ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรคเบาหวาน ปัจจุบันแบ่งโรคเบาหวานออกเป็น 4 ชนิด

โรคเบาหวาน ปัจจุบันแบ่งโรคเบาหวานออกเป็น 4 ชนิด Thumb HealthServ.net
โรคเบาหวาน ปัจจุบันแบ่งโรคเบาหวานออกเป็น 4 ชนิด ThumbMobile HealthServ.net

โรคเบาหวานในปัจจุบันถือว่าเป็นโรคระบาด ชนิดที่ไม่ติดเชื้อแต่เป็นการระบาดทางพันธุกรรม ที่กำลังเป็นปัญหาระดับโลก ซึ่ง WHO รับไว้เป็น 1 โรคที่ต้องรณรงค์ในการรักษาและการป้องกันอย่างมาก การที่โรคเบาหวานเป็นโรคระบาดที่ไม่ใช่โรคติดเชื้อแต่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ การดูแลตนเองจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งคนที่ยังไม่ได้เป็น คือการป้องกัน และคนที่เป็นโรคเบาหวานแล้วคือการรักษา การเกิดโรคเบาหวานนั้นสำหรับกลุ่มคนที่ประวัติมีบรรพบุรุษเป็นโรคเบาหวาน ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้ม จะเกิดโรคเบาหวานมากกว่าคนอื่นๆ 50% และหากเกิดโรคเบาหวานแล้ว ก็จะมีโอกาสเกิดโรคอื่นๆตามมาได้อีกมาก เพราะถือว่าโรคเบาหวานคือตัวจ่ายโรคแทรกซ้อน

ปัจจุบันแบ่งโรคเบาหวานออกเป็น 4 ชนิด คือ
 
     1.เรียกว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ชนิดนี้ตับอ่อนจะขาดการสร้างอินซูลินอย่างรุนแรง ส่งผลให้คนที่เป็นเบาหวานอยู่ในกลุ่มนี้จะต้องฉีดอินซูลินไปตลอดชีวิต
 
     2.เรียกว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ชนิดนี้เป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ พบโรคเบาหวานชนิดนี้ประมาณ 95 % ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด พยาธิวิทยาที่เกิดขึ้นก็คือ การประกอบด้วยภาวะที่เกิดการดื้ออินซูลินร่วมกับการที่ร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ต่างกันที่ ชนิดที่ 1ขาดอินซูลิน ชนิดที่ 2อินซูลินไม่เพียงพอและมีภาวะดื้ออินซูลินร่วมด้วย
 
     3.เรียกว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 3 ที่อาจเกิดจากกลุ่มโรคใดโรคหนึ่ง หรือความผิดปกติของยีนบางชนิด เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคตับแข็ง โรคของต่อมไร้ท่ออื่นๆ เช่นต่อมใต้สมองบางชนิด รวมทั้ง การรับประทานยาบางชนิด จำพวกสเตียรอยด์ ยาลูกกลอน ซึ่งเป็นปัญหานำไปสู่การเป็นโรคเบาหวานได้
 
     4.เรียกว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 4 เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เมื่อพ้นจากภาวะตั้งครรภ์ เบาหวานจะหายไปชั่วคราว มีสถิติว่าหลังคลอดใหม่ๆเบาหวานจะหายไปแต่หลายๆปีผ่านไป 30 % อาจจะกลับไปเป็นเบาหวานชนิดถาวรได้ ดังนั้นจึงต้องเน้นในการป้องกันและสำหรับกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง
 
สำหรับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานแต่ละชนิดนั้น หากเป็นโรคเบาหวาน
 
     ชนิดที่ 1 กลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่มีอายุน้อยและมักจะมีประวัติเกี่ยวกับยีนบางตัวซึ่งส่งผลไปสู่ การทำลายตับอ่อนทีละน้อย ดังนั้นต้องฉีดอินซูลินตลอดชีวิต ส่วนเบาหวาน
 
     ชนิดที่ 2 ที่พบได้ มากถึง 95 %ของประชากรที่เป็นเบาหวาน ที่เกิดจากการมีอินซูลินไม่เพียงพอร่วมกับการดื้ออินซูลิน หากมี การแอบแฝง ที่เรียกว่าเบาหวานแอบแฝง จะทราบก็ต่อเมื่อมีประวัติบางอย่างว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงในการเป็น เบาหวาน หากเจาะเลือดน้ำตาลในเลือดก็จะสูง โดยที่ยังไม่มีอาการ ต่อไปสักระยะหนึ่งก็จะมีอาการออก มาหลังจากนั้นหากไม่ได้รักษาหรือรักษาไม่ดีพอ ก็จะมีโรคแทรกซ้อนตามมา ทีละเล็กทีละน้อย เช่น โรค แทรกซ้อนเฉียบพลันอาจจะมีน้ำตาลในเลือดสูงกระทันหัน เกิดภาวะมีกรดคั่งในโลหิตอย่างรุนแรงซึ่งต้อง รักษาต่อในรพ.หรือว่าเป็นโรคแทรกซ้อน เรื้อรัง ระยะยาวก็จะมีผลกระทบต่อหลอดเลือดต่างๆในร่างกาย ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่จนกระทั่งอีกระดับหนึ่ง ก็จะเกิดความพิการ เป็นเบาหวานเข้าตาทำให้ตาบอด เบาหวานเข้าไตทำให้ไตพิการต้องล้างไตหรืออัมพาต หลอดเลือดหัวใจตีบตัน ต้องทำบอลลูนหรือแม้แต่ หลอดเลือดขา-ตีบตัน ทำให้เป็นแผลติดเชื้อง่ายทำให้เกิดโอกาสถึงต้องตัดขาได้ ทางสุดท้ายก็คือเสียชีวิต การเป็นโรคเบาหวานที่จะนำมาซึ่งโรคอื่นๆแล้ว สิ่งที่น่ากลัวอีกอย่างคือ แผลที่เกิดจากโรค เบาหวาน ถ้าคุมไม่ดีจะหายยาก ปัจจุบันมีการเน้นให้ความรู้เรื่องของการดูแลเท้าป้องกันการเกิดแผลให้เข้าใจมากที่สุด
 
     ในคนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 อาจไม่ต้องมีพฤติกรรมเสี่ยง แต่ด้วยกรรมพันธุ์ก็สามารถทำ ให้เกิดโรคได้ ส่วนพฤติกรรมการกินอาหารและพฤติกรรมความเป็นอยู่จะเป็นตัวเสริมเช่น ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีไขมันสูง หรือหวานจัด อ้วน การสูบบุหรี่ มีความเครียดสูง ส่วนกรรมพันธุ์นั้นอาจไม่ใช่พ่อแม่ โดยตรง แต่เป็นสายตรง คือ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย คือถ้ามีประวัติสายตรงเหล่านี้ ก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยง เป็น
 
     อันดับ 1 ต้องมาเจาะเลือด บางคนอาจเข้าใจว่าคนที่เป็นโรคเบาหวานจะต้องอ้วน แต่ความเป็นจริงไม่จำ เป็นต้องอ้วนเสมอไป เพราะความอ้วนเป็นเพียงปัจจัยเสริม ที่สามารถเพิ่ม 30 % ในการเป็นเบาหวาน ตรง กันข้ามแม้เป็นปัจจัยเสริมถ้าหากปล่อยให้อ้วนหรือมีไขมันหน้าท้องก็ไม่ดี เพราะจะมีสารที่ไม่ดีต่อร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ระดับไขมัน ชนิดที่ไม่ดีสูงขึ้นทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย สำหรับคนที่ไม่มีประวัติครอบครัว ก็ควรที่จะตรวจคัดกรองเบาหวานด้วย โดยเฉพาะคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ในกรณีที่ไม่ได้มีบรรพบุรุษเป็นโรคเบาหวาน ก็อาจจะมีโอกาสที่จะเริ่มการเป็นโรคเบาหวานที่ตัวเราได้เช่นกัน เพราะยีนตัวนี้ อาจแฝงอยู่ ปู่ ย่า ตา ยาย อาจไม่เป็น แต่ยังมีแฝงอยู่เพราะคนในอดีตชีวิตความเป็นอยู่ไม่ได้มีความเสี่ยงเท่ากับปัจจุบันที่มี ผลกระทบทำให้เป็นโรคเบาหวานได้ง่ายขึ้น เมื่อตรวจวัดระดับน้ำตาล (เวลาตรวจ เจาะเลือดต้องงดอาหาร) ถ้ามากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม เปอร์เซ็นต์ โดยตรวจ 2ครั้ง ต่างวันกันก็วินิจฉัยได้ว่าเป็นเบาหวาน โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ แต่ในรายที่มีอาการแล้ว คือ อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำบ่อย น้ำหนักลด โดยเฉพาะถ้ามีประวัติเบา หวานในครอบครัวสามารถเจาะเลือดได้ในขณะที่ มาตรวจ คือ ถ้ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม เปอร์เซ็นต์ก็วินิจฉัยได้ว่าเป็นเบาหวาน
 
      ผลการตรวจเลือดของบางรายหากอยู่ที่ 100-125 มิลลิกรัม เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าเบาหวานแอบแฝง เพราะปกติในปัจจุบันกำหนดว่าน้ำตาลในเลือดของ คน ปกติที่เจาะก่อนทานอาหารจะต้องต่ำกว่า 100 ถ้ามากกว่าหรือเท่ากับ 126 ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน แต่ถ้า เป็น 100 – 125 จะเป็นระดับน้ำตาลที่เริ่มผิดปกติ ดังนั้นคนกลุ่มนี้มีความสำคัญเช่นกัน ต้องป้องกันไม่ให้ เป็นโรคเบาหวาน ด้วยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การรักษาสุขภาพ การออกกำลังกายที่ สม่ำเสมอ ลดความอ้วน โดยเฉพาะตอนนี้ที่กำลัง รณรงค์เรื่องเด็กอ้วน เพราะประเทศไทยหรือทั่วโลกกำลัง มีปัญหาเรื่องเด็กอ้วนค่อนข้างมาก เมื่อเป็นโรคเบาหวานแล้ว การรักษาไม่ได้เริ่มต้นที่ยาแต่เริ่มต้นด้วยการปรับพฤติกรรม โดยการใช้ ความรู้เรื่องอาหารการกิน กินอย่างไร อะไรกินได้ กินได้ขนาดไหน ศึกษาความรู้เรื่องการออกกำลังกาย การดูแลตนเองด้านอื่นๆการดูแล เท้า การป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เข้าใจถึงเป้าหมายของการควบคุมเบาหวานว่าต้องตรวจอะไรบ้างและ ต้องได้ค่าเท่าไหร่ หลังจากนั้นจึงจะเป็นเรื่องของยา ซึ่งมีทั้งยากินและยาฉีด 
 
 
 
      คนไข้ที่เป็นเบาหวานต้องดูแลรักษาตัวเองให้ดีที่สุดไม่ใช่แค่ยาอย่างเดียว ต้องดูทั่วร่างกาย และไม่ใช่แค่เท้ากับตาอย่างที่เคยเข้าใจเท่านั้น เพราะเบาหวานจะกระจายโรค แทรกซ้อนไปได้ทั่ว หัวจรดเท้า ตาสมอง หลอดเลือดที่คอ หลอดเลือดหัวใจ ไล่ลงมาก็จะเป็นไต แม้แต่ระบบทางเดินอาหารระบบสืบพันธุ์ ก็จะมีผลกระทบทั้งหมด รวมทั้งระบบขับถ่าย ระบบปัสสาวะ เรื่องของเพศสัมพันธ์ โรคED ไล่ไปถึงขา ถึงหลอดเลือดปลายเท้าสามารถเกิดโรคแทรกซ้อนได้ทั้งสิ้น ที่สำคัญคือ จิตใจเพราะบางครั้งอาจเกิดการท้อแท้ อย่าลืมเรื่อง การดูแลตัวเองเพราะคนไข้เบาหวานคือ 
 
     หมอคนที่ 2 หมอเป็นครูสอนให้ความรู้ แล้วคนไข้ต้องมีส่วนร่วม รับรู้ข้อมูลของตัวเอง แล้วเอาไปปรับเป็นระยะๆ ปัจจุบันการดูน้ำตาลมี Lab ฮีโมโกลบิน A1Cหรือเรียกว่า ค่าน้ำตาลสะสม (ค่าน้ำตาลเฉลี่ย) สามารถบอก ย้อนหลังได้ 2-3 เดือน เพราะฉะนั้นตัวนี้จะเป็นน้ำตาลที่จะเข้าไปเกาะที่เม็ดเลือดแดง ในส่วนของที่เรียกว่า ฮีโมโกลบินของ เม็ดเลือดแดง ตัวนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆใน2-3เดือน ดังนั้นถ้าคนไข้แกล้งอดอาหารมา2- 3วันค่าตัวนี้จะไม่ลง สามารถรู้ได้ว่าคุมได้ไม่จริงสำหรับคนปกติ ค่าน้ำตาลสะสมจะอยู่ที่ 5.5 –6 กว่าๆ แต่ถ้าคนไข้เบาหวานก็สามารถเอาค่าตัวนี้เป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าคุมได้ดีหรือไม่ คือ กำหนดให้ต่ำกว่า 7 หรือมีแนวโน้มว่าให้ต่ำกว่า 6.5 เปอร์เซ็นต์ 
 
     การคัดกรองด้วยปัสสาวะ ในคนหมู่มากถ้าตรวจตามโรงงาน บริษัท แล้วใช้ปัสสาวะแต่ ไม่สามารถวินิจฉัยได้ เป็นแค่การคัดกรองว่าสงสัย แล้วต้องมาตรวจเลือดอีกที เพราะการวินิจฉัยของเบา หวานจะต้องใช้ผลเลือดไม่สามารถใช้ปัสสาวะได้ แต่เป็นตัวคัดกรองเบื้องต้นที่จะนำมาสู่การเจาะเลือดอีก ที ปัจจุบันโรคเบาหวานเป็นที่รู้จักมากขึ้น คนไข้เบาหวานรู้จักโรคนี้มากขึ้น มีความ ระมัดระวังมากขึ้นรวมทั้งแต่ละสถาบัน แต่ละ รพ. ก็พยายามรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการป้องกันไม่ให้เกิด เบาหวาน แต่ถ้าเกิดแล้วก็ช่วยในเรื่องการดูแลรักษาตนเอง ในรายที่มีความพร้อมจะจัดเป็นค่ายเบาหวาน ให้ความรู้แก่คนไข้เชิงปฏิบัติ ได้ทั้งความรู้และความสนุกเพราะเบาหวานไม่ได้เป็นเบาหวานอย่างเดียวแต่มี หลายโรคพ่วงมาด้วย เบื้องต้นที่ได้กล่าวไว้แล้วสำหรับโรคเบาหวานว่า การป้องกันการเกิดโรคและการรักษาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และหากได้ป่วยเป็นโรคเบาหวานแล้วการดูแลตนเองสำคัญที่สุด 
 
     ซึ่งมีสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ อาหาร อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานคนธรรมดาก็ทานได้ เพราะสัดส่วนอาหารต่างๆที่กำหนดเป็นอาหารสุขภาพ คนธรรมดาที่ไม่ได้เป็นเบาหวานทานก็จะดี แนวคิดหรือทฤษฏี คือ คนไข้เบาหวานใน ปัจจุบันสามารถทานอาหารได้ทุกหมวดหมู่ทั้ง 6 หมวด ไม่ว่าจะเป็นข้าว แป้ง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไขมัน แต่ คนไข้ต้องรู้ว่า แต่ละหมวดทานได้เท่าไหร่ ทานได้กี่ส่วน ซึ่งในปัจจุบันก็จะมีวิธีสอน ให้คนไข้ สามารถนับสัดส่วนอาหารได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องชั่งตวงวัด คนไข้แต่ละคนจะต้องคำนวณน้ำหนักตัวเองว่า เท่าไหร่ ควรจะได้รับสารอาหารที่เป็นพลังงานแคลอรี่ต่อวันเท่าไหร่ แล้วมาแบ่งส่วนว่า 1 วันจะทานกี่มื้อ 1 มื้อ จะมีอาหารแต่ละหมวดกี่ส่วน ซึ่งมีวิธีการคำนวณแคลอรี่ คือ เอาน้ำหนักที่ควรจะเป็น (ไม่ใช่ที่กำลัง อ้วน) แล้วมาคำนวณกับส่วนสูงว่ามีดัชนีมวลกายเท่าไหร่ แล้วเอาผลที่ได้ไปคูณกับจำนวนแคลอรี่ต่อวัน โดยดูจากกิจกรรมหรืองานของแต่ละคน ว่าเบา ปานกลาง หรือ หนัก ตัวอย่างเช่น ถ้าคนไข้อ้วน แล้วงานที่ ทำเป็นงานเบา ก็จะต้องให้ลดน้ำหนัก
 
     เริ่มด้วยการเอาน้ำหนักตัวไปคูณ 20 กิโลแคลอรี่ แต่ถ้าคนไข้ผอม ต้องการให้เพิ่มน้ำหนัก แล้วงานปานกลางหรือเบา ก็ให้เอาน้ำหนักตัวไปคูณแคลอรที่สูงขึ้น ประมาณ 30 –35 กิโลแคลอรี่ ต่อกิโล แล้วจะต้องแบ่งอีกทีว่าจากจำนวนแคลอรี่ทั้งหมด จะแบ่งมาเป็นอาหารแต่ละ หมวดเท่ากับเท่าไหร่ แต่ละหมวดควรจะเป็นกี่แคลอรี่ โดยหลักง่ายๆคือ เมื่อได้จำนวนแคลอรี่ต่อวันแล้วก็ เอาไปคำนวณว่า ควรจะได้รับสารอาหารประเภทกลุ่มคาร์โบไฮเดรต เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ควรจะเป็น 55-60 % ของแคลอรี่ทั้งวัน ส่วนไขมัน ประมาณ 25-30 % โปรตีน 10-15 % แล้วจะจำกัดการทานอาหารที่ มีคอเรสเตอรอลไม่เกิน 300 มิลลิกรัม / วัน รวมทั้งการจำกัดอาหารเค็ม แป้งยังคงเป็นอาหารหลัก เป็นการ เข้าใจผิดที่บางคนบอกว่าควรทานแป้งน้อย ไม่ทานแป้งหรือทานแต่กับข้าวเพราะการอดข้าว พอไม่อิ่มก็ไป ทานของหวาน ทานผลไม้ซึ่งมักอร่อยทานเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม พอคำนวณมาแล้วแคลอรี่ก็จะสูงกว่าทานข้าว การทานข้าวอะไรก็ทานได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นข้าวขาวหรือโฮลวีต 
 
 
      แต่ถ้าเป็นข้าวกล้องก็จะมีไฟเบอร์สูง เป็นของเสริม แต่ไม่ได้บอกว่า ทานข้าวอะไรแล้วจะดีกว่า เช่นถ้าข้าวที่ขัดสี ก็จะถูกขัดเอาสิ่งที่มีประโยชน์ ออกไปหมด ในส่วนของผลไม้ถึงแม้ผลไม้จะมีประโยชน์ แต่บางคนทานผิดวิธี ยกตัวอย่าง คือ ทานแต่น้ำส้มคั้น ถึงแม้ไม่ได้ใส่น้ำตาล แต่ในผลไม้มีน้ำตาลอยู่แล้ว ดังนั้นหากทานน้ำส้มคั้นมากก็จะได้รับน้ำตาลมาก ที่ถูกต้องคือ ใน 1 มื้อ สามารถทานผลไม้ได้ 1 ส่วน 1 อย่าง แล้วแต่ว่าจะเป็นชนิดไหน เช่น ถ้าเป็นส้ม 1 มื้อ 1 ส่วน คือ 1 ผล ถ้าเป็นมะม่วงสุก ทานได้ ครึ่งผล มะม่วงมันหรือดิบได้ 1 ผล ผลไม้ 1 ส่วนจะให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี่ เพราะฉะนั้น 1 มื้อก็จะให้ 1 ส่วน คนไข้เบาหวานก็จะให้ผลไม้ได้วันละ 2-4 ส่วน ขึ้นอยู่กับว่าอ้วนหรือผอมด้วย แต่ต้องรู้ปริมาณว่า 1 ส่วนเท่ากับเท่าไหร่ เช่น ทุเรียน 1 ส่วน เท่ากับ 1 เม็ด เล็กๆไม่ใช่ 1 พู หรือ ครึ่งลูก ลำไย 1 ส่วน ประมาณ 10-12 ผล แต่ถ้าเป็นแยมผลไม้ทานมากไม่ได้ เพราะ อาจจะเป็นน้ำตาล ฟรุคโตส พอเข้าไปในร่างกายยังไงก็ต้องเปลี่ยนเป็นกลูโคสอยู่ดี ทานมากไม่ได้ ต้องแบ่ง ส่วนให้ดี สำหรับขนมหวาน คนเป็นโรคเบาหวานก็ทานได้ไม่ห้าม แต้ต้องรู้ว่าทานได้เท่าไหร่ แต่ถ้าทานเกิน ไปก็ต้องไปลดอาหารอื่นเพื่อชดเชย
 
      ส่วนเรื่องน้ำตาลแบ่งเป็น น้ำตาลแท้ กับน้ำตาลเทียม ถ้าแท้ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลขาว แดง ก็คือ น้ำตาล เราจะมีปริมาณจำกัด คือ ทานได้ไม่เกิน 6 ช้อนชา ต่อ วัน แต่ถ้าเทียมที่หลายบริษัทผลิตออกมา มีการพิสูจน์แล้วว่าไม่อันตราย เอามาใช้ได้ มีข้อแนะนำสำหรับคนไข้เบาหวาน ให้เอามาผสมกับกาแฟ หรือ ทำกับข้าวได้ แต่ต้องเลือกเพราะ ของบางบริษัท น้ำตาลเทียมเอามาผสมกับน้ำร้อนที่เดือดๆไม่ได้ ต้องรอให้เย็นก่อน น้ำอัดลม นมกล่อง ต่างๆในปัจจุบัน ก็มีชนิดที่ใช้น้ำตาลเทียมเช่นกัน คนเป็นโรคเบาหวานสามารถทานได้ จากการที่โรค เบาหวานเป็นปัญหาระดับโลก อเมริกาจึงเริ่มมีกฎหมายบังคับอย่างเช่น แมคโดแนล ก็บังคับให้ลดเกลือลง มาเรื่อยๆทุกปี โค้กก็เช่นกันที่ให้ลดปริมาณน้ำตาลลง ซึ่งสอดคล้องกับการรณรงค์เรื่องสุขภาพ แต่ก็ต้อง เตือนเรื่องคาแฟอีนในเครื่องดื่มด้วยทานมากก็ไม่ดี ความใส่ใจต่อผู้บริโภคในการ แสดงจำนวนแคลอรี่ข้างกล่องผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆมีมากขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องฝึกดู 
 
     เรียกว่าข้อมูลทาง โภชนาการ ดูว่ามีน้ำตาลกี่กรัม แล้วคูณเข้าไป 1 กรัม เท่ากับ 4 แคลอรี่ คนไข้เบาหวานบางคนจะมีสมุดบันทึกของตัวเองเพื่อดูจำนวนแคลอรี่แต่ละวันแต่ในทางปฏิบัติ คน ไข้จะจดในระยะหนึ่ง แต่พออยู่ตัว เรียนรู้แล้วก็ไม่จำเป็น เพราะดูเหมือนอยู่ในกรอบแล้วจะไม่เป็นสุขนัก รวมทั้งเสียสุขภาพจิตด้วย สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าไม่เคยดื่มก็ไม่แนะนำ แต่ถ้าดื่มอยู่แล้วควรจะดื่มไม่เกินจำนวนที่ จำกัดไว้เช่น ไวน์ไม่เกิน 2 ดริ้งค์ / วัน วิสกี้1-2 เป๊ก / วัน ยังคงต้องเตือนกันอยู่เสมอว่าอาหาร คือ ปัจจัยหลักในการควบคุมน้ำตาล หรือถือเป็นเรื่องใหญ่กว่ายา เพราะไม่ใช่แค่กินยาเพราะถ้ายาดียังไง แต่ถ้าอาหารไม่ถูกต้อง ก็คุมไม่อยู่ การออกกำลังกายก็มีความสำคัญเช่นกัน แนะนำ เป็นแบบ แอโรบิค วันละ30นาที / วัน 5วัน / อาทิตย์ง่ายๆคือการเดินเร็วๆในคนสูงอายุ คนอ้วน เพราะไม่สามารถแนะนำให้วิ่งได้แต่ถ้ายังไหว แข็งแรง ก็สามารถจ็อกกิ้ง 20นาที เดินเร็วๆ30นาทีมีคุณค่าทางแอโรบิคเท่ากัน 
 
     การทำงานบ้านถือเป็นการออกกำลังกาย เหมือนกันแต่ใช้แคลลอรี่ได้น้อยกว่า แต่ก็ต้องเอาไปบวกกัน สะสมกันได้ เพราะเจตนาคือ ต้องการให้ใช้แคลอรี่ประมาณวันละ 500กิโลแคลอรี่ซึ่งกินเข้าไป1500-1600 การออกกำลังกายสามารถช่วยให้ไขมัน HDL เพิ่มขึ้นได้ เพราะถ้าไขมัน HDL ต่ำ จะเป็นการบ่งชี้ทางอ้อมว่า คนๆนั้นมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งหมายถึง โรคเบา หวานชนิดที่ 2 จากการที่พบว่าปัญหาในปัจจุบัน และที่กำลังรณรงค์อย่างมาก คือ เด็กอ้วน ซึ่งสามารถนำไปสู่ การเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ง่าย โดยเฉพาะถ้า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นเบาหวาน ง่ายๆ คือ ยีนเบาหวานจะปรากฏให้เราเห็นเร็วขึ้น เพราะชีวิตคนในเมืองเปลี่ยนแปลง ขาดการออกกำลังกาย กิจวัตรที่ช่วยในการออกกำลังกายลดลงเรื่อยๆ และพบว่าเด็กอ้วนมีปัญหา 12 % เป็นเบาหวาน 
 
     ดังนั้นความเชื่อที่ว่าเด็กอ้วนนั้นน่ารักเป็นความคิดที่ผิดมาก เพราะเด็กอ้วนนั้นหมายถึงโรค พ่อแม่ มีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยลูก ต้องสอนตั้งแต่ลูกเล็กๆ ให้ออกกำลังกาย นอนหลับให้เพียงพอ ให้กินปลา กินผักผลไม้เพิ่มไฟเบอร์ ไม่ควรตุนอาหารที่มีไขมันสูง ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลมไว้ในบ้าน อีกอย่างที่ช่วยได้ คือ การเตรียมให้พร้อมในการกิน ลูกจะได้หยิบง่าย สำหรับนมพร่องมันเนย พอลูกอายุ 10 ขวบ สามารถให้ทานได้ เพราะถ้าทาน แบบปกติต่ออาจอ้วนด้วยไขมันได้ สรุปแล้วคนไข้เบาหวานควรพยายามรู้วิธีดูแลตนเอง เพื่อที่จะได้คุมเบาหวานได้ และยังสามารถอยู่ กับเบาหวานได้อย่างมีความสุขทำตัวเป็นหมอคนที่2ให้ความร่วมมือกับหมอในการรักษา ต้องมีความตั้งใจ ต้องมีวินัยพอสมควรเพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน 
 
     ถ้ายังไม่เป็น แนะนำให้รีบสำรวจ ว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นมั๊ยถ้ามีความเสี่ยงก็ให้รีบไปตรวจว่ามีเบาหวานแอบแฝงอยู่รึเปล่าระดับน้ำตาลในเลือดเริ่มขึ้นแล้วรึยัง ถ้ามีก็ได้รีบทำการป้องกันเพราะมีผลศึกษาว่าเบาหวานสามารถป้องกันได้

นพ.พงษ์สันต์ ลี้สัมพันธ์ อายุรแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อ ที่ปรึกษา รพ.วิภาวดี 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด