คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 - สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
Q1: จริงหรือไม่ ขณะนี้ทั่วโลกมีวัคซีนโควิด-19 ที่ขึ้นทะเบียน และได้รับอนุญาตให้ฉีดในภาวะฉุกเฉินแล้วถึง 6 ชนิด
A1: ข้อมูลมีความคลาดเคลื่อน ขณะนี้ทั่วโลกมีวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (EUA) แล้วจากผู้ผลิต 9 ราย โดยแบ่งเป็น 4 ชนิดวัคซีน
โดยวัคซีนที่มีการขึ้นทะเบียนและได้รับการยอมรับขณะนี้มีเพียง 3 ชนิด คือ ของ Pfizer Moderna และ AstraZeneca ที่เหลือเป็นการขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉินโดยใช้ผลการทดลองเฟส 2 เท่านั้น แม้วัคซีนของจีนและรัสเซียที่ขึ้นทะเบียนไปก่อนหน้าตั้งแต่ ก.ค.-ส.ค. 2563 แต่ก็ยังไม่มีผลเฟส 3 อย่างเป็นทางการออกมา
https://www.facebook.com/thaimoph/posts/245600653716512
Q2: จริงหรือไม่ ที่วัคซีนของ AstraZeneca ที่ไทยจองซื้อ ขณะนี้ยังไม่สิ้นสุดการทดลอง
A2: วัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบันทุกชนิดยังไม่สิ้นสุดการทดลอง ซึ่งทั้งของ Pfizer และ Moderna ก็ยังต้องมีการเก็บข้อมูลต่อเนื่องเพื่อดูประสิทธิผลของวัคซีนหลังสามเดือน
ในขณะที่ของ AstraZeneca ได้รับอนุมัติทะเบียนให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉินจากหน่วยงานควบคุมกำกับของอังกฤษแล้ว เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2563
Q3: เพราะเหตุใด ประชากรจากกว่า 10 ประเทศทั่วโลก จึงได้รับวัคซีนมากกว่า 5 ล้านโด้ส
A3: เนื่องจากประเทศเหล่านั้นได้ทำการจองวัคซีนล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2563 โดยขณะที่ทำการจองนั้น ยังไม่ทราบผลเบื้องต้นของการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน จึงมีความเสี่ยงสูงมากที่จะไม่ได้รับวัคซีน
ทั้งนี้ การเปิดเผยผลการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนโควิด 19 เบื้องต้น เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงต้นเดือน พ.ย.2563 โดย Pfizer/BioNTech
Q5: จริงหรือไม่ ที่ประเทศไทยมุ่งอยู่กับวัคซีนของ AstraZeneca เพียงอย่างเดียว
A5: ไม่เป็นความจริง ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายการจัดหาวัคซีนเพื่อให้ครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชาชนไทย ในปี 2564 ซึ่งมีการดำเนินการในหลายแนวทาง
อย่างไรก็ตาม การจองซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca จำนวน 26 ล้านโดส เป็นเพียงข้อตกลงชุดแรก ขณะนี้ยังมีการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนอีกหลายบริษัท
ทั้งนี้ ไม่ได้มีการเจาะจงว่าจะทำการร่วมมือเฉพาะกับผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง
Q6: เป็นไปได้หรือไม่? ที่ภาคเอกชนจะเข้ามามีบทาทในการนำเข้าวัคซันโควิด-19
A6: มีความเป็นไปได้ ไม่ได้มีการปิดกั้นภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีนมาจำหน่ายในประเทศ
แต่ทั้งนี้ วัคซีนที่ภาคเอกชนจะนำเข้าเพื่อจำหน่ายในประเทศจะต้องได้รับการอนุมัติจาก อย. เพื่อเป็นการประกันว่าวัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพ ความปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานสากล
Q7: จริงหรือไม่ ที่ประเทศไทยยังไม่มีแผนรองรับการขึ้นทะเบียนวัคซีน เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน
A7: ไม่เป็นความจริง เนื่องจาก อย.ได้มีการเตรียมความพร้อมและกำหนดแนวทางการขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉินไว้แล้ว [
ข่าวประกาศอย.]
Q8: เป็นไปได้หรือไม่? ที่ประเทศไทยจะสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้
A8: มีความเป็นไปได้ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดจัดหาวัคซีนโควิด 19 ในทุกช่องทาง เพื่อให้ประชาชนไทยเข้าถึงวัคซีนได้รวดเร็วที่สุด และมีกำหนดแผนการใช้วัคซีนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์ระบาดนี้โดยเร็ว