ศ นพ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
เป็นที่จับตาและเรียกร้องให้มีการให้ความสำคัญกับผู้ป่วย โควิด-19 ที่รอดชีวิตไปแล้วแต่ยังคงมีอาการทุกข์ทรมานต่อเนื่องไปอีกตั้งแต่กลางปี 2563 เป็นต้นมา
เอกสารจากประเทศอังกฤษ NICE (the National Institute for Health and Care Excellence) วันที่ 18 ธันวาคม 2563 พยายามที่จะแบ่งกลุ่มอาการต่างๆ ออกเป็นสามระยะด้วยกัน
- ระยะแรกที่เป็นการติดเชื้อและมีอาการของ โควิด-19 อยู่ถึงสี่สัปดาห์ (acute COVID-19)
- ระยะที่สองยังคงมีอาการอยู่ต่อเนื่องจากสี่ถึง 12 สัปดาห์ (ongoing symptomatic COVID-19)
- ระยะที่สามมีอาการที่เกิดขึ้นระหว่างที่ติดเชื้อหรือหลังจากการติดเชื้อ ที่เข้ากันได้กับ โควิด-19 โดยยังคงมีอาการต่อเนื่องยาวนานกว่า 12 สัปดาห์ ทั้งนี้โดยที่ไม่สามารถอธิบายได้จากโรคอื่น
ในประเทศอังกฤษเองจากการประเมินผู้ป่วย 186,000 ราย พบว่าหนึ่งในห้าจะมีอาการต่อเนื่องถึง 12 สัปดาห์และ 9.9% จะยังคงมีอาการอยู่หลังจาก 12 สัปดาห์
โดยอาการที่พบบ่อยได้แก่อ่อนเพลีย ไอและปวดหัว
ทั้งนี้เข้ากันได้กับรายงานการศึกษาจากหลายประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและมีอาการทั้งที่อาการไม่มาก หายเองหรือมีอาการหนักต้องเข้าโรงพยาบาล
เมื่อหายแล้วนอกจากจะพบว่าอวัยวะที่ถูกกระทบจะมีบางส่วนถูกทำลายถาวร ยกตัวอย่างเช่น ปอดบวม แม้เมื่อหายแล้ว จะมีบางส่วนถูกทำลายไป มากน้อยขึ้นอยู่กับการรักษาเร็วหรือช้า และประสบผลสำเร็จในการกำจัดไวรัส และป้องกันไม่ให้ไวรัสจุดชนวนปะทุให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงในอวัยวะต่างๆ หรือไม่
นอกจากนั้นถึงแม้ว่าอาการเด่นจะเป็นในเรื่องของปอดบวมก็ตาม แต่ผลของการติดเชื้อไวรัสและการอักเสบจะส่งผลไปยังโรคประจำตัวที่ผู้ป่วยมีอยู่แล้ว เช่น กำลังจะมีสมองเสื่อมหรือมีสมองเสื่อมอยู่บ้าง ภาวะสมองเสื่อมนั้นจะมีความรุนแรงขึ้นมากหลังจากที่หายจาก โควิด-19 แล้ว และเช่นเดียวกันกับโรคหัวใจและโรคไต รวมทั้งโรคที่เกิดกับระบบอวัยวะอื่นๆ
ความจำเป็นที่ต้องป้องกันไม่ให้ โควิด-19 ระบาดลุกลามไปทั่ว