ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

10 จังหวัดฉีดวัคซีนน้อยสุด วิเคราะห์การฉีดวัคซีนในคนไทย

10 จังหวัดฉีดวัคซีนน้อยสุด วิเคราะห์การฉีดวัคซีนในคนไทย Thumb HealthServ.net
10 จังหวัดฉีดวัคซีนน้อยสุด วิเคราะห์การฉีดวัคซีนในคนไทย ThumbMobile HealthServ.net

จังหวัดที่มีความครอบคลุมการฉีดวัคซีนน้อยที่สุด 10 จังหวัด หมายถึงการเทียบจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนเทียบกับประชากรทั้งหมดของจังหวัด

10 จังหวัดฉีดวัคซีนน้อยสุด วิเคราะห์การฉีดวัคซีนในคนไทย HealthServ
 
กระทรวงสาธารณสุขรายงานสรุปผลการให้บริการฉีดวัคซีนในประเทศไทย ถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 มีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนรวม 85,012,905 โดส 
จำแนกเป็น 
ชนิดเข็ม 1 สะสม 45,374,194 ราย (63% ของประชากร)
ชนิดเข็ม 2 สะสม 36,855,732 ราย (51% ของประชากร)
และชนิดเข็ม 3 สะสม 2,782,979 ราย (3.9% ของประชากร)
 

กระทรวงสาธารณสุขแบ่งกลุ่มเป้าหมายการรับวัคซีน ออกเป็น 8 กลุ่มหลักๆ ได้แก่
*ข้อมูลรายละเอียด ดูในตารางประกอบ
1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
2.เจ้าหน้าที่ด่านหน้า
3.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
4.ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค
5.ประชาชนทั่วไป
6.ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
7.หญิงตั้งครรภ์
8.นักเรียน/นักศึกษา อายุ 12-17 ปี 
 
 
 
10 จังหวัดฉีดวัคซีนน้อยสุด วิเคราะห์การฉีดวัคซีนในคนไทย HealthServ
จากข้อมูลการฉีดวัคซีนในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย มีประเด็นน่าสนใจ ดังนี้

1.กลุ่มบุคลากรแพทย์มีจำนวนการรับวัคซีนสูงสุด (เกินเป้าหมาย)

2.บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ/ดูแลประชาชนด้านสาธารณสุข ต่างเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนในอัตราที่สูงเช่นกัน ที่ระดับ 60% กลุ่มด่านหน้า และ 70% กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข นับเป็นสิ่งที่เหมาะสม เมื่อเทียบกับความเสี่ยงในหน้าที่การปฏิบัติงาน

3.กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนใกล้ 70% ในเข็มแรก และใกล้เคียง 60% ในเข็มที่สองแล้ว และเป็นอัตราที่สูงกว่ากลุ่มประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย นับเป็นความสำเร็จจากแผนการฉีดที่สาธารณสุขกำหนดไว้แต่แรก และสอดคล้องกับนานาประเทศที่มุ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มประชากรเปราะบางกลุ่มนี้ก่อน

4.กลุ่มประชาชนทั่วไป มีเพียง 60% ในเข็มแรก และเหลือไม่ถึง 50% ที่ได้รับเข็มที่สอง นับว่าน้อยมาก จากความจริงที่ว่าประชากรกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของสังคม และมีบทบาทมากที่สุดในทุกระดับของสังคม จึงนับเป็นประเด็นที่น่ากังวลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับผลที่จะเกิดขึ้นหลังการเดินหน้านโยบายเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการ ตั้งแต่เริ่มเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา 

มีหลายประเด็นอาจเป็นเหตุของผลดังกล่าว อาทิ ปริมาณวัคซีนที่มีไม่เพียงพอในระยะแรกและตลอดระยะเวลาของการระบาดที่มีก่อนหน้านี้ การมีวัคซีนจำกัดทำให้ต้องจัดสรรความสำคัญไปยังกลุ่มเปราะบางก่อน (3.) ทำให้โอกาสได้รับวัคซีนในกลุ่มประชาชนทั่วไปต้องทอดเวลาออกไปอีก ความล่าช้าของวัคซีนที่ส่งมอบ เหล่านี้ที่เป็นปัจจัยจากส่วนกลาง ขณะที่ปัจจัยส่วนบุคคลก็น่าจะส่งผลอย่างมากและเป็นวงกว้าง อาทิ การขาดข้อมูลที่มากพอ ข้อมูลที่อาจสร้างความสับสน ข้อมูลที่มีอยู่น้อย ข้อมูลที่ไม่ชัดเจน/เข้าใจยาก ข้อมูลจากแหล่งต่างๆมากมาย  รวมถึงกระบวนการ/ขั้นตอนต่างๆ ที่มีมากเกินจำเป็น (การจอง การลงทะเบียน) ไม่ชัดเจน ซับซ้อน ไม่คุ้นเคย เหล่านี้ย่อมส่งผลให้การตัดสินใจชะลอ เลิกสนใจ ตัดใจ จากความพยายามให้ได้รับวัคซีนแต่เดิมได้   ส่วนปัจจัยระดับสังคม เช่น ข่าวสารในสื่อ สังคมออนไลน์ สื่อเฉพาะกลุ่ม ทั้งที่ถูก ผิด บิดเบือนสับสน สิ่งเหล่านี้ก็มีอิทธิพลไม่น้อยเช่นกัน

5.กลุ่มนักเรียนนักศึกษาอายุ 12-17 ปี มีอัตราการรับวัคซีนที่ระดับ 65%ในเข็มแรก และ 43% สำหรับเข็มที่สอง นับว่าเป็นความสำเร็จอย่างมาก หากวัดจากจำนวนกลุ่มที่เล็กกว่า การได้รับการฉีดช้ากว่า และเป็นการฉีดให้ในช่วงเวลาที่สั้นกว่ากลุ่มอื่นๆ คือเพียง 1-2 เดือนที่ผ่านมาเท่านั้น  เหตุผลความสำเร็จอาจมาจากปัจจัยบวกหลายๆ ประการ อาทิ ความพร้อมความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย จำนวนวัคซีนที่มีมากเพียงพอรองรับความต้องการ การกระจายการฉีดที่ทั่วถึง ทีมงานมีความพร้อมมีประสบการณ์  รวมถึงทัศนคติด้านบวกต่อการฉีดในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยเดียวกัน มีการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากในทิศทางที่ส่งเสริมมากกว่าจะตั้งคำถามหรือต่อต้าน

6.กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ เป็นกลุ่มที่มีความน่าห่วงมากที่สุดและเสี่ยงลำดับต้นๆ ด้วยอัตราการฉีดไม่ถึง 20% ในเข็มแรก และเพียง 13% ในการรับเข็มที่สอง รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งหาคำตอบและแนวทางที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มนี้โดยด่วน
 
 
ตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน 64 เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขได้ กำหนดให้ มีการเริ่มการฉีดวัคซีนสูตรใหม่ได้ คือ สูตร วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า เป็นเข็มที่ 1 และวัคซีนไฟเซอร์ เป็นเข็มที่ 2  และได้เริ่มฉีดในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์จังหวัดต่างๆ แล้ว (ติดตามข้อมูลประกาศฉีดของรพ.ต่างๆได้ที่นี่

การริเริ่มฉีดด้วยสูตรใหม่นี้ จุดความหวังว่าจะทำให้ได้รับความสนใจและเชื่อมั่นจากประชาชนมากขึ้นในห้วงเวลาต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีด เนื่องจากไม่มั่นใจในวัคซีนที่มีก่อนหน้านี้
 
 
พร้อมกันกับที่ วัคซีนโมเดอร์นาล็อตแรก ที่ได้นำส่งถึงประเทศไทยตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน และได้กระจายสู่หน่วยฉีดต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว ส่วนหนึ่งได้ ส่งถึง รพ.เอกชน เพื่อเริ่มจัดฉีดให้กลับประชาชนที่จองไว้ล่วงหน้า  และอีกส่วนได้จัดสรรให้กับอบจ. 38 แห่งที่ได้รับการจัดสรร (ผ่านโควต้าสภากาชาดไทย) ถึงวันนี้ หลายแห่งได้เริ่มต้นฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด 5 กลุ่มแล้วเช่นกัน อาทิ อบจ.ลำพูน เริ่มฉีดตั้งแต่ 11 พ.ย., อบจ.ปทุมธานี เริ่มฉีด 14 พ.ย., อบจ.อ่างทอง และอบจ.ชุมพร เริ่มฉีด 15 พ.ย. และอีกหลายแห่งที่จะทยอยเริ่มบริการฉีดต่อเนื่องไปจนกว่าจะครบโควต้าที่ได้รับจัดสรรมาอย่างจำกัดในรอบแรกนี้ 
 
 

จังหวัดฉีดวัคซีนน้อยที่สุด

จังหวัดที่มีความครอบคลุมการฉีดวัคซีนน้อยที่สุด 10 จังหวัด
หมายถึงการเทียบจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนเทียบกับประชากรทั้งหมดของจังหวัด  

ทั้ง 10 จังหวัด ตามลำดับ ได้แก่ นครพนม หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร กาฬสินธุ์ แม่ฮ่องสอน สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอ่างทอง  ทุกจังหวัดมีอัตราการฉีดเข็มแรกต่ำกว่า 50% และเข็มที่สองต่ำกว่า 40% 

จังหวัดเหล่านี้มีประชากรปานกลางค่อนไปทางเบาบาง มีเพียง 3 จังหวัดเท่านั้นที่มีประชากรเกิน 1 ล้านคน 
 
แต่ในแง่มุมหนึ่ง เมื่อพิจารณากลุ่มประชากรที่เป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง เป็นเป้าหมายแรกที่ทางการได้ทำการรณรงค์ให้ได้รับวัคซีนก่อนกลุ่มอื่นๆ พิจารณาจากทั้ง 10 จังหวัด นั้น ล้วนมีอัตราการฉีดในระดับที่สูงมากทั้งสิ้น มีเพียงจังหวัดเดียวที่มีอัตราการฉีดต่ำกว่า 50% คือแม่ฮ่องสอน รองลงไปคือ อ่างทอง 51% และ ยโสธร 59.1% กาฬสินธุ์ 59.5% นอกนั้นต่างสูงกว่า 60% ทั้งสิ้น สูงที่สุดคือ สกลนครที่ 94.9% สำหรับเข็ม 1 และ 85.5% สำหรับเข็ม 2  รองลงมาคือ นครพนม เข็ม1 75% เข็ม2 62% และหนองบัวลำภู  เข็ม1 70% และเข็ม2 63%
 
10 จังหวัดฉีดวัคซีนน้อยสุด วิเคราะห์การฉีดวัคซีนในคนไทย HealthServ

แนวทางการเร่งรัด

รายงานประจำวัน 15 พ.ย.64 ของศบค.ได้เปิดเผยถึงข้อมูลแนวทางการเร่งรัดการฉีดวัคซีน ให้กับประชาชน จากหน่วยงานต่างๆ มีข้อเสนอแนะดังนี้
 
1. กระทรวงสาธารณสุข
จัดกิจกรรมสัปดาห์แห่งการฉีดวัคซีน 27 พ.ย. - 5 ธ.ค. 64
จัดทีมฉีดวัคซีนเชิงรุก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และขยายให้กลุ่มแรงงานต่างด้าว
 
2. กระทรวงมหาดไทย
ค้นหากลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเชิงรุกและนำมาฉีดวัคซีน
 
3. กระทรวงการอุดมศึกษาฯ มหาวิทยาลัย โรงเรียนแพทย์
สื่อสาร ทำความเข้าใจ ข้อมูลด้านวัคซีนให้ประชาชนรับทราบ
 
4. ภาคเอกชน
จัดส่วนลดค่าโดยสารรถสาธารณะ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า
 
5. ศบค.
ออกประกาศการไปสถานที่สาธารณะ ต้อง แสดงผลการฉีดวัคซีน
สั่งการ ผวจ.บริหารจัดการกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเชิงรุกให้มาฉีดวัคซีน
จูงใจให้ประชาชนฉีดวัคซีน ระดับพื้นที่: สิ่งของ รางวัล ฯลฯ ระดับประเทศ: ของรางวัล คนละครึ่ง ส่วนลดพิเศษ ฯลฯ 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด