่มีระบบที่ดีเท่านั้น แต่ผู้ให้บริการควรเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรผู้ทำหน้าที่ เช่น แพทย์ พยาบาล และที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ให้มีทักษะการใช้เครื่องมือที่ดี จัดอุปกรณ์การสื่อสารที่เหมาะสม ไปจนถึงการสร้างทักษะด้าน Cybersecurity เบื้องต้นเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการรักษาข้อมูลผู้รับบริการ
- ออกแบบระบบ Automation ลดขั้นตอนบริการ เมื่อมีผู้รับบริการมากขึ้น แพทย์และบุคลากรอาจไม่เพียงพอจะให้บริการได้ทุกคน ซึ่งข้อได้เปรียบของการให้บริการบน Digital ทั้งหมดคือการผสานเทคโนโลยีที่หลากหลายเข้าไปได้ แน่นอนว่าในขั้นนี้ AI จะมีบทบาทสำคัญในงานเบื้องต้นได้ เช่น การใช้ AI Chat bot ตอบคำถามด้านบริการ หรือสอบถามอาการเบื้องต้น ซึ่งการใช้ AI ในลักษณะนี้เป็นการดึงงานบางขั้นตอนของแพทย์ออกไป ทำให้สามารถให้บริการได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ขยายบริการไปยังบริการเฉพาะทางและเพิ่มประสิทธิภาพกรณีฉุกเฉิน Telemedicine ในยุคหลัง COVID-19 ควรมุ่งเน้นการให้บริการมากกว่าโรคทั่วไป โดยต้องสามารถให้บริการเฉพาะทางเพื่ออำนวยความสะดวกด้วย เช่น การใช้ติดตามอาการโรคเรื้อรังจากที่พัก การสอดส่องอาการผ่านอุปกรณ์ติดตามที่จำเป็น รวมถึงต้องช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในเข้าถึงการรักษากรณีฉุกเฉิน อย่างการแจ้งเตือนอัตโนมัติพร้อมระบุตำแหน่งและอาการให้แพทย์เพื่อการรักษาที่รวดเร็วและเหมาะสม
จากสถานการณ์ HealthTech ทำให้เราเรียนรู้ว่า แม้ธุรกิจและอุตสาหกรรมจะอยู่ในทิศทางที่ดี แต่จำเป็นต้องปรับตัวอีกหลายอย่างเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้งนี้ SCB 10X ยังมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่อง HealthTech มานำเสนอทุกท่านให้ได้ทราบกันอีกอย่างแน่นอน อย่าพลาดติดตามกัน
SCB 10X