โดยได้เล่าให้ฟังถึงข้อมูลที่เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ (Science) จนกระทั่งถึงการศึกษาของคณะผู้วิจัยจากจอห์นส์ ฮอปกินส์ ในวารสารทางสมาคมแพทย์อเมริกันทางจิตเวช ในการประเมินการรักษาอาการหดหู่ ซึมเศร้าและวิตกกังวล โดยใช้สารสกัดจากเห็ดขี้เมา และพบว่า ได้ประโยชน์มากกว่ายาซึมเศร้าที่ใช้เป็นมาตรฐานประมาณสี่เท่า โดยเป็นการศึกษาควบคุมอย่างรัดกุม และไม่พบผลข้างเคียงหรือผลแทรกซ้อน และผลดีที่ได้รับนั้นสามารถทอดยาวต่อเนื่องไปได้ถึงสี่สัปดาห์หลังการรักษา และกว่าครึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่าโรคสงบ (Remission)
โรคหรือภาวะหดหู่ ซึมเศร้า เป็นสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ และมีผลกระทบอย่างมหาศาล ไม่ใช่แต่ตนเอง แต่รวมถึงคนรอบข้างและครอบครัวและสังคม ทั้งนี้ในประเทศตะวันตก ซึ่งน่าจะรวมถึงในประเทศไทย จะมีการสั่งจ่ายยาบรรเทาอาการหดหู่ ซึมเศร้ามากมายอยู่แล้ว และมากขึ้นอย่างมหาศาลโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยาหดหู่ซึมเศร้าทั้งหลายนั้นกลับได้ผลไม่มากนัก ตามที่สรุปในรายงานต่างๆจากบทความที่จะกล่าวต่อไปทางด้านล่าง และสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบการรักษา ที่ต้องการมุ่งเป้าที่ระดับและตำแหน่งต่างกันออกไป
ผู้ป่วยโรคหดหู่จะมองโลกในแง่ร้าย ขาดความยืดหยุ่น ทั้งในกระบวนการของความคิด และมีแรงโน้มที่จะยึดติดอยู่กับสภาวะทางปัญญาในรูปแบบเดิมๆ (attractor states)
การศึกษาวิจัยโดยใช้กระบวนการประมวลภาพการทำงานของสมอง (Neuroimaging) ในโรคซึมเศร้าหดหู่นี้ มีรากฐานจากการที่ในสมองของผู้ป่วยมี default mode network (DMN) ซึ่งเป็นเครือข่ายการทำงานของสมองมนุษย์ เมื่อเผชิญกับสภาวะภายนอก แต่จะตอกย้ำซ้ำซากวนเวียนอยู่กับความรู้สึกนึกคิดของตนเอง และไปกระทบกับเครือข่ายสมอง ในด้านการปฏิบัติงาน (Executive network-EN) และการลำดับความสำคัญของการงาน และปัญหา (Salience network-SN) ซึ่งเป็นหัวใจในการดำรงชีวิตอย่างปกติ
ซึ่งมนุษย์ต้องมีความสามารถที่จะเปลี่ยนปิด-เปิดสวิตช์ (automatic switching) ระหว่างการ เอาใจใส่แต่ตัวเองแต่ต้องเปิดรับได้ เพื่อให้สัมพันธ์คล้องจองกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบด้าน
รูปแบบการทำงานดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับ serotonin 2 A (5 HT-2A) receptor subtype และตัวนี้เองเป็นตัวโปรติโอมิคที่สำคัญที่ยาหรือสาร Psilocybin ที่พวกเราชอบเรียกกันว่าเป็นยาไซคีเดลิค หลอนประสาท เคลิ้มจิตท่องจักรวาล แม้กระทั่งแนวเพลงเช่นนี้ที่ได้ฉายาว่า Psychedelic rock ในช่วงกลางทศวรรษ 1960 ก็ได้รับอิทธิพลมาจนเกิดเป็นแนวโปรเกรสซีฟ เอกซ์เพอริเมนต์ร็อก อาร์ทร็อก ศิลปิน เช่น แฟรงค์ แซปปา จิมี เฮนดริกซ์
แม้กระทั่งเพลงของวงบีทเทิลส์ Sgt Peppers lonely hearts club band และ magical mystery tour และวงเดอะดอร์ส โรลลิงสโตนส์ ในอัลบั้ม Their Satanic majesties request เป็นต้น
ตัวรับหรือรีเซ็ปเตอร์ ดังกล่าว ที่จับกับสารเคลิ้มจะกระจายตัวอยู่อย่างหนาแน่นในส่วนเปลือกสมอง (cortex) และเชื่อมโยงในลักษณะเครือ ข่ายเป็นแผนที่ระหว่าง DMN EN และ SN
ในช่วงระยะเวลา 15 ปี ที่ผ่านมา มีการศึกษาทางคลินิก (clinical trials) โดยการใช้สาร Psilocybin อย่างน้อยหกรายงาน และทุกรายงานแสดงถึงการรักษาที่ได้ผล ในการบรรเทาและระงับอาการหดหู่ ซึมเศร้า ในผู้ป่วยที่ดื้อ ต่อยารักษามาตรฐาน และในหลายรายงานเป็นการเปรียบเทียบ ผลการรักษาระหว่างยามาตรฐาน ที่เพิ่มระดับของเซโรโทนินด้วย (serotonin reuptake inhibitor- SSRI) โดย Psilocybin ได้ผลดีกว่า
การศึกษาวิจัยที่รายงานในวารสารเนเจอร์ วันที่ 11 เมษายน 2565 โดยการใช้ psilocybin ที่ได้จากเห็ดขี้เมาในการรักษาโรคซึมเศร้าจาก Imperial College และ Kings College London ศูนย์ Neuroimaging Sciences ที่ทำการศึกษาสมอง ทั้งทางด้านโครงสร้างและหน้าที่และการประมวลควบรวม การทำงานของส่วนต่างๆ ในสภาพการเกิดโรค และจากการกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าต่างกัน (Functional neuroimaging-fMRI) สนับสนุนว่า Psilocybin ออกฤทธิ์ โดยผ่านกระบวนการตัวจับรับนี้
และส่งผลทำให้มีการปรับการใช้ภูมิทัศน์ของพลังงานอย่างพอเพียง ในสมองที่กว้างขึ้นและเสถียรขึ้น (flatter global energy landscape) เสมือนทำให้เซลล์ประสาท ในส่วนต่างๆมีการพูดคุยกันมากขึ้น อย่างเป็นอิสระ โดยที่ยามาตรฐานที่ใช้กันอยู่ ทั้ง SSRI และ escitalopram ไม่มีผลดังกล่าว
ในการศึกษานี้ รวมผู้เข้าร่วมเกือบ 60 รายด้วยกัน ที่มีโรคหดหู่ ซึมเศร้า และดื้อยา โดยการศึกษาแรกเป็นการศึกษาแบบเปิด โดยใช้ Psilocybin ขนาด 10 และ 25 มิลลิกรัม ห่างกันเจ็ดวัน โดยผู้ป่วยดื้อต่อการรักษามาตรฐานแบบปัจจุบัน และการศึกษารูปแบบการทำงานของสมองด้วย fMRI จะทำตั้งแต่วันแรกและหนึ่งวันหลังจากที่ใช้ขนาด 25 มิลลิกรัมโดยมีการบันทึกระดับความรุนแรงของความหดหู่ ซึมเศร้า โดยใช้ Beck’s depression inventory measure
การศึกษาที่สองนั้น เป็นรูปแบบที่ผู้ให้และผู้รับยาไม่ทราบ (Double-blind phase II randomized controlled trial) โดยมียามาตรฐาน escitalopram เทียบกับ Psilocybin และผู้ป่วยเป็นโรคหดหู่ ซึมเศร้า (Major depressive disorder) โดยในกลุ่มแรกได้รับ Psilocybin ขนาด 2×25 มก. ห่างกันสามอาทิตย์ แล้วต่อด้วยหกอาทิตย์ซึ่งเป็นยาหลอก (placebo) และในอีกกลุ่มหนึ่ง ได้รับยา Psilo cybin ขนาด 2×1 มก. ห่างกันสามอาทิตย์และต่ออีกหกอาทิตย์ด้วยยา escitalop ram ขนาด 10 ถึง 20 มิลลิกรัมตามความเหมาะสม
โดยทำ fMRI ตั้งแต่วันแรกและสามอาทิตย์หลังจากโดสที่สองของ Psilocybin
ในทั้งสองการศึกษา ผลของการบรรเทาความหดหู่ ซึมเศร้าด้วย Psilocybin จะรวดเร็วและทอดยาว โดยมีความสัมพันธ์กับการทำงาน เชื่อมโยงของสมอง…โดยคนที่มีอาการดีขึ้น มีการเชื่อมโยงการทำงานของสมองส่วนต่างๆ เกิดขึ้นอย่างชัดเจน และไม่ใช่เกิดขึ้นในระหว่าง การรักษาเท่านั้น ยังมีผลในระยะยาวไปอีกอย่างน้อยสามอาทิตย์ และซึ่งจะมีการติดตามต่อในระยะยาวต่อไป
ลักษณะของการที่สามารถเปิดความเชื่อมโยงการทำงานของสมองในส่วนต่างๆนี้ แตกต่างกันอย่างชัดเจนกับฤทธิ์ของยาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และน่าจะเป็นเครื่องแสดงว่า การที่ Psilocybin มีผลดีกว่าเป็นเพราะกลไกของยานั้นออกฤทธิ์ในส่วนสมองที่เจาะจงกว่า ในลักษณะของเครือข่าย และเป็นสาเหตุที่สำคัญของหดหู่ ซึมเศร้า และทำให้การทำงานของสมองมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีความยืดหยุ่นขึ้น โดยลดรูปแบบของความคิดลบ ที่โยงไปเกี่ยวข้องกับอาการหดหู่ ซึมเศร้า
ผู้วิจัยอาวุโสหลักของรายงานนี้ คือศาสตราจารย์ Carhart-Harris ยังได้ให้สัมภาษณ์อีกว่า กลไกที่ยาไซคีเดลิคออกฤทธิ์นี้น่าจะตอบสนอง ตอบโจทย์กับโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น anorexia ภาวะไม่กินอาหารจนขาดอาหาร และอาจรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิตหรือแม้กระทั่งภาวะเสพติดต่างๆ
ในบทสรุปท้ายสุดนี้ แม้ว่าผลที่ได้รับจากสารเห็ดขี้เมา จะเป็นเหมือนการเปิดประตูให้เข้าใจการทำงานของสมอง ที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม และเกิดเป็นภาวะหรือเป็นโรคที่บั่นทอนชีวิต และสามารถที่จะใช้เป็นยารักษาได้
แต่ในปัจจุบัน การรักษาในรูปแบบดังกล่าวนี้ ยังคงต้องใช้สารที่มีการเตรียม ในปริมาณที่คงที่ เหมาะสม ตลอดจนมีการควบคุม ติดตามดูแลจากแพทย์ด้วยนะครับ
หมอดื้อ