ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ครม.อนุมัติวีซ่ารักษาพยาบาล (Medical Treatment) ระยะ 1 ปี

ครม.อนุมัติวีซ่ารักษาพยาบาล (Medical Treatment) ระยะ 1 ปี Thumb HealthServ.net
ครม.อนุมัติวีซ่ารักษาพยาบาล (Medical Treatment) ระยะ 1 ปี ThumbMobile HealthServ.net

ที่ประชุม ครม. 30 พ.ย. อนุมัติหลักการการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล หรือ Medical Treatment Visaระยะเวลา 1 ปี (เข้าออกได้หลายครั้ง ครั้งละ 90 วัน) เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพและมีกำลังใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเข้าสู่ประเทศไทย ตามนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและยุทธศาสตร์การพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) พ.ศ. 2560-2569

ครม.อนุมัติวีซ่ารักษาพยาบาล (Medical Treatment) ระยะ 1 ปี HealthServ
 
ผู้ถือวีซ่ารักษาพยาบาล จะมีผู้ติดตามได้สูงสุด 3 ราย โดยต้องแสดงหลักฐานทางการเงินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 800,000 บาท/ราย มีการนัดหมายกับสถานพยาบาลล่วงหน้า 30 วัน และมีหลักฐานประกันภัยกรณีอุบัติเหตุและการช่วยเหลือฉุกเฉินรวมความคุ้มครองโรคโควิด-19 ในประเทศไทย วงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ 
 

กลุ่มโรคที่สามารถขอ Medical Treatment Visa ได้  ได้แก่ กลุ่มโรค/หัตถการที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ที่มีระยะเวลาการรักษาต่อเนื่องที่ต้องใช้เวลามากกว่า 90 วัน อาทิ
  • เวชศาสตร์ชะลอวัยและการฟื้นฟูสุขภาพ
  • โรคระบบหัวใจหลอดเลือด
  • โรคมะเร็ง
  • ทันตกรรม
  • ศัลยกรรมเสริมความงาม
  • จักษุการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เป็นต้น 

ทั้งนี้ สถานพยาบาลต้องมีแผนการรักษา (Doctor Plan) และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

 

 

 

เกี่ยวกับ "วีซ่ารักษาพยาบาล"  Medical Treatment Visa

กระทรวงสาธารณสุข เสนอต่อคณะรัฐมนตรี  ว่า
 
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาลเป็นการเฉพาะ 

ระบบการตรวจลงตราและยกเว้นการตรวจลงตรา เพื่อการรักษาพยาบาลของประเทศไทยในปัจจุบัน จำแนกได้ 3 ประเภท ดังนี้
 
A. การตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยว (Tourist Visa) รหัส MT
ชนิด Single Entry (ใช้เดินทางเข้าออกครั้งเดียว)
ระยะเวลาพำนัก ในประเทศไทย 60 วัน
 
B. การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant Visa) รหัส O
ชนิด Single Entry (ใช้เดินทางเข้าออกครั้งเดียว) 
ระยะเวลาพำนัก ในประเทศไทย 90 วัน
 
C. การยกเว้นการตรวจลงตรา  รหัส MT
(เฉพาะ 11 ประเทศ ได้แก่ กลุ่มประเทศ GCC[1] /CLMV [2] /จีน)
ชนิด อนุญาตครั้งเดียว
ระยะเวลาพำนัก ในประเทศไทย 90 วัน
มีผู้ติดตามได้ 3 ราย
 

*********
[1] กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council : GCC) ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน
[2] กลุ่มประเทศ CLMV ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม
*********
 
กระทรวงสาธารณสุข ต้องการที่จะเพิ่มตัวเลือกใหม่ ให้กับกลุ่มเป้าหมายชาวต่างประเทศ มุ่งหวังและประสงค์จะเดินทางให้เข้ามารับบริการทางด้านการแพทย์ การรักษาพยาบาลในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น และเป็นการเฉพาะ และหวังจะอยู่พำนักได้นานขึ้น  

ซึ่งแนวทางนี้ สอดคล้อง "นโยบายรัฐบาลด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและยุทธศาสตร์การพัฒนประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) (พ.ศ. 2560 - 2569)"  

กระทรวงสาธารณสุข จึงเสนอให้มีการตรวจลงตรา (วีซ่า) ประเภทรักษาพยาบาล Medical Treatment Visa sหัส Non-MT ระยะเวลา 1 ปี เข้าออกได้หลายครั้ง (Multiple Entry) เป็นการเฉพาะ



ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ

กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการดำเนินการผ่านคณะอนุกรรมการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางบริการรักษาพยาบาล (Medical Service Hub) และ คณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กต. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มท. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สตม. และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อกำหนดและปรับปรุงหลักเกณฑ์ แนวปฏิบัติ และรายละเอียดของการตรวจลงตราประเภทรักษาพยาบาลดังกล่าว และได้มีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการ รวมถึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกเป็นกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ภายในหน่วยงานในการดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเกทการตรวจลงตรา พ.ศ. 2545 โดยไม่ต้องออกเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย
 
 

สาระสำคัญของ วีซ่าเพื่อการรักษาพยาบาล

การตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล (วีซ่ารักษาพยาบาล)  จะมีกำหนด ระยะเวลา 1 ปี (Medical Treatment Visa) รหัส Non-MT


มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
 
วัตถุประสงค์
เพื่อกำหนดประเภทการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาลประเภทใหม่ให้สอดรับกับระยะเวลาและกระบวนการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน รวมทั้งเพิ่มตัวเลือกในการเดินทางเข้าสู่ประเทศให้แก่ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพและมีกำลังใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล
 
กลุ่มเป้าหมาย
  • ผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลและมีความจำเป็นต้องเข้ารับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง
  • ผู้ติดตามผู้ป่วย ต้องเป็นบุคคลในครอบครัว (Immediate Family) หรือผู้ติดตามไม่เกิน 3 ราย โดยให้ขอรับการตรวจลงตราฯ ประเภท Non-Immigrant "O" ติดตามครอบครัว รหัส Non-O
 
ระยะเวลาและค่าธรรมเนียม
  • การตรวจลงตราฯ มีอายุ 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่อนุญาตถึงวันครบกำหนด เมื่อครบกำหนด 1 ปีแล้ว ไม่สามารถขยายอายุต่อได้
  • ระยะเวลาพำนักในประเทศไทย ครั้งละไม่เกิน 90 วัน หากมีความจำเป็นในการรักษาต่อเนื่องตามที่สถานพยาบาลระบุในแผนการรักษา รวมถึงเหตุผลที่สภาพร่างกายไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ป่วยต้องแสดงใบรับรองแพทย์ที่ออกโดยโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และสถาบันทางการแพทย์ภาครัฐเท่านั้น ส่วนผู้ติดตามให้ยื่นเอกสารรับรองความสัมพันธ์จากสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย
  • ผู้ป่วยต้องรายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทุก 90 วัน ตามที่ สตม. กำหนด
  •  ค่าธรรมเนียมการเข้าออกหลายครั้ง (Multiple Entry) รายละ 6,000 บาท และการขออยู่ต่อรายละ 1,900 บาท/ครั้ง
 
 
กลุ่มโรคที่อนุญาตให้เข้ามารับการขอรับการตรวจลงตราฯ
 
กลุ่มโรค/หัตถการที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ที่มีระยะเวลาการรักษาต่อเนื่องที่ต้องใช้เวลามากกว่า 90 วัน อาทิ เวชศาสตร์ชะลอวัยและการฟื้นฟูสุขภาพ โรคระบบหัวใจหลอดเลือด โรคมะเร็ง ทันตกรรม ศัลยกรรมเสริมความงาม จักษุการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เป็นต้น ทั้งนี้ สถานพยาบาลต้องมีแผนการรักษา (Doctor Plan) และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน
 
 
เอกสารที่จำเป็นสำหรับการขอรับการตรวจลงตราฯ

(1) หลักฐานทางการเงินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายภายในประเทศของผู้ป่วยและผู้ติดตาม เป็นเงินสดไม่น้อยกว่ารายละ 800,000 บาท (Bank Statement) โดยแสดงต่อสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ
 
(2) การนัดหมายกับสถานพยาบาล (ตามประกาศของ สธ.) ให้ผู้ป่วยและผู้ติดตาม
ส่งเอกสารให้สถานพยาบาลล่วงหน้า 30 วัน ดังนี้
  •  เอกสารการนัดหมายกับสถานพยาบาล (Confirmation Letter)
  • เอกสารแสดงความสัมพันธ์กับผู้ป่วย (Affidavit Letter) เอกสารระบุความเป็นบุคคลในครอบครัว หรือเอกสารอื่น ๆ
  • หลักฐานทางการเงินครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลประเมินไว้ หรือเอกสารประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลรับรอง หรือสวัสดิการภาครัฐ (แสดงต่อสถานพยาบาล)
 
(3) ผู้ป่วยและผู้ติดตามแสดงหลักฐานประกันภัยกรณีอุบัติเหตุและการช่วยเหลือฉุกเฉิน รวมความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทย วงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,000,000 บาท หรือตามที่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กำหนด

หมายเหตุ : ในกรณีที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ผู้ป่วยและผู้ติดตามต้องกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน ก่อนพบแพทย์
 

การสมัครเข้าร่วมโครงการของสถานพยาบาล

(1) สธ. แจ้งเวียนการรับสมัครสถานพยาบาลภาครัฐ/สถานพยาบาลเอกชน/คลินิกที่มีความพร้อมเข้าร่วมในระบบการตรวจลงตราฯ
(2) สถานพยาบาลกรอกแบบฟอร์มใบสมัคร พร้อมเอกสารประกอบการยื่นสมัครต่อ สธ.
(3) สธ. ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและพิจารณาอนุมัติให้สถานพยาบาลเข้าร่วมโครงการฯ จากนั้นประกาศรายชื่อสถานพยาบาลที่ได้รับอนุมัติลงในราชกิจจานุเบกษา
(4) สถานพยาบาลเริ่มดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติ (Work Flow)
 
 
 
ลำดับขั้นตอน (Work Flow) ในการตรวจลงตราฯ
 
1. ผู้ป่วยติดต่อสถานพยาบาลที่จะเข้ารับบริการ (ตามประกาศที่ สธ. กำหนด) โดยแจ้งนัดหมายวันเวลาในการเข้ารับการรักษาพยาบาลล่วงหน้า 30 วัน

2. สถานพยาบาลกรอกรายละเอียดที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ป่วยใน Confirmation Letter และแจ้งยืนยันการรักษาพยาบาล

3. สถานพยาบาลตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารและส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่ผู้ป่วยจะเดินทางเข้าประเทศ

4. ผู้ป่วยและผู้ติดตาม ตามรายชื่อที่แจ้งเข้ากระบวนการของด่านตรวจคนเข้าเมือง ลงทะเบียน AOT Airports Application และกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มของ AOT Airports Application และพิธีการศุลกากร

5. ผู้ป่วยและผู้ติดตามได้รับการตรวจลงตราฯ เพื่อเดินทางเข้าประเทศไทย โดยมีระยะเวลาพำนักครั้งละไม่เกิน 90 วัน ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นในการรักษาต่อเนื่อง หรือสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย สามารถขอพำนักต่อได้ โดยแสดงใบรับรองแพทย์ที่ออกโดยโรงพยาบาลรัฐ
โรงพยาบาลเอกชน และสถาบันทางการแพทย์ของภาครัฐเท่านั้น

6. หลังเสร็จสิ้นการรักษา สถานพยาบาลออกใบรับรองแพทย์ ให้ผู้ป่วยและผู้ติดตามเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่สายการบินก่อนเดินทางกลับประเทศ


 
 
 
 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด