จุดเริ่มต้นในปี 2557 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้นำในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวกล้องเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า “ธัญโอสถ” เช่น ข้าวที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง คือ สีนิล(เจ้าหอมนิล),ข้าวไรซ์เบอร์รี่, ข้าวที่มีธาตุเหล็กสูงดัชนีน้ำตาลปานกลางเช่น ข้าวสินเหล็ก และได้ร่วมงานกับสถาบันโภชนาการชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยมหิดลในการศึกษา เชิงโภชนาการบำบัดของผลิตภัณฑ์ข้าวโภชนาการสูงเหล่านี้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ประกอบกับรสสัมผัสที่ยอดเยี่ยมและสีที่โดนเด่นจึงทำให้ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว (สนับสนุนโดยคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ)
ในช่วงเวลาเดียวกันทีมนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวแห่งมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ยังได้สร้างพันธุ์ข้าวหอมนาชลประทานที่รวมยีนกว่า 10 ตำแหน่ง มารวมไว้ในข้าวหอมปิ่นเกษตร+4 ที่มีผลผลิตสูงกว่า 1 ตันต่อไร่ และมีดัชนีน้ำตาล ต่ำกว่าข้าวบัสมาติที่มีชื่อเสียงของอินเดีย ข้าวหอมปิ่นเกษตร+4จะเป็นความหวังของชาวนาในเขตชลประทานที่ต้องการพันธุ์ข้าวที่มีเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
กุญแจดอกที่หนึ่ง
การปลูกข้าวให้เป็นธัญโอสถ นับว่าเป็นกุญแจสู่การตลาดข้าว Premium ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงสุดจากจากมือเกษตรกร เกษตรอินทรีย์เป็นระบบการปลูกข้าวที่ให้คุณภาพสูง เพราะมีความละเอียดอ่อนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้เกษตรได้มากที่สุด ผลผลิตข้าวอินทรีย์จึงมีคุณภาพที่อุดมไปด้วยธาตุอาหารรอง, สารต้านอนุมูลอิสระ และ metabolites ที่เสริมความแข็งแรงตามธรรมชาติของมัน แต่อย่างไรก็ตาม การปลูกข้าวอินทรีย์จำเป็นต้องเริ่มจากชาวนาที่มี “อุดมคติ” จึงจะสำเร็จได้ ในปัจจุบันชาวนาที่มีอุดมการณ์เหล่านี้ได้ถูกระบบการจำนำราคาข้าว ทำลายไปเป็นจำนวนมากอย่างน่าเสียดาย
กุญแจดอกที่สอง
คือ การจัดตั้งโรงสีข้าวธัญโอสถในมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการแปรรูปขนาดกลางที่เหมาะสมกับปริมาณการผลิตข้าว ธัญโอสถจากระบบเกษตรอินทรีย์(economy of scale) ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ข้าวบรรจุถุงสำเร็จที่มีคุณภาพสูงสู่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องจนสามารถ สร้างผลกระทบทางพฤติกรรมของผู้บริโภคและการเติบโตของตลาดอย่างต่อเนื่อง
กุญแจดอกที่สาม
คือ การพัฒนาการตลาดจำเพาะโดยเริ่มจากการวางตำแหน่งของสินค้าในตลาดยอย่างเหมาะสม ด้วยจุดขายที่สำคัญ คือ สีสันที่โดดเด่นมีงานวิจัยด้านคุณค่าทางโภชนาการบำบัด รวมกับรส สัมผัสของข้าวกล้องที่นุ่มนวล กลิ่นหอมเฉพาะตัวจึงทำให้ข้าวไรซ์เบอร์รี่มีตำแหน่งสูงสุดของตลาดข้าวถุงของไทยในปัจจุบัน
กุญแจดอกที่สี่
คือ การดำรงให้ระบบการปลูกข้าวอินทรีย์ที่ประณีต ยั่งยืนต่อไป จำเป็นต้องพัฒนากลไกทางเศรษฐกิจสังคมที่ยุติธรรมมาขับเคลื่อน สินค้าสู่ตลาด premium พร้อมทอนกำไรจากการตลาดสู่มือ ของเกษตรกรและชุมชนของเขา ดังนั้นเราจึงประยุกต์เอา Social business ร่วมกับ Fair trade และ Contract farming มาขับเคลื่อนองค์กรอันประกอบด้วย “หน่วยงานราชการ”(ธนาคารเพื่อการเกษตรและ สหกรณ์(ธ.ก.ส.) สหกรณ์การตลาด(ส.ก.ต.)และศูนย์พัฒนาที่ดิน) “เกษตรกร” (วิสาหกิจชุมชน เกษตรอินทรีย์ต่างๆ) และ “สถาบันการศึกษาและมูลนิธิ” (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ มูลนิธิเพื่อน พึ่ง(ภาฯ)ยามยาก) ได้ร่วมกันพัฒนา “โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์แบบครบวงจรจากเกษตรกรสู่ผู้บริโภค”ซึ่งมีรูปแบบคล้าย Social enterprise ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกแบบอินทรีย์ที่อยู่ใน โครงการประมาณ 3,000-5,000 ไร่ และพื้นที่นอกโครงการจำนวนมาก พื้นที่ปลูกกว่า 70% อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าทุกภาค
ผลผลิตนาข้าวในเขตชลประทานที่ประสบปัญหาจากการแข่งขันในตลาดโลกสูงที่สุด เพื่อให้เป็นทางเลือกใหม่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เป็นแกนนำในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่มีผลผลิตสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีเอกลักษณ์ในเชิงโภชนาการบำบัด นั่นคือ ข้าวขาวดัชนีน้ำตาลต่ำ(สนับสนุนโดย สำนักงานวิจัยการเกษตร)ซึ่งถูกออกแบบให้ผู้บริโภคที่มีปัญหาในการป้องกันเบาหวาน ประเภทที่ 2 หันมาบริโภคข้าวขาวหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวปิ่นเกษตร+4 เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว,ข้าวนึ่ง, อาหารอบกรอบต่างๆ ดัชนีน้ำตาลในข้าวปิ่นเกษตร+4 จากการทดลองในมนุษย์ พบว่ามีดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าข้าวบัสมาติอย่างชัดเจน ด้วยขนาดและรูปร่างของเมล็ดที่ยาวเรียว,กลิ่นหอม, ผลผลิตสูงและต้านทานโรค/แมลงดีเด่น ทำให้ข้าวปิ่นเกษตร+4เป็นที่สนใจ ในการสร้างโมเดลธุรกิจเชิงสังคมขึ้นมาอีกอัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของข้าวของไทยในการตลาดโลกต่อไป
บทความ โดย รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร
ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว