ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

เราต้องทำอย่างไร เมื่อ Herd Immunity อาจไม่มีอยู่จริงใน COVID-19 - ผศ.พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์

เราต้องทำอย่างไร เมื่อ Herd Immunity อาจไม่มีอยู่จริงใน COVID-19 - ผศ.พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์ Thumb HealthServ.net
เราต้องทำอย่างไร เมื่อ Herd Immunity อาจไม่มีอยู่จริงใน COVID-19 - ผศ.พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์ ThumbMobile HealthServ.net

เราต้องทำอย่างไร เมื่อ Herd Immunity อาจไม่มีอยู่จริงใน COVID-19 โดย ผศ.พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์ หัวหน้าภาควิชครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

เราต้องทำอย่างไร เมื่อ Herd Immunity อาจไม่มีอยู่จริงใน COVID-19 - ผศ.พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์ HealthServ
 
ที่ OPD เวชศาสตร์ครอบครัว คนไข้ประจำ อายุ 70 กว่าปีมาติดตามโรคความดันโลหิตสูงและดูแลสุขภาพตามนัด 
 
หมอ: สวัสดีค่ะ เป็นยังไงบ้างคะ... อ้าว เอ๊ะ ทำไมวันนี้ใส่ชุดดำ
 
คนไข้:  ตัวเองสบายดีค่ะหมอ ยังรอดอยู่ แต่เพิ่งมีงานศพคุณพ่อ อายุ 99 ปี เสียจากโควิดเมื่อสองอาทิตย์ก่อน คุณพ่อแข็งแรงดีมาตลอด ไม่เป็นอะไรเลย ป่วยได้ 10 วัน ตอนแรกหมอบอกจะให้กลับวันรุ่งขึ้นแล้วนะคะ จู่ๆหมอก็แจ้งว่าตาย เรื่องศพ ทางหมอเขาก็เอาไปจัดการเอง ไม่มีใครได้เห็นอีก
 
หมอ: โอ้โห เสียใจด้วยนะคะ รวดเร็ว ไม่คาดฝันมากเลยนะคะ  
 
คนไข้ : ไม่รู้ติดมาได้ยังไงค่ะหมอ คนในบ้านไม่มีใครเป็น ทุกคนฉีดวัคซีนแล้ว ยกเว้นคุณพ่อ ทุกคนเห็นว่าท่านแก่มากแล้วและไม่ได้ไปไหน กลัววัคซีนจะเป็นอันตรายมากกว่า แต่คิดว่าอาจจะติดจากเพื่อนข้างบ้าน เป็นไปได้มั้ยคะหมอ
 
หมอ: ยังไงนะคะ ทำไมคิดแบบนั้น
 
คนไข้: ก็เขาเป็นพม่าน่ะค่ะ ยังหนุ่มสาวกันอยู่ แต่ก็ไม่รู้สินะคะ ก็ไม่ได้ไปคุยหรือสุงสิงด้วย 
 
หมอ : บ้านอยู่ติดกันมากแบบนั้นหรือคะ มีบริเวณบ้านมั้ย
 
คนไข้: มีค่ะ แต่ก็ไม่น่านะคะ บ้านก็มีพื้นที่ห่างกันอยู่ค่ะ แต่ก็ไม่รู้ว่าติดมาได้ยังไง ในบ้านไม่มีใครเป็น พวกนั้นเราก็ไม่รู้เขาได้ฉีดวัคซีนกันรึเปล่า
 
หมอ: แล้วคนในบ้านมีใครบ้างคะ
 
คนไข้: ก็มีลูกๆหลานๆอยู่กันหลายคนค่ะ ก็มีนั่งกินเหล้ากินอาหารร่วมกันอยู่บ่อยๆ เด็กๆก็ออกไปทำงานนอกบ้านก็กลับเข้ามา แต่ทุกคนฉีดวัคซีนกันหมด และไม่มีใครป่วยเป็นอะไรนะคะ
 
 
เราต้องทำอย่างไร เมื่อ Herd Immunity อาจไม่มีอยู่จริงใน COVID-19 - ผศ.พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์ HealthServ

****** 
 
ยังมีคนที่เข้าใจว่า หากสมาชิกในบ้านฉีดวัคซีนกันหมด จะป้องกันการติดเชื้อจากลูกหลานไปยังผู้สูงอายุในบ้านได้ ผู้สูงอายุที่ถูกเก็บรักษาไว้ในบ้านแบบไข่ในหินตลอดช่วงสองปีกว่าของโควิด 
 
ยังมีคนที่เข้าใจว่า ฉีดวัคซีนโควิดแล้วจะไม่ติดเชื้อหรือป่วยจากโควิด
 
ยังมีคนที่โทษหรือสงสัยแหล่งที่มาของเชื้อโรคว่ามาจากคนนอก ไม่ใช่คนใน คนที่ถูกเพ่งเล็งโดยเฉพาะเป็นแรงงานต่างด้าว
 
ยังมีคนที่เข้าใจว่าเราป้องกันตัวเฉพาะเมื่อเราออกนอกบ้าน แล้วเราก็สามารถมาเฉลิมฉลองกันได้ปลอดภัยในบ้าน 
 
ยังมีคนที่เชื่อว่า หากเราอยู่แยกจากสังคม เราจะปลอดภัยจากโควิด เราเก็บคนแก่ไว้ในบ้าน แล้งคนแก่จะปลอดภัยจากโควิด
 
****** 
 
  
ในงานวิจัยล่าสุด ของ NIH สหรัฐ เริ่มสังเกตพบว่า ปรากฏการณ์ "Herd Immunity" น่าจะไม่มีในการระบาดของโควิด ซึ่งแปลกแตกต่างจากการติดเชื้อโรคระบาดทุกครั้งที่ผ่านมา ที่เมื่อมีการระบาดใหญ่ หากประชากรส่วนใหญ่เกิด "ภูมิคุ้มกันหมู่" (ไม่ว่าจะเกิดทั้งการติดเชื้อในธรรมชาติ หรือการได้วัคซีน)  ประชากรที่เหลือและทั้งหมดจะปลอดภัย โรคจะสงบและหยุดระบาดไปเอง ซึ่งปรากฏการณ์ลักษณะนี้เกิดกับโรคระบาดอื่นๆที่ผ่านมา.... 
 
แต่โควิด ผ่านมาสองปี เริ่มจะพบว่า ไม่น่าจะมีลักษณะของ Herd immunity ได้ เพราะประชากรที่ฉีดวัคซีนกันทั้งประเทศ ก็ยังเกิดการติดเชื้อได้ ประชากรที่ติดเชื้อแล้วก็ติดเชื้อซ้ำได้อีก ติดเดลต้าแล้วก็ติดโอมีครอนได้อีก ติดโอมิครอนสองรอบก็เริ่มจะมี ภายในเวลา 1-2 เดือน ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อกลับไม่แข็งแรงพอจะต้านทานการติดเชื้ออีกรอบ ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนก็เช่นกัน แถมมีอายุการสร้างภูมิสั้นในระยะเวลาไม่กี่เดือน 
 
โควิดสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ที่ไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน การป้องกันไฟป่า โดยการเผาทำแนวกันไฟ กลับไม่ได้ผล ไฟก็ยังไหม้อยู่ดี    
 
งั้นจะฉีดวัคซีนทำไม ฉีดแล้วป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ แถมยังต้องได้รับผลข้างเคียงจากวัคซีน ทั้งยังกังวลผลระยะยาวอีก ..... วัคซีนยังเป็นทางรอดที่สำคัญ ในการทำให้ลดความรุนแรงของการป่วยในตัวเรา 
 
จากการเริ่มค้นพบว่า อาจไม่มี Herd immunity สำหรับการติดเชื้อโควิด... แล้วเราจะอยู่รอดกับโควิดได้อย่างไร ... ในเมื่อแนวกันไฟไม่ได้ผล..สิ่งที่ทำได้คือ....
 
1. ทุกคนต้องฉีดวัคซีน รวมเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันตัวเอง เพื่อเอาชีวิตรอด
 
2. ทุกคนยังต้องรับผิดชอบร่วมกัน ชักชวนพาคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้นให้ไปรับทางรอดด้วยกัน ไม่ว่าจะคนในหรือคนนอก คนไทยหรือคนเทศ 
 
3. ทุกคนยังต้องใส่เครื่องมือป้องกันโรค หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ไม่จับหน้าหากไม่ล้างมือ กินแยกกัน  
 
4. ทุกคนควรเตรียมแผนส่วนตัวสำหรับการติดเชื้อโควิดของตัวเอง จะได้ไม่แพนิกเมื่อติดเชื้อ เราทุกคนมีสิทธิติดเชื้อได้แม้จะป้องกันตัวดีที่สุด เพราะมันติดง่ายมากจากสังคม 
 
ลองซ้อมคิดว่า หากมันไม่หมดไปแบบสงครามจบ ที่ทุกคนจะเฮแล้วกลับมาใช้ชีวิตตามเดิมได้ หากมันกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ  เป็นสงครามที่สู้ไม่ชนะไปเรื่อยๆ เราจะใช้ชีวิตในปัจจุบันอย่างไร  
 
5. Don’t Give Up,.. and Don’t Give in
 
อย่ายอมแพ้ อย่ายกธงขาว แล้วบอก เออ พอเหอะ ฉันจะใช้ชีวิตแล้ว จะติดก็ติดไป ป่วยก็ไม่เท่าไหร่แล้วเดี๋ยวนี้ อาการไม่มาก...
 
อย่าคิดแบบนั้น โจทย์ข้อสอบยังไม่ได้รับการเฉลย.. ปัจจุบัน ท่ามกลางการระบาดของโอมิครอนในบ้านเรา เราพบว่า คนไข้หลายคนติดเชื้อซ้ำได้ เคยป่วยโควิดแล้วก็ป่วยอีก พบการติดเชื้อกันทั้งบ้าน เริ่มมีคนตายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แล้วยังสังเกตเห็นว่า คนที่ป่วยด้วยโอมิครอน มีอาการ Long COVID อย่างเห็นได้ชัดกว่ารอบเดลต้า กล่าวคือตอนป่วยโอมิครอน อาการไม่หนักก็จริง ไม่ลงปอด แต่พอถึงเวลาหาย กลับหายไม่สุด ยังมีอาการเหนื่อยเพลียง่าย ไม่ฟิต ไม่กระฉับกระเฉงเหมือนเคย ทำอะไรเหนื่อยง่าย ซึมๆ เศร้าๆเซ็งๆ อารมณ์แปลกๆ นอยด์ๆ ได้อีกเป็นเดือน  ทั้งที่เป็นคนแข็งแรงมาก่อน ซึ่งอาการแบบนี้ไม่รู้ว่าจะหายเมื่อไหร่ และไม่มียารักษา
 
6. แม้มันจะรู้สึกเหนื่อยที่ต้องใช้ชีวิตกับวิกฤตโควิดมานาน สังคมก็คงต้องตั้งสติ สังเกตข้อเท็จจริงในปัจจุบันเป็นทีๆ สังเกตเมื่อมันเริ่มไม่ตรงกับความรู้หรือความเชื่อเดิมๆที่เคยมีมา แล้วปรับตัวเองให้ใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยกับสงครามโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติครั้งนี้ เพราะมันกระทบทุกด้านของชีวิตทุกคน 
 
เรียนรู้ที่จะอยู่รอดจากวิกฤตนี้ไปด้วยกันค่ะ เชิญชวนอ่านบทความเรื่อง Herd immunity อาจไม่มีอยู่จริงในโควิด ข้างล่าง
 

The Concept of Classical Herd Immunity May Not Apply to COVID-19 
David M Morens, Gregory K Folkers, Anthony S Fauci
The Journal of Infectious Diseases, jiac109, https://doi.org/10.1093/infdis/jiac109
Published: 31 March 2022

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด