16 ธันวาคม 2564 องค์การอนามัยโลก WHO เผยแพร่เอกสาร 18 หน้า "
Interim recommendations for heterologous COVID-19 vaccine schedules" หรือเรียกง่ายๆ ว่า "คำแนะนำสำหรับกำหนดการวัคซีน COVID-19 ที่ต่างชนิดกัน" รายงานได้สรุปจากงานวิจัยจากประเทศต่างๆ ได้แก่ เดนมาร์ค แคนาดา สวีเดน นอร์เวย์ สเปน ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษ บาห์เรน ชิลี อินเดีย ไทย ตุรกี จีน สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ที่ได้ทำการศึกษาการใช้วัคซีนโควิดต่างชนิดกัน ในกรอบการใช้วัคซีน 3 ประเภท ที่ WHO อนุมัติ คือ วัคซีนเชื้อตาย วัคซีนเวคเตอร์ และวัคซีน mRNA
heterologous = mix and match หรือแบบไขว้/ผสม
คำแนะนำการใช้สูตรไขว้ของ WHO
WHO ระบุว่าการใช้วัคซีนสูตรเป็นแนวทางหลัก โดยวัคซีนสูตรไขว้เป็นทางรองที่สามารถยืดหยุ่นปรับใช้ได้ โดยต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเหมาะสมตามจำนวนวัคซีนมี หรือที่จัดหาได้ หรือตามข้อจำกัดต่างๆ ที่อาจจะมี คำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเป็นสำคัญ
ด้วยปัจจุบันที่ประชากรกลุ่มเป้าหมายพื้นฐาน (ผู้สูงอายุ เปราะบาง มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์) ได้รับวัคซีนพื้นฐานเข็มแรกมีเพิ่มขึ้นมากทั่วโลกแล้วก็ตาม การฉีดเข็มที่สองเพื่อให้ครบโดสควรดำเนินต่อไปตามแผน อย่างไรก็ตาม แม้การจัดหาวัคซีนจะมีอุปสรรคเกิดขึ้นบ้างก็ตาม การพิจารณาว่าจะใช้การฉีดวัคซีนชนิดเดิมหรือวัคซีนต่างชนิดในการฉีดเข็มที่สอง ก็ไม่ควรเป็นเหตุให้แผนการฉีดนั้นต้องล่าช้าหรือเลื่อนกำหนดไปจากเดิม
3 ข้อสรุป คำแนะนำการใช้วัคซีนสูตรไขว้
ทั้ง 3 ข้ออยู่บนพื้นฐานของจำนวนวัคซีนที่มี
1. ประเทศที่ใช้วัคซีนเข็มแรกเป็นชนิดวัคซีนเชื้อตาย สามารถ ใช้วัคซีนเวคเตอร์ หรือ วัคซีน mRNA เป็นเข็มที่สองได้
2. ประเทศที่ใช้วัคซีนเข็มแรกเป็นชนิดวัคซีนเวคเตอร์ สามารถใช้วัคซีน mRNA เป็นเข็มที่สองได้
3. ประเทศที่ใช้วัคซีนเข็มแรกเป็นชนิดวัคซีน mRNA สามารถใช้วัคซีนเวคเตอร์ เป็นเข็มที่สองได้
คำแนะนำที่เกี่ยวเนื่องกับความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับ จากการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน หรือ สูตรไขว้ต่างชนิดกัน รวมทั้งการฉีดเป็นเข็มกระตุ้นนั้น จะต้องรอข้อมูลจากการศึกษาเพิ่มเติมในระยะต่อไป
WHO เน้นย้ำว่ายังมีประเด็นที่ต้องศึกษาหาหลักฐานในหลายๆ ประเด็น อาทิ
- ประสิทธิผลและระยะเวลาในการป้องกันที่เกิดจากฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน หรือ สูตรไขว้ ตามแต่ละชนิด (ยี่ห้อวัคซีน) ที่ใช้ร่วมกัน โดยเฉพาะกรณีวัคซีนสูตรไขว้ที่ใช้วัคซีนเชื้อตาย ยังขาดข้อมูลอีกมาก
- ความปลอดภัยในระยะยาวจากการใช้วัคซีนสูตรไขว้ รวมถึงผลข้างเคียงชนิดที่ไม่พบบ่อย
- อิทธิพลจากลำดับการฉีดวัคซีนและประเภทวัคซีน ต่อความปลอดภัย การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ (immunogenicity)* และประสิทธิผลของวัคซีนสูตรไขว้
- ประสิทธิผลของวัคซีนสูตรไขว้ ที่สัมพันธ์กับช่วงเวลาระยะห่างระหว่างเข็มแรกและเข็มที่สอง และโดสแรกกับเข็มกระตุ้น
- ความสัมพันธ์ของการป้องกันเบื้องต้น หรือระยะเวลาการป้องกัน จากวัคซีนชนิดเดียวกัน หรือ สูตรไขว้
- ความปลอดภัย การตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน และประสิทธิผล ที่จะเกิดหากได้รับวัคซีนสูตรไขว้เพียงบางส่วน
- การเปรียบเทียบ การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันและประสิทธิผล ระหว่างวัคซีนชนิดเดียวกัน หรือ สูตรไขว้ ต่อการป้องกันไวรัสโอมิครอน
จากนพ.ยง ภู่วรวรรณ
นพ.ยง ภู่วรวรรณ ได้กล่าวถึงรายงาน WHO ฉบับนี้ ในเพจวันที่
18 ธันวาคม 64 ที่ส่วนหนึ่งอ้างอิงผลการศึกษาของทีมนักวิจัยไทย ที่มุ่งศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ไว้ว่า
"จะเห็นว่าองค์การอนามัยโลกได้ออกคำแนะนำ ในการใช้วัคซีน "สูตรไขว้" ของไทย โดยใช้ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นเอกสารอ้างอิง และ ข้อมูลที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่ใช้วัคซีนเชื้อตาย สลับกับ virus Vector หรือ mRNA เพื่อใช้เป็นแนวทาง ให้แต่ละประเทศปรับความเหมาะสมในการให้วัคซีน ตามสภาวะของวัคซีนที่มีอยู่ในประเทศนั้นๆ อยากอยู่ในภาวะฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงการใช้วัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม สลับด้วยการกระตุ้นด้วย ไวรัส Vector หรือ mRNA อย่างที่เราใช้กันในประเทศไทย"
การวิจัยวัคซีนสูตรผสมในไทย เกิดขึ้นจากความจำเป็นจากความขาดแคลนวัคซีน ในห้วงเวลาที่ไทยกำลังประสบภาวะการระบาดในระลอกที่สองจากเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า ที่เริ่มก่อตัวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จนเริ่มรุนแรงในเดือนกรกฏาคม-สิงหาคม เป็นการระบาดที่รวดเร็วกระจายทั่วประเทศ การระบาดระลอกนี้เกิดก่อนแผนส่งมอบและกระจายวัคซีนที่รัฐกำหนดไว้ ทำให้มีวัคซีนไม่เพียงพอและทันต่อความจำเป็นที่จะต้องเร่งฉีดในประชากร
"ทุกอย่างเกิดขึ้นในภาวะฉุกเฉิน เพราะระยะเวลา เราทำวิจัยอย่างเร่งด่วน ขณะนี้ก็เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า องค์การอนามัยโลก ได้แนะนำ ในการใช้วัคซีนแบบสูตรสลับ" นพ.ยง ระบุถึงที่มาการริเริ่มทำวิจัยสูตรผสม และต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพในการป้องกัน แล้วจึงประกาศใช้เป็นสูตรวัคซีนหลักในระยะต่อมา"
นพ.ยง ย้ำว่า การวิจัยนี้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์
"อีกหลายบทความ กำลังลงพิมพ์ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า คณะกรรมการพิจารณางานวิจัย ให้แก้ไขบทความน้อยมาก และเชื่อว่าจะได้ลงพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียง ตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยทีมวิจัยของเราได้ทำวิจัยอย่างได้มาตรฐาน"
ผลงานที่เกิดขึ้นของทีมวิจัยไทย เป็นบทพิสูจน์การใช้วิทยาศาสตร์ การค้นคว้าวิจัยเพื่อให้ได้คำตอบ และเอาชนะความไม่รู้ ความเชื่อหรือการคาดการณ์ที่เลื่อนลอย ความก้าวหน้านี้จะเป็นแรงผลักดันให้ทีมวิจัยกล้าที่จะก้าวไปข้างหน้าเพื่อร่วมหาคำตอบให้กับวงการแพทย์ วิทยาศาสตร์และประชาคมโลกต่อไป