ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สมาคมซาเล้ง ยื่นกทม.12 แนวทางแก้ปัญหาวงจรขยะรีไซเคิล

สมาคมซาเล้ง ยื่นกทม.12 แนวทางแก้ปัญหาวงจรขยะรีไซเคิล Thumb HealthServ.net
สมาคมซาเล้ง ยื่นกทม.12 แนวทางแก้ปัญหาวงจรขยะรีไซเคิล ThumbMobile HealthServ.net

ข้อเรียกร้องที่สมาคมเสนอฯ อาทิ ออกกฎหมายนิรโทษกรรม เปิดลงทะเบียนร้านรับซื้อของเก่าให้ถูกต้อง ให้ร้านรับซื้อของเก่าจดทะเบียนร้านค้าได้ ให้ขึ้นทะเบียนทำประวัติซาเล้ง สามล้อรับซื้อของเก่า อบรมมีใบประกาศ ทำแอพช่วยเข้าถึงขยะในชุมชนได้ง่าย แก้ปัญหาขยะกำพร้า เศษวัสดุที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ กำหนดวันเก็บขยะระหว่างขยะเปียกและขยะแห้งเพื่อนำไปรีไซเคิล ส่งแรงจูงใจและระเบียบวินัยแก่ชุมชนกทม.

17 ส.ค.65 เวลา 13.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า เพื่อหารือแนวทางการจัดการมูลฝอยและข้อปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย นายชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า นายฉัตรณพัฒน์ เทียนมงคล อุปนายกผู้แทนสมาคม ผู้แทนร้านรับซื้อของเก่า กรรมการสมาคม ผู้แทนกลุ่มซาเล้ง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องอัมรินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร


 

12 ข้อเสนอ





 
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า วันนี้กทม.รับข้อเรียกร้องจากสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า (Saleng and Recycle Trader Association) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาวงจรขยะรีไซเคิลให้กับซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งเป็นปัญหามาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยข้อเสนอการแก้ไขปัญหา 12 ข้อ มีดังนี้


 
1. จัดโครงการขึ้นทะเบียนซาเล้ง-อาชีพรับซื้อของเก่า

จัดโครงการขึ้นทะเบียนซาเล้ง, สามล้อ สี่ล้อ ที่มีอาชีพรับซื้อของเก่า พร้อมทำประวัติ ฝึกอบรมแจกใบประกาศ แจกเสื้อทีม, แจกตราชั่งขนาด 60 กก.สำหรับชั่งซื้อขยะ ให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมครบหลักสูตร


 
2. เปิดโอกาสเข้าให้บริการกับซาเล้งที่ผ่านการฝึกอบรม

เปิดโอกาสให้ซาเล้งที่ผ่านการฝึกอบรม สามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าเก็บขยะรีไซเคิลตามหมู่บ้าน คอนโดฯ และสถานที่ที่กทม.กำหนด

 
 
3.กำหนดสีของถุงใส่ขยะเปียกและขยะแห้ง

โดยขยะเปียกใส่ถุงสีดำ ขยะแห้ง (รีไซเคิลได้)ใส่ถุงสีใส เพื่อลดระยะเวลาและลดปัญหาการฉีกถุงเพื่อค้นขยะ ป้องกันการเลอะเทอะสกปรก

 
 
4. มีแอพหรือแพลตฟอร์มรองรับ

เชื่อมต่อแอพพลิเคชั่นหรือแพลตฟอร์ม เกี่ยวกับขยะรีไซเคิลให้ลิงค์เข้าหากัน เพื่อให้ซาเล้งหรือร้านรับซื้อของเก่าสามารถเข้าถึงขยะจากชุมชนได้ง่าย

 
 
5. แก้ปัญหาขยะกำพร้า 

ปัจจุบัน ปัญหาขยะกำพร้า หรือขยะ/เศษวัสดุที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้  มีจำนวนมากและเป็นปัญหาส่วนหนึ่งที่สร้างปัญหาน้ำท่วม ขอให้กทม.ช่วยจัดจุดรับ  50 เขต เพื่อให้ชุมชน ซาเล้ง หรือร้านรับซื้อของเก่า สามารถนำมาฝากไว้และทางกทม.สามารถรวบรวมเพื่อนำไปเข้ากระบวนการขายเป็นขยะ RDF ให้กับโรงปูนเพื่อทำเชื้อเพลิง หรือประสานให้เอกชนมารับประมูลต่อไป

 
 
6. สอนเด็กเรียนรู้การแยกขยะในโรงเรียนของกทม.

กำหนดให้โรงเรียนในสังกัดกทม. บรรจุวิชาขยะรีไซเคิล เพื่อสอนให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้การแยกขยะชนิดต่าง ๆ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นแรงกดดันให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องปฏิบัติตาม





 
7. กำหนดวันเก็บขยะ

ระหว่างขยะเปียกและขยะแห้งเพื่อนำไปรีไซเคิล ส่งแรงจูงใจและระเบียบวินัยแก่ชุมชนกทม.





 
8. บรรจุภัณฑ์สามารถรีไซเคิลได้ 100% เท่านั้น

ส่งเสริมให้หน่วยงานในกทม.ทั้งหมด บริโภคสินค้าต่าง ๆ ที่ใส่บรรจุภัณฑ์สามารถรีไซเคิลได้ 100% เท่านั้น เพื่อกดดันให้ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงมากกว่ากำไรที่ได้



 
9. คิดค้นถังหมักขยะราคาถูก

หมักขยะเปียกได้ภาย 24 ชม. ให้ประชาชนเข้าถึงได้ เพื่อเปลี่ยนเป็นดินปลูกต้นไม้ต่อไป ซึ่งในปัจจุบันราคาแพงมากประมาณกว่า 50,000 บาท



 
10. แก้กฏหมาย/นิรโทษ

ปัจจุบันกทม.มีร้านรับซื้อของเก่า (ขยะรีไซเคิล) กระจายทั่วไป แต่มีจำนวนมากที่ไม่สามารถจดทะเบียนเป็นร้านค้าได้ เนื่องจากติดกฎหมายผังเมือง ขอให้ผู้ว่าฯกทม.ช่วยออกกฎหมายนิรโทษกรรมและเปิดลงทะเบียนร้านรับซื้อของเก่าให้ถูกต้อง สามารถมาทำงานร่วมกับกทม.ได้อย่างเปิดเผย โดยมีเงื่อนไข คือ ร้านค้าต้องปรับตัว แก้ไขปัญหาวางสินค้าให้ถูกต้อง ปรับปรุงเรื่องเสียง ควัน น้ำทิ้ง และสร้างภาพลักษณ์ของหน้าร้าน เช่น รั้ว กำแพง เพื่อโชว์ภาพให้มองดูสวยงามสะอาดตา สามารถขึ้นป้ายรณรงค์ในการรับซื้อหรือข้อความอื่น ๆ ที่กทม.กำหนด โดยมีโลโก้กทม. กรมควบคุมมลพิษ สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า มีชื่อร้านค้าตนเองโดยป้ายนี้มีขนาดใหญ่สุด 1.20X2.40 เมตร สามารถได้รับการยกเว้นภาษีป้ายได้ด้วยเป็นกรณีพิเศษ



 
11. ห้ามเจ้าหน้าที่เรี่ยไร

ขอให้ออกหนังสือเวียนทุกสำนักงานเขต ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ออกหนังสือเรี่ยไรเงินตามกิจกรรมต่าง ๆ ทุกกิจกรรม



 
12. สนับสนุนแรงงานซาเล้ง

แรงงานซาเล้ง คือ แรงงานฟรี ไม่ต้องเสียเงินจ้าง เพียงแค่สนับสนุนเครื่องมือประกอบอาชีพและเปิดโอกาสให้


 
สมาคมซาเล้ง ยื่นกทม.12 แนวทางแก้ปัญหาวงจรขยะรีไซเคิล HealthServ
 

ธุรกิจมูลค่าแสนล้าน


 
" มูลค่าของการรับซื้อของเก่าทั่วประเทศ คือกว่าสามแสนล้านบาท ซึ่งมีซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการนั้น โดยในกรุงเทพฯมีสมาชิกซาเล้งกว่า 30,000 คน ซึ่งต้องถือว่าเป็นซาเล้งช่วยชาติ เพราะเป็นผู้นำขยะไปรีไซเคิล ลดกระบวนการเก็บขยะโดยไม่เสียค่าจ้าง การมีอยู่ของซาเล้งจึงเป็นประโยชน์ต่อการดูแลขยะของเมือง เพราะฉะนั้นในภาพรวมถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะทำความเข้าใจกับธุรกิจนี้ เพื่อให้กระบวนการรีไซเคิลสมบูรณ์แบบมากขึ้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งภาพรวมคือการจัดระบบการกำจัดขยะของเมืองโดยการหาแนวทางร่วมกัน โดยกทม.จะดูแลในหน้าที่ความรับผิดชอบ เช่น การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการร้านรับซื้อของเก่า การลงทะเบียนผู้ประกอบอาชีพขับซาเล้ง เป็นต้น เพื่อควบคุมคุณภาพในเรื่องที่เกี่ยวข้อง โดยเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมืองที่เราอาจจะขาดการดูแลซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดขยะของเมือง" ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว




 

การคัดแยกขยะเป็นปัญหา


นายพรพรหม กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาหลักในปัจจุบันคือขยะเปียกหรือเศษอาหารเมื่อรวมกับขยะแห้งแล้ว ทำให้การคัดแยกขยะทำได้ยาก ในปัจจุบันเราริเริ่มการแยกขยะเปียกและขยะแห้งเพื่อลดขั้นตอนในการแยกขยะไปรีไซเคิลแล้วใน 3 เขตต้นแบบ ได้แก่ เขตปทุมวัน เขตพญาไท และเขตหนองแขม ซึ่งจะเริ่ม Kick Off ในวันที่ 4 ก.ย.นี้ โดยจะเริ่มจากเส้นทางนำร่องในแต่ละเขตก่อน เช่น เส้นทางที่มีร้านอาหารมาก ลำดับต่อไปประมาณเดือน พ.ย.- ธ.ค. จะเก็บในลักษณะนี้ทั้งพื้นที่แขวง และประมาณต้นปีหน้าก็จะดำเนินการแบบนี้ทั้งพื้นที่เขต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนกรุงเทพฯ ให้คนกรุงเทพฯมั่นใจว่า เมื่อคัดแยกขยะจากบ้านแล้วเจ้าหน้าที่ กทม. จะไม่นำขยะไปเทรวมกันอีก  ซึ่งรถขยะที่ไปเก็บขยะดังกล่าวจะมีที่เก็บสำหรับการคัดแยกขยะเปียกและขยะแห้งอย่างเป็นสัดส่วน
 
"การคัดแยกขยะเป็นเรื่องท้าทาย เพราะเราต้องเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่ต้นทางคือผู้บริโภค กลางทางคือการทำงานของเจ้าหน้าที่กทม. และปลายทางคือเราจะนำขยะเปียกไปทำอะไร กทม.จึงอยากสนับสนุนนโยบายถังหมักขยะราคาถูกเพื่อทำปุ๋ยหมัก ซึ่งเป็นมาตรการลดรายจ่าย ส่งเสริมรายได้ เนื่องจากสามารถนำปุ๋ยหมักมาปลูกผักรับประทานได้ด้วยตนเอง เป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับเมืองได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนให้ประชาชนคัดแยกขยะรีไซเคิลตามนโยบาย " ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าวเสริม




 

เชิญชวนร้านรับซื้อของเก่าและรถซาเล้งขึ้นทะเบียน

ด้านนายกสมาคมซาเล้งฯ กล่าวว่า อยากเชิญชวนร้านรับซื้อของเก่าและรถซาเล้งที่เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ในแต่ละพื้นที่ ให้มาขึ้นทะเบียนกับกทม.และสำนักงานเขต รวมถึงอยากให้กทม.ส่งเสริมการจัดประกวดร้านรับซื้อของเก่า ที่มีการจัดวางร้านสวยงาม ไม่สกปรก มีที่จอดรถ มีการประดับตกแต่งร้านด้วยต้นไม้ รวมถึงไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ชุมชน เป็นต้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพรับซื้อของเก่าให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกทม เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่สวยงามขึ้นและเป็นที่ยอมรับของคนกรุงเทพฯ รวมถึงการจัดโซน ในพื้นที่กรุงเทพฯให้เป็นย่านร้านรับซื้อของเก่า เพื่อเป็นจุดรับขยะจากรถซาเล้ง นอกจากนี้ยังอยากให้กทม.แก้ไขปัญหาเรื่องขยะกำพร้าที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น ขวดน้ำดื่มบางยี่ห้อ ขวดนมบางยี่ห้อ ซึ่งจะกลายเป็นขยะที่อุดตันทางระบายน้ำในแม่น้ำลำคลอง โดยให้กทม.กำหนดจุดที่สามารถนำไปนำขยะกำพร้าเหล่านี้ไปทิ้งได้ เพื่อเป็นการรวบรวมให้กทม.นำไปสู่กระบวนการRDFหรือเผาทำลายต่อไป
 
"ความจริงเราควรมองว่าขยะคือทอง เนื่องจากสามารถนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานได้หากเรามีกระบวนการและการบริหารจัดการที่ดี  ซึ่งในปัจจุบันขยะของกทม.ยังใช้การฝังกลบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเสียต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการขยะแพง หากเราสามารถ ลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้และยังสามารถ สร้างรายได้ให้กับผู้อื่น ได้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีต้องขอขอบคุณท่านนายกสมาคมฯ ที่พาทีมงานมาชี้แจงปัญหาต่างๆ ซึ่งกทม.จะนำปัญหาเหล่านี้เข้าสู่ระบบวงจรการดูแลบริหารจัดการขยะของกรุงเทพฯต่อไป " ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวขอบคุณ

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด