ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพ รวมโปรแกรมสุขภาพ บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิดบริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event Health Economy ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

10 ข้อควรรู้ ก่อนฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย ด้วยจำนวนผู้ป่วยรายใหม่กว่า 6,000 คนต่อปี สาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 7 คน/วัน มะเร็งที่ทำให้ผู้หญิงทั่วโลกเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 2

10 ข้อควรรู้ ก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีนเอชพีวี เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก
 
มะเร็งปากมดลูก …..สถิติที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน ของผู้หญิงทั่วโลก 
  • โรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย ด้วยจำนวนผู้ป่วยรายใหม่กว่า 6,000 คนต่อปี
  • สาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 7 คน/วัน
  • มะเร็งที่ทำให้ผู้หญิงทั่วโลกเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 2

10 ข้อควรรู้ 

 1. ทำไม “วัคซีนเอชพีวี” จึงสามารถป้องกันเราจากมะเร็งปากมดลูกได้
เนื่องจากสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกต่างจากมะเร็งชนิดอื่น ๆ เพราะไม่ได้มาจากกรรมพันธุ์ แต่เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า HPV ( Human Papillomavirus) ซึ่งติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก โดยเชื้อไวรัสจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงเซลล์บริเวณปากมดลูก ทำให้กลายเป็นเซลล์เนื้อร้าย หรือมะเร็ง การฉีดวัคซีน เอชพีวี จึงเป็นการป้องกันต่อการติดเชื้อเอชพีวีชนิดสำคัญซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูกประมาณ 70% ดังนั้นผู้หญิงที่ได้รับวัคซีนเอชพีวีจึงสามารถลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ได้ถึง 70%


 
2. เราจำเป็นจะต้องตรวจหาเชื้อเอชพีวีก่อนรับการฉีดวัคซีนหรือไม่ ?
ตามคำแนะนำของคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งสหรัฐอเมริกานั้น หญิงสาว ที่ไป รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่เรียกว่า “ แปปสเมียร์” ( Pap Smear Test) เป็นประจำและไม่พบผลผิดปกติใด ๆ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจหาเชื้อเอชพีวีก่อนการได้รับวัคซีน เพราะปัจจุบันยังมีข้อจำกัดของเครื่องมือ และสถานพยาบาลที่สามารถให้บริการได้ ทำให้การตรวจหาภาวะการติดเชื้อเอชพีวีโดยระบุสายพันธุ์ เป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก และมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการรับฉีดวัคซีน ในกรณีที่มีผลการตรวจ “ แปปสเมียร์” ที่ผิดปกติ แพทย์จะให้คำแนะนำในการรักษาให้หายก่อนแล้วจึงรับการฉีดวัคซีน ได้ตามปกติ อย่างไรก็ดีหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว ก็ยังจำเป็นที่จะต้องตรวจ “แปปสเมียร์” อย่างสม่ำเสมอ เหมือนเดิม เพราะว่าวัคซีนเอชพีวีไม่สามารถ ให้การป้องกันครอบคลุมเชื้อเอชพีวีชนิดอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ทั้งหมด 


 
3. วัคซีนเอชพีวี สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ 100 % หรือไม่ ?
การค้นพบข้อเท็จจริงว่า มะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุมาจากเชื้อเอชพีวี 99.7% ซึ่งเป็นไวรัสที่ ติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก ทำให้มีการพัฒนาการเป็นวัคซีนเอชพีวีซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อชนิดสำคัญที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้ 70% ดังนั้น จึงยังมีเชื้อ เอชพีวีบางส่วนที่วัคซีนนี้ยังไม่สามารถให้การป้องกันได้ อย่างไรก็ดี หญิงสาวจะได้รับประโยชน์เต็มที่จากการฉีดวัคซีนดังกล่าวในกรณี ที่ยังไม่เคยสัมผัสกับเชื้อเอชพีวีชนิดที่มีอยู่ในวัคซีนมาก่อน วัคซีนเอชพีวีที่ผลิตได้สำเร็จเป็นตัวแรก และได้รับการรับรองใช้ในกว่า 80 ประเทศทั่วโลกแล้วนั้น สามารถครอบคลุมเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการการเกิดโรคมะเร็งปากกมดลูก มะเร็งช่องคลอด และมะเร็งปากช่องคลอดประมาณ 70% และยังสมารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 6 และ 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหูดบริเวณอวัยวะเพศประมาณ 90% 


 
4. ผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว จะยังสามารถฉีดวัคซีนเอชพีวีได้หรือไม่ ?
สำหรับผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้วก็ยังคงสามารถพิจารณาฉีดวัคซีนเอชพีวีได้ เพียง แต่อาจจะไม่ได้รับประสิทธิภาพ สูงสุดในการป้องกันจากวัคซีน เมื่อเทียบกับผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน อย่าไรก็ดี เนื่องจากวัคซีนสามารถให้การป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีได้หลายสายพันธุ์ถึงแม้จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวีไปแล้ว ก็ยังได้รับประโยขน์จากการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีในบางสายพันธุ์อื่น ๆ ที่มีอยู่ในวัคซีนได้อีก 


 
5. แนะนำการฉีดวัคซีนเอชพีวี ในช่วงอายุใดจึงจะเหมาะสมที่สุด ?
เนื่องจากวัคซีนเอชพีวี นี้จะให้ประสิทธิภาพสูงสุดในกรณีที่ยังไม่เคยมีการสัมผัสกับเชื้อซึ่ง เป็นสาเหตุหลักของโรคมาก่อน ดังนั้น จึงเป็นวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดในเด็กหญิง หรือหญิงสาววัยรุ่น ซึ่งนับเป็นการป้องกันล่วงหน้าก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ตามข้อแนะนำของคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน แห่งสหรัฐอเมริกานั้นได้ให้การรับรองการใช้ในเด็กหญิง และหญิงสาวอายุ 9-26 ปีว่า วัคซีนสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์หลักคือ 16 และ 18 ได้อย่างมีประสิทธิภาพในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อ ดังกล่าวมาก่อน และในอีกหลายประเทศชั้นนำก็มีการพิจารณาให้วัคซีนนี้เป็นวัคซีนภาคบังคับที่ให้ในเด็กหญิงและหญิงวัยรุ่นอายุช่วง 11-12 ปี ซึ่งนับเป็นการป้องกันก่อนที่จะมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อ เนื่องจากโดยสถิติของการติดเชื้อเอชพีวีทั่วโลกนั้นพบว่า ช่วงอายุที่พบการติดเชื้อมากที่สุดคือ 18-28 ปี และเชื้อเอชพีวีอาจใช้เวลาในการก่อตัวนานนับ 10 ปีก่อนที่จะปรากฏอาการผิดปกติและกลายเป็นมะเร็งในเวลาต่อมา ซึ่งนับเป็นเหตุผลในการอธิบายว่า ผู้ป่วยโรคนี้ที่มักจะมีอายุในช่วง 35 –50 ปี นั้น ที่แท้จริงแล้วอาจเริ่มมีภาวะการก่อตัวของโรคนี้ตั้งแต่ในช่วงวัยสาว 


 
6. วัคซีนชนิดนี้มีความปลอดภัยสำหรับการฉีดในเด็กหญิงมากน้อยเพียงใด ?
ผลการวิจัยได้ยืนยันว่า วัคซีนชนิดนี้มีความปลอดภัยสูง เพราะเป็นวัคซีนที่สังเคราะห์ เลียนแบบโครงสร้างของเชื้อเอชพีวี โดยที่ไม่ได้นำส่วนประกอบส่วนหนึ่งส่วนใดของสาย พันธุกรรมของเชื้อไวรัสมาใช้ผลิตวัคซีนเมื่อร่างกายได้รับวัคซีนก็จะสามารถสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อเอชพีวี โดยอาการข้างเคียงรุนแรงพบน้อยมาก ผลการวิจัยยังได้แสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนในเด็กหญิงจะมีผลดีในเรื่องของการตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าในผู้ใหญ่อีกด้วย 


 
7. ถ้าอายุเกิน 26 ปี ยังสามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่ ?
ตามแนวคิดและหลักการในการให้วัคซีนเอชพีวีนั้น ถ้าหากเป็นการให้ก่อนที่จะเกิดการสัมผัสเชื้อหรือก่อนการมีเพศสัมพันธ์ก็จะทำให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากวัคซีน รวมทั้งการตอบสนองของร่างกายในการสร้างภูมิคุ้มกันก็เหมือนกับวัคซีนอีกหลาย ๆ ชนิดคือภูมิคุ้มกันจะสูงกว่าถ้าให้วัคซีนในวัยเด็ก ส่วนการตัดสินใจว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณส่วนบุคคลในแง่ของความคุ้มค่าที่จะลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการฉีดวัคซีน เพราะประโยชน์ที่จะได้รับจากวัคซีนนั้นขึ้นอยู่กับสภาวะการติดเชื้อเอชพีวีที่อาจจะมีมาก่อนของแต่ละบุคคล ซึ่งโดยทั่วไปลักษณะการติดเชื้อเอชพีวีนั้น มักจะเป็นการติดทีละชนิด ไม่ได้ติดพร้อมกันทีเดียวทุกสายพันธุ์ ดังนั้นการรับวัคซีนจึงยังสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์อื่น ๆ ในวัคซีนที่ยังไม่มีการติดเชื้อ อย่างไรก็ดี แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนก่อนพิจารณาฉีดวัคซีน 
 
 
8. วัคซีนชนิดนี้ สามารถฉีดในสตรีมีครรภ์หรือสตรีในระยะให้นมบุตรได้หรือไม่ ?
ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้แก่สตรีมีครรภ์ สำหรับในกรณีที่มีการ ตั้งครรภ์ในระหว่างการฉีดวัคซีนในเข็มที่ 2 หรือ 3 นั้น ควรหยุดฉีดทันที และกลับมาฉีดเข็มต่อไปหลังจากที่คลอดโดยไม่ต้องเริ่มฉีดเข็มแรกใหม่ ปกติทั่วไปหญิงตั้งครรภ์ก็ไม่ควรฉีดวัคซีนซึ่งเป็นมาตรฐานการปฏิบัติอยู่แล้ว แต่จากรายงานพบว่าวัคซีนนี้ไม่มีอันตรายต่อเด็กที่คลอดจากแม่ที่ซึ่งได้รับวัคซีนในขณะตั้งครรภ์ ส่วนในระยะให้นมบุตรสามารถที่จะฉีดวัคซีนได้ 


 
9. การฉีดวัคซีนเอชพีวีจะฉีดบริเวณใด และมีผลข้างเคียงหรือไม่ ?
การฉีดวัคซีนจะฉีดเข้าที่บริเวณกล้ามเนื้อต้นแขน ผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายนั้นน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นเพียงอาการเหมือนกับการได้รับวัคซีนอื่น ๆ เช่น ปวดบวมแดงเล็กน้อยบริเวณที่ฉีด หรืออาจมีไข้ต่ำในบางราย หลังฉีดแนะนำให้นั่งลงพักสังเกตอาการประมาณ 30 นาทีก่อนกลับบ้าน 


 
10. วัคซีนเอชพีวีนี้จะต้องฉีดทั้งหมดกี่เข็ม และจะป้องกันได้นานเท่าไร ?
การฉีดวัคซีนจะต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยจากการศึกษาที่ได้ติด ตามถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 5 ปี พบว่า ประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ปัจจุบันการศึกษาระยะเวลาของการป้องกันยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง และพบแนวโน้มว่าวัคซีนเอชพีวีจะกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถจดจำและสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเอชพีวีที่มีอยู่ในวัคซีนได้ ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะคล้ายกับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี คือในช่วงแรกที่มีการใช้วัคซีนก็ยังไม่ทราบระยะเวลาของภูมิคุ้มกันที่ชัดเจน แต่ต่อมาก็พบว่าภูมิคุ้มกันสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องฉีดกระตุ้น 
 
 
รู้จักเชื้อเอชพีวี… ไวรัสที่อาจทำร้ายผู้หญิงในหลายรูปแบบ
 
เชื้อเอชพีวีเป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่สามารถติดต่อได้ง่ายและมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยทั่วไปการติดเชื้อเอชพีวี ส่วนใหญ่จะหายไปได้เอง แต่ในบางคนหากร่างกายไม่สามารถกำจัดออกไปก็อาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ เชื้อเอชพีวี แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
 
  1. เอชพีวีชนิดที่ก่อมะเร็ง เช่น เอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์อันตรายและเป็นสาเหตุถึง 70 % ของการเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งในช่องคลอด และมะเร็งปากช่องคลอด
  2. เอชพีวีชนิดที่ไม่ก่อมะเร็ง แต่เป็นสาเหตุกการเกิดโรคอื่น ๆ เช่น เอชพีวีสายพันธ์ 6 และ 11 ซึ่งเป็นๆไวรัสที่มีความรุนแรงน้อย ถึงแม้ไม่ได้ทำให้เกิดโรคมะเร็งแต่ก็เป็นสาเหตุของโรคติดต่อบางชนิด เช่นโรคหูดบริเวณอวัยวะเพศ (หูดหงอนไก่) ซึ่งเป็นโรคที่รักษาได้แต่โดยทั่วไปมักจะพบการกลับมาเป็นซ้ำ ๆ อีก
 
เชื้อเอชพีวีจะติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก โดยสามารถติดต่อได้ง่ายแม้เพียงแค่การ สัมผัสของอวัยวะเพศภายนอกก็ตาม การติดเชื้อเอชพีวีสมารถเกิดได้ทั้งการมีเพศสัมพันธ์ระหว่าง ชาย – หญิง , ชาย – ชาย หรือ หญิง – หญิง สำหรับผู้ชายถ้าหากได้รับเชื้อไวรัสนี้ ก็อาจจะทำให้เป็นมะเร็งที่อวัยวะเพศ เช่น ที่องคชาติหรือทวารหนัก แต่โดยทั่วไปผู้ชายจะเป็นพาหะของเชื้อไวรัสและแพร่ไปสู่ผู้อื่นผ่านการมีเพศสัมพันธ์ 


 
วิธีลดความเสี่ยง… เลี่ยงโอกาสเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก
 
แนวทางหลักที่จะช่วยให้ห่างจากมะเร็งปากมดลูกก็คือ การลดโอกาสในการติดเชื้อเอชพีวีซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ 
 
  1. หลีกเลี่ยงการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ การมีคู่นอนหลายคน และการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย
  2. ตรวจ “แปปสเมียร์” (Pap smear Test) โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วหรืออายุ 30 ปีขึ้นไป ควรทำการตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อจะได้พบการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ในระยะแรก ซึ่งจะสมารถรักษาให้หายได้
  3. รับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณ 70% ควบคู่ไปกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ 
 
เรียบเรียงข้อมูลโดย
รศ. นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด