ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ผู้ที่หายจากการป่วยเป็น Covid-19 มีภูมิป้องกันจากการติดเชื้อซ้ำอีกนานแค่ไหน? - เยอรมันอินไซต์

ผู้ที่หายจากการป่วยเป็น Covid-19 มีภูมิป้องกันจากการติดเชื้อซ้ำอีกนานแค่ไหน? - เยอรมันอินไซต์ Thumb HealthServ.net
ผู้ที่หายจากการป่วยเป็น Covid-19 มีภูมิป้องกันจากการติดเชื้อซ้ำอีกนานแค่ไหน? - เยอรมันอินไซต์ ThumbMobile HealthServ.net

ปัจจุบันหลายๆ แห่งในเยอรมนีหันมาใช้กฎ 2G ซึ่งก็คือ ให้บริการ หรือให้เข้าสถานที่เฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว (Geimpft) หรือเป็นผู้ที่หายจากการเคยติดเชื้อไวรัส Sars-CoV-2 (Genesen) ซึ่งสถานะผู้ปลอดเชื้ออย่างเป็นทางการนี้จะมีผลเป็นระยะเวลา 6 เดือน

ผู้ที่หายจากการป่วยเป็น Covid-19 มีภูมิป้องกันจากการติดเชื้อซ้ำอีกนานแค่ไหน? - เยอรมันอินไซต์ HealthServ
ผู้ที่หายจากการป่วยเป็น Covid-19 มีภูมิป้องกันจากการติดเชื้อซ้ำอีกนานแค่ไหน? 
​อย่างที่เคยเขียนถึงหลายครั้งว่า ปัจจุบันหลายๆ แห่งในเยอรมนีหันมาใช้กฎ 2G ซึ่งก็คือ ให้บริการ หรือให้เข้าสถานที่เฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว (Geimpft) หรือเป็นผู้ที่หายจากการเคยติดเชื้อไวรัส Sars-CoV-2 (Genesen) ซึ่งสถานะผู้ปลอดเชื้ออย่างเป็นทางการนี้จะมีผลเป็นระยะเวลา 6 เดือน

 อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์กำลังถกเถียงกันว่า ข้อจำกัดระยะเวลา 6 เดือนนี้ยังคงจำเป็นและสมเหตุสมผลหรือไม่ Sebastian Ulbert หัวหน้าแผนกวัคซีนและโมเดลการติดเชื้อที่สถาบัน Fraunhofer เพื่อการบำบัดด้วยเซลล์และภูมิคุ้มกันในเมือง Leipzig (ไลพ์ซิก) มีความเห็นในเรื่องนี้ว่า กฎหกเดือนที่ใช้อยู่ตอนนี้ไม่ตรงกับพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในขณะนี้แล้ว ​
Thomas Mertens ประธานคณะกรรมการฉีดวัคซีนของเยอรมัน (Stiko) อธิบายว่า แต่เดิมนั้นข้อกำหนด 6 เดือนของผู้ปลอดเชื้อนี้มีขึ้นเนื่องจากข้อมูลในระยะแรกแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ปลอดเชื้อแล้วได้รับการปกป้องจากการติดเชื้อ coronavirus ได้อีกประมาณ 8 เดือน การจำกัดระยะเวลา 6 เดือน(ส่วนต่าง 2 เดือนแทนที่จะเป็น 8 เดือนเต็มๆ) นี้เรียกได้ว่า เป็นระยะเวลาปลอดภัยที่เชื่อถือได้​
 
 อย่างไรก็ตาม สำหรับ Ulbert (อูลแบร์ต) เวลาหกเดือนนั้นสั้นเกินไป ในหลายกรณี ผู้ที่หายดีแล้วยังคงได้รับการปกป้องอย่างดีเนื่องจากการเคยติดเชื้อเป็นระยะเวลาถึงหนึ่งปี แม้กระทั่งกับตัวกลายพันธุ์ต่างๆ เช่น เดลต้า เสียด้วย ในช่วงแรกนั้น ผู้เชี่ยวชาญยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสชนิดใหม่นี้ จึงทำได้การสันนิษฐานเบื้องต้นว่า การเคยติดเชื้อจะไม่ให้ภูมิป้องกันในระยะยาวที่มีประสิทธิภาพ ​ อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐานนี้ก็เรียกได้ว่า ไม่ตรงกับข้อมูลที่มีเพิ่มขึ้นในปัจจุบันแล้ว สำหรับ Ulbert สิ่งนี้ชี้ชัดว่า ​ "ในเมื่อถ้าผู้ที่หายดีแล้วก็มีภูมิปกป้องเป็นอย่างดี (อย่างน้อยก็เท่ากับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ) พวกเขาก็ไม่ควรจะถูกปฏิบัติด้วยหลังจาก 6 เดือนราวกับว่า พวกเขาไม่เคยมีการติดต่อกับไวรัสตัวนี้มาก่อน" ​ ในกรณีของผู้ที่ได้วัคซีนครบนั้นจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถรู้อย่างแน่ชัดว่า ภูมิคุ้มกันจะมีนานแค่ไหน เนื่องจากการศึกษายังดำเนินได้ไม่นานเพียงพอ อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว ในกรณีที่ดีที่สุดวัคซีนจำนวนมากสามารถสร้าง "ภูมิคุ้มกันได้พอๆกับผู้ที่ผ่านการติดเชื้อแล้ว" ​
Carsten Watzl เลขาธิการสมาคมภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งเยอรมนี (DGfI) กล่าวว่า ภูมิของผู้ที่ปลอดเชื้อแล้วไม่ได้ลดลงมากเมื่อเวลาผ่านไป หากเทียบกับภูมิของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน ​ Watzl จึงมองในเรื่องสถานะของผู้ป่วยประมาณ 4 ล้านคนที่ปลอดเชื้อแล้วในเยอรมนีว่า "6 เดือนที่กำหนดกันไว้นั้นเป็นเพียงแค่การประมาณการ ซึ่งจากข้อมูลในวันนี้เราสามารถขยายระยะเวลาตรงนี้ได้แล้ว"​
ใบรับรองการฉีดวัคซีนดิจิทัลของผู้ที่ฉีดวัคซีนครบสมบูรณ์แล้วนั้นมีอายุการใช้งานอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 12 เดือนในเยอรมนี นั่นก็เท่ากับว่ายาวเป็น 2 เท่าของสถานะผู้ปลอดเชื้อ หลังจากนั้นใบรับรองนี้ก็จะต้องได้รับการต่ออายุ ​ ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า ​ จะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นหรือไม่ และจะต้องมีการเพิ่มเติมข้อมูลด้านการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมในใบรับรองการฉีดวัคซีนหรือไม่ ​ ผู้ที่ปลอดเชื้อในปัจจุบันจะต้องได้รับการฉีดวัคซีน 1 ครั้งหลังจาก 6 เดือนจึงจะถือเป็นผู้ได้รับวัคซีนครบ และได้รับการรับรองสถานะอีกครั้ง​
ตามข้อมูลของ Watzl การเคยผ่านการติดเชื้อสามารถช่วยป้องกันการป่วยโรคซ้ำโดยมีประสิทธิภาพอยู่ที่ประมาณ 80% ซึ่งนั่นก็แปลว่า การป้องกันโดยเฉลี่ยนี้มีประสิทธิภาพคล้ายกับการฉีดวัคซีน แต่อาจมีความแปรปรวนค่อนข้างมาก ​ กล่าวคือ บางคนที่ผ่านโรคนี้มาแล้วแสดงระดับแอนติบอดีสูงพอกับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ แต่ก็มีกรณีตรงข้ามเกิดขึ้นด้วย ซึ่งก็คือ ผู้ที่หายดีแล้วมีแอนติบอดีที่ถูกตรวจพบเพียงเล็กน้อยหรือเผลอๆก็ไม่มีเลยด้วยซ้ำ ​ อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลของ Watzl ​ คนกลุ่มหลังนี้ก็ยังมีภูมิป้องกันจากการติดเชื้อโคโรนาที่มีอาการรุนแรงโดยทีเซลล์ที่เป็นเซลล์หน่วยความจำ​
ด้วยเหตุผลด้านการป้องกันที่ไม่แน่นอนนี้ ​ จากมุมมองด้านภูมิคุ้มกัน Watzl แนะนำว่า จะเป็นการดีที่สุดสำหรับผู้ที่ปลอดเชื้อแล้วหากเขาได้รับการฉีดวัคซีนซ้ำอีกครั้งหลังจากช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทางฝั่งของคณะกรรมการฉีดวัคซีนของเยอรมัน STIKO เองนั้นก็กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะขยายเวลา 6 เดือนนี้ออกไป ​ เนื่องจากการผ่านการติดเชื้อส่งผลเหมือนกับการได้รับวัคซีนโดสแรก ทำให้ผู้ที่เคยติดเชื้อจำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนในภายหลังเพียงโดสเดียวก็เพียงพอ ​ Watzl กล่าวว่า "หลังจากนั้น ผู้ที่ปลอดเชื้อก็จะมีภูมิคุ้มกันที่ดีมาก" ​ เช่นเดียวกับ Ulbert ที่กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า "ผมไม่ได้ต่อต้านการฉีดวัคซีนในภายหลังให้ผู้ที่ปลอดเชื้อ แต่ระยะเวลาห่างนี้จะต้องถูกพิจารณาใหม่"​
จนถึงตอนนี้ยังไม่มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี สำหรับเด็กกลุ่มนี้ที่เป็นผู้ที่หายดีแล้ว ความเท่าเทียมกับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสมบูรณ์ก็จะสิ้นสุดลงหลัง 6 เดือนเช่นกัน ​ Watzl จึงมองว่า “จะเป็นการดีกว่า หากเราสามารถวัดภูมิคุ้มกันได้" ​ แต่ตอนนี้วิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อมูลตรงนี้ที่แน่ชัด​
สถาบัน Robert Koch Institute (RKI) ของเยอรมันกำหนดระยะเวลาที่สามารถตรวจพบแอนติบอดีและเซลล์หน่วยความจำของระบบภูมิคุ้มกันในบุคคลที่ปลอดเชื้อไว้ที่ “อย่างน้อย 6-8 เดือนหลังจากเริ่มมีอาการ" นอกจากนี้ RKI ก็ยังอ้างอิงถึงคำแนะนำของ STIKO ในด้านนี้ ซึ่งข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันพิสูจน์ให้เห็นถึงผลการป้องกันเป็นเวลาอย่างน้อย 6-10 เดือนหลังจากได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ Sars-CoV-2​
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อเดือนมิถุนายน 2021 ได้ข้อสรุปว่า ​ ผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนในภายหลังมีการตอบสนองของแอนติบอดีที่คงที่ต่อ coronavirus หลังจากระยะเวลาผ่านไปถึง 12 เดือน จากการวิเคราะห์นี้ ผู้ที่ปลอดเชื้อและได้รับการฉีดวัคซีนในภายหลังก็จะได้มีภูมิคุ้มกันพิเศษเช่นกัน ​ โดยแอนติบอดีและเซลล์หน่วยความจำของพวกเขาสามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ ที่กำลังระบาดอยู่ได้ในระดับสูงเสียด้วย แม้ว่าจะมีการปรับสูตรวัคซีนก็ตาม​
 
และสุดท้ายอยากจะลงข้อมูลไว้ให้สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วในเยอรมนีและต้องการจะทราบว่า ปัจจุบันคำแนะนำที่มีผลบังคับใช้เป็นทางการของ STIKO เรื่องการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อ SARS-CoV-2 แล้วนั้นมีอะไรบ้าง ดังนี้:​
1. สำหรับผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ SARS-CoV-2 แบบมีอาการ STIKO แนะนำให้ฉีดวัคซีนเพียงแค่ "1 โดส" โดยต้องเว้นระยะเวลาห่าง 6 เดือนหลังการติดเชื้อ และเนื่องจากสถานการณ์ด้านวัคซีนที่ไม่มีปัญหาอะไรในเยอรมนีแล้ว และความไม่เป็นอันตรายของการได้รับวัคซีนหลังการติดเชื้อ SARS-CoV-2 จึงสามารถลดระยะเวลาห่างในการได้รับวัคซีนลงมาเหลือเพียงแค่ 4 สัปดาห์หลังจากสิ้นสุดอาการของ COVID-19 ​
2.  สำหรับผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ SARS-Cov-2 ที่ไม่มีอาการ ให้ฉีดวัคซีนโดสเดียวได้ตั้งแต่ 4 สัปดาห์หลังได้รับการยืนยันผลการติดเชื้อจากแลป ​
3.  ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ไปแล้วโดสนึงแต่ติดเชื้อระหว่างรอวัคซีนโดสที่ 2 นั้น ​ ควรได้รับการฉีดวัคซีนครั้งที่สอง 6 เดือนหลังจากสิ้นสุดอาการ COVID-19 หรือหลังจากได้รับการยืนยันผลจากการวินิจฉัย โดยสามารถให้วัคซีนโดสที่ 2 นี้ได้ตั้งแต่ 4 สัปดาห์หลังจากอาการสิ้นสุดลงเช่นกัน​
สรุปให้ง่ายๆว่า สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วไม่อยากจะให้ตัวเองต้องมีระยะเวลารอ 14 วันหลังสถานะปลอดเชื้อหมดไปนั้น แนะนำให้รอให้ถึงเดือนที่ 6 ครับ (ในกรณีปัจจุบันที่ทาง STIKO เค้ายังไม่ได้เปลี่ยนคำแนะนำน่ะนะ) คือ รอให้ถึงเดือนสุดท้ายที่กำลังจะสิ้นสุดสถานะของการเป็นผู้ปลอดเชื้อ แล้วค่อยไปฉีดวัคซีนโดสนึง + 14 วัน ​ มันก็จะเหลื่อมกับเดือนสุดท้ายในสถานะนี้พอดี และพอ 6 เดือนนี้ผ่านไป ก็กลายเป็นผู้มีสถานะฉีดวัคซีนครบทันที โดยไม่มีระยะเวลาที่จะต้องรอแล้วทำอะไร หรือไปไหนไม่ได้ครับ - Problem gelöst!  ​
อ้างอิง​
https://cutt.ly/cRidrxu
https://cutt.ly/JRiScHm
https://cutt.ly/3RiSbsl
18/10/2021 08:38 (CET) -   อินทรีล่าสาร
​​
​​​
#GermanyInsights #เยอรมันอินไซต์ #เยอรมัน #เยอรมนี #Germany #Deutschland #Genesen #ผ่านการติดเชื้อ #ผู้ปลอดเชื้อ #ภูมิหลังติดเชื้อ 
━━━━━━​
© 2020-2021 เยอรมันอินไซต์ - Germany Insights. All rights reserved

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด