ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

แนวทางการให้วัคซีนโควิด19 (วัคชีนโควิด บุคลากร กลุ่มเป้าหมาย การฉีดวัคชีน) จัดทำโดยกรมควบคุมโรค กุมภาพันธ์ 2564

แนวทางการให้วัคซีนโควิด19 (วัคชีนโควิด บุคลากร กลุ่มเป้าหมาย การฉีดวัคชีน) จัดทำโดยกรมควบคุมโรค กุมภาพันธ์ 2564 Thumb HealthServ.net
แนวทางการให้วัคซีนโควิด19 (วัคชีนโควิด บุคลากร กลุ่มเป้าหมาย การฉีดวัคชีน) จัดทำโดยกรมควบคุมโรค กุมภาพันธ์ 2564 ThumbMobile HealthServ.net

ภาพรวมเกี่ยวกับโรคโควิด วัคชีนโควิด การเตรียมบุคลากร กลุ่มเป้าหมาย การดำเนินงานให้บริการวัคชีนโควิด 19 และภาคผนวก เกี่ยวกับเอกสารที่เกี่ยวข้อง/เกิดขึ้นจากการรับวัคซีนแล้ว เช่น ตัวอย่างใบนัดหมายรับวัคซีน ตัวอย่างเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย แบบฟอร์มขอเบิกวัคชีนโควิด 19 แบบคัดกรองและใบยินยอมรับบริการวัคชีนโควิด 19 แบบรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค แบบรายงานการให้วัคชีนโควิด 19 ประจำวัน

แนวทางการให้วัคซีนโควิด19 (วัคชีนโควิด บุคลากร กลุ่มเป้าหมาย การฉีดวัคชีน) จัดทำโดยกรมควบคุมโรค กุมภาพันธ์ 2564 HealthServ
สารบัญ
ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด 19
ความรู้เกี่ยวกับวัคชีนโควิด 19
กลไกการขับเคลื่อนและการเตรียมบุคลากรในการดำเนินงาน
กลุ่มเป้าหมายและระยะการดำเนินงานให้วัคซีน
การสำรวจกลุ่มเป้าหมาย การลงทะเบียนจองสิทธิ์ และนัดหมายรับบริการ
การเบิกจ่ายและบริหารจัดการวัคซีน
การให้บริการวัคซีนโควิด 19
การบันทึก จัดทำรายงาน และติดตามการดำเนินงานให้บริการวัคชีนโควิด 19
การเฝ้าระวังติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนโควิด 19
ข้อคำถามที่พบบ่อย Q&A
 
ภาคผนวก
1. ตัวอย่างใบนัดหมายรับวัคซีน
2. ตัวอย่างเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย
3. ขนาดของวัคซีนโควิด 19 ของบริษัท Sinovac Life Sciences จำกัด และบริษัท AstraZeneca จำกัด
4. การจัดวางวัคชีนโควิด 19 ในตู้เย็น
5. แบบฟอร์มขอเบิกวัคชีนโควิด 19
6. แผ่นความรู้ (Vaccine information sheet)
7. แบบคัดกรองและใบยินยอมรับบริการวัคชีนโควิด 19
8. แบบรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
9 แบบรายงานการให้วัคชีนโควิด 19 ประจำวัน

ดาวน์โหลด (pdf) ฉบับเต็ม แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ในสถานการณ์การระบาดปี 64 ของประเทศไทย กรมควบคุมโรค กุมภาพันธ์ 2564

ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด 19

โรคโควิด 19 (Coronavirus disease 2019, COVID-19) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์
ซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ซึ่งได้มีการค้นพบการระบาดครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 และได้มีการแพร่ระบาดไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เชื้อซาร์ส-โควี-2 เป็นไวรัสชนิด (+) Single strand RNA อยู่ใน Coronaviridae family จัดอยู่ใน Betacoronavirus เช่นเดียวกับ SARS-CoV และ MERS-CoVเชื้อนี้มีเปลือกหุ้ม (Envelop) ซึ่งเป็นสารจำพวกไกลโคโปรตีน เมื่อส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนจะเห็นกลุ่มของคาร์โบไฮเดรต เป็นปุ่ม (Spike) ยื่นออกจากอนุภาคไวรัส ทำให้มีลักษณะคล้ายมงกุฎล้อมรอบ
 
เชื้อนี้มีระยะฟักตัวตั้งแต่ 2 - 14 วัน เชื้อนี้สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านฝอยละอองจากการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย อัตราการแพร่กระจายเชื้อเฉลี่ย 2 - 4 คน (Basic Reproductive Number: R0 เท่ากับ 1.4 – 3.9) ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของประชากร ผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะมีอาการระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ มีไข้ ไอ มีน้ำมูก หายใจถี่ หายใจลำบาก ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ ไตวาย หรืออาจเสียชีวิต จากอาการแสดงที่เกิดขึ้นหลายประการคล้ายคลึงกับไวรัสชนิดอื่นที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ จึงต้องอาศัยการทดสอบทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันเชื้อ โดยการรักษาจะเป็นการรักษาแบบประคับประคองเพื่อบรรเทาอาการป่วยต่าง ๆ สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่อาจเกิดการสัมผัสเชื้อมาก ได้แก่ ผู้ที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงต่อการสัมผัสโรคหรือประเทศหรือเมืองที่มีการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่เดินทางเข้า-ออกหรือแวะเปลี่ยนเครื่องบินในประเทศหรือเมืองที่มีการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข บุคคลที่ทำงานให้บริการนักท่องเที่ยว และผู้ที่มีอายุ > 50 ปี และมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือด และหัวใจ เป็นต้น

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 22 มกราคม 2564 พบว่า ประชากรกว่า 96 ล้านรายทั่วโลก เป็นโรคโควิด 19 และมีประชากรกว่า 2 ล้านรายเสียชีวิตจากการติดเชื้อ ดังกล่าว
(1) สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยพบว่าประชากรมากกว่า 13,000 รายติดเชื้อ และมี 71 รายเสียชีวิตจากโรคโควิด 19
(2) แม้ว่าคนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนี้จะไม่มีอาการรุนแรง เพียงประมาณ ร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีอาการป่วย และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าร้อยละ 1

แต่เนื่องจากเป็นโรคใหม่จึงไม่มีภูมิคุ้มกันในคนทั่วไป ทำให้จำนวนผู้ที่ติดเชื้อมีมาก จึงส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ได้ ซึ่งมาตรการป้องกันต่างๆ ที่ใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ การรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) และการกักตัว ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และระบบเศรษฐกิจ และไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างสมบูรณ์ หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยจึงได้มีการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนโควิด19 ซึ่งเป็นความหวังใหม่ในการป้องกันการติดเชื้อ การแพร่ระบาดของโรค และการลดความรุนแรงจากการติดเชื้อ
 

สถานการณ์การระบาดระดับนานาชาติและประเทศไทย

จากข้อมูล ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564
  • มีผู้ติดเชื้อ จำนวน 112,209,815 ราย เสียชีวิต 2,490,776 ราย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 2.22 ส่งผลกระทบต่อประเทศ/เขตการปกครองพิเศษมากถึง 219 แห่งทั่วโลก
  • สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 25,809 ราย ติดเชื้อในประเทศ 23,056 ราย เป็นผู้ตรวจคัดกรองเชิงรุก 14,485 ราย ผู้เดินทางจากต่างประเทศ 2,753 ราย มีจำนวนผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 774 ราย รักษาหาย จำนวน 24,952 ราย คิดเป็นร้อยละ 96.70 ของจำนวนผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตจำนวน 83 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.32 ของจำนวนผู้ติดเชื้อ
 
กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม -สิงหาคม 2563 ของผู้ป่วย
ยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ประเทศไทย โดยวิเคราะห์ใน 5 ด้าน ได้แก่ เพศ กลุ่มอายุ
สัญชาติ/เชื้อชาติ อาชีพ และโรคประจำตัว พบว่า

จากจำนวนของผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด 19 ทั้งหมด 3,330 ราย
  • อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชาย เท่ากับ 1 : 1.25 มีผู้ป่วยหญิง 1,477 คน (ร้อยละ 44.35) และชาย 1,853 คน (ร้อยละ 55.65)
  • ผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ย 38.44 ปี (95%CI เท่ากับ 37.9-39.0 ปี) และมีค่ามัธยฐาน เท่ากับ 36 ปี (IQR เท่ากับ 27-49 ปี)
  • โดยอายุมากที่สุดคือ 96 ปี และอายุน้อยที่สุดคือ 1 เดือน
  • กลุ่มที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงที่สุด คือ กลุ่มอายุ 20-29 ปี (ร้อยละ 27.44) รองลงมาคือ 30-39 ปี (ร้อยละ 24.11) 40-49 ปี (ร้อยละ 18.52) 50-59 ปี (ร้อยละ 13.27) 60-69 ปี (ร้อยละ 6.90) ตามลำดับ
และพบว่าผู้ป่วยในกลุ่มอายุน้อยมักจะไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการของโรคน้อย เมื่ออายุผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสัดส่วนที่ไม่แสดงอาการของโรคจะลดลง

ผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด 19 มีทั้งหมด 52 สัญชาติ ผู้ป่วยมีสัญชาติไทย (ร้อยละ 89.69)

อาชีพของผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นผู้ป่วยยืนยัน ที่ไม่ได้อยู่ใน State quarantine ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ฟรีแลนซ์ ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว พนักงานบริษัท/พนักงานโรงงาน พนักงานในสถานบันเทิง นักเรียน/นักศึกษา ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ พ่อบ้าน/แม่บ้าน บุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น

ขณะที่อาชีพของผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด 19 ใน State quarantine ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน/นักศึกษา รองลงมาคือรับจ้างทั่วไป/ฟรีแลนซ์ กลุ่มที่ไม่ระบุอาชีพ พนักงานนวด/สปา เป็นต้น

หากแยกผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด 19 ทั้งหมดตามอาชีพที่จำแนกตามประเภทมาตรฐานอาชีพของกระทรวงแรงงาน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นอาชีพพนักงานบริการ/พนักงานขายในร้านค้าและตลาด รองลงมา คือ ไม่ระบุอาชีพ อาชีพพื้นฐาน (ไม่ต้องอาศัยความชำนาญด้านเทคนิค) นักเรียน/นักศึกษา และผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ (ต้องอาศัยความชำนาญด้านเทคนิค) ตามลำดับ

โรคประจำตัวในกลุ่มผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด 19 ทั้งที่ไม่ใช่ State quarantine และผู้ที่อยู่ใน State quarantine มักมีโรคประจำตัวเช่นเดียวกัน ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคไตเรื้อรัง มะเร็ง โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหลอดเลือดและสมอง

แต่สัดส่วนของผู้ป่วยมีอาการรุนแรง พบว่า
  • ในผู้ป่วยที่ไม่อยู่ใน State quarantine ส่วนใหญ่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไตเรื้อรัง และโรคมะเร็ง ตามลำดับ
  • ในขณะที่ผู้ป่วยที่อยู่ใน State quarantine ไม่มีผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต
  • เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงด้านโรคประจำตัว พบว่า โอกาสเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่เป็นโรคไต เบาหวาน โรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง ตามลำดับ
 
โดยสรุปข้อค้นพบที่สำคัญ คือ
  • ผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด 19 ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นช่วงวัยทำงานตอนต้น
  • แนวโน้มการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น เมื่อผู้ป่วยอายุเพิ่มขึ้น สังเกตได้จากอัตราป่วยตายจำแนกตามกลุ่มอายุ
  • กลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ ได้แก่ อาชีพบริการ รับจ้างทั่วไป/ฟรีแลนซ์ แต่ในกลุ่มที่อยู่ใน State quarantine พบว่าเป็นกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาเป็นหลัก ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต มักจะมีโรคประจำตัวมากกว่า 1 โรคขึ้นไป
  • โรคประจำตัวส่วนใหญ่ที่พบได้แก่ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง โดยกลุ่มที่มีอาการรุนแรง พบว่ามี โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไตเรื้อรัง และมะเร็ง
  • ผู้ป่วยที่อยู่ใน State quarantine มีอาการของโรคที่รุนแรงน้อยกว่าผู้ป่วยที่ไม่อยู่ใน State quarantine
  • จากการวิเคราะห์ Odd’s Ratio ของผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด 19 ร่วมกับโรคไต เบาหวาน โรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง จะเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ
 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด