การบริหารจัดการ “วัคซีนโควิด-19” โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ
ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และความหวังของประชาชนที่จะได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคดังกล่าว การให้วัคซีนเป็นวิธีการหนึ่งที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคติดเชื้อ
ในปัจจุบัน รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้คนไทยทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ฟรี โดยความสมัครใจ แต่ในช่วงแรกนี้ กำหนดกลุ่มเป้าหมายการรับวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่ม เนื่องจากทำหน้าที่ใกล้ชิดผู้ป่วยและเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ดังนี้
- บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน
- บุคคลที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่นปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหอบหืดที่ควบคุมได้ไม่ดี โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังที่อยู่ในระยะ 5 ขึ้นไป (ไตวายเรื้อรัง) โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัดและภูมิคุ้มกันบำบัด
- ผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
- เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด ที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด เช่น ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ
สำหรับประชาชนกลุ่มต่างๆ จะมีการฉีดให้ครบอย่างต่อเนื่อง การฉีดวัคซีนอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้น ซึ่งจะมีกระบวนการในการเฝ้าระวัง ติดตาม และให้การดูแล
เนื่องด้วยเป้าหมายการผลิตวัคซีนเน้นเรื่องประสิทธิภาพการป้องกันโรคเป็นสำคัญแต่ในเวลาเดียวกันความปลอดภัยของวัคซีนก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงควบคู่ไปด้วยเสมอ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีเสมือนมีวัคซีนประจำตัวได้ตอนนี้คือ การดูแลตัวเองทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อากาศถ่ายเท อารมณ์แจ่มใส โดยเฉพาะในช่วงโรคโควิด-19 คือการสวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยเป็นประจำ ล้างมือบ่อย ๆ สแกนอุณหภูมิ สแกนไทยชนะ/หมอชนะ เลี่ยงพื้นที่เสี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่นการพบปะสังสรรค์ และการรับประทานอาหารร่วมกัน ก็จะสามารถห่างไกลโรคโควิดได้
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
28 มกราคม 2564