ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพ รวมโปรแกรมสุขภาพ บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิดบริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event Health Economy ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

การเลือกซื้อมอยส์เจอร์ไรเซอร์ในวัยทอง

การเลือกซื้อมอยส์เจอร์ไรเซอร์ในวัยทอง

 
           วัยทอง เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกสตรีอายุ 45 ปี ขึ้นไป วัยนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับทั้งร่างกายและจิตใจที่เห็นได้จัดเจนแต่เป็นในทางเสื่อมต่างจากวัยรุ่นที่การเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทางเจริญขึ้น   ความจริงแล้วมิใช่เฉพาะสตรีเท่านั้นที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจ  บุรุษก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน  การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ  จึงมีผลกระทบต่ออวัยวะภายในร่างกายด้วย  ผิวหนังเป็นอวัยวะหนึ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากในวัยนี้และสามารถมองเห็นได้  จึงได้รับความสนใจจากบุคคลทั่วไป  การเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับผิวหนัง ได้แก่  เริ่มเห็นรอยย่น  เหี่ยว  ยาน ยืด แห้ง  แตก  กร้าน  สีผิวหนังไม่สม่ำเสมอมีจุดด่างดำสลับขาว บางครั้งเรียกว่า “วัยตกกระ” ความรู้เรื่องกระบวนการเปลี่ยนของผิวหนังที่เกิดในวัยทองเจริญก้าวหน้าอย่างมากพบว่าปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงคือ แสงแดด สารเคมีที่ระคายผิว สภาพทางกายภาพต่าง ๆ เช่น ความชื้น การดำเนินชีวิตของคน และพันธุกรรม  ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเภสัชกรรมโดยเฉพาะเครื่องสำอางในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมารุดหน้าไปมาก มีการคิดค้นสารเคมีชนิดต่าง ๆ นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณ ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังทำให้ชะลอการเปลี่ยนแปลงที่เกิดตามธรรมชาติได้ ผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งเป็นที่นิยมกันในหมู่สตรีทุกวัยโดยเฉพาะสตรีวัยทองคือ มอยส์เจอร์ไรเซอร์ (Moisturizers) บางครั้งเรียกว่า emollients หรือ lubricants เป็นสารเพิ่มหรือรักษาน้ำในชั้นผิวหนัง จะกล่าวถึงกลไกธรรมชาติที่ผิวหนังรักษาความชุ่มชื้นไว้  สาเหตุที่ทำให้ผิวหนังแห้งกร้าน  การดูแลป้องกันและรักษาภาวะผิวแห้ง  ชนิดของมอยส์เจอร์ไรเซอร์  พร้อมหลักการเลือกใช้และวิธีใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์
 
 
ผิวหนังมีกลไกรักษาความชุ่มชื้นได้อย่างไร
           ธรรมชาติสร้างผิวหนังให้สามารถเก็บรักษาน้ำไว้ได้ รักษาสภาพสมดุลระหว่างน้ำในสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกายกับน้ำในร่างกาย  และรักษาระดับน้ำภายในและภายนอกเซลล์ให้ได้สมดุลโดยอาศัยคุณสมบัติของเซลล์ผิวหนังชั้นนอกสุดที่เรียกว่าชั้น stratum corneum เซลล์ชั้นนี้มีบทบาทหลายประการ เช่น ป้องกันเชื้อโรค  สารพิษทั้งจากธรรมชาติและที่มนุษย์ผลิตขึ้นและยังมีคุณสมบัติรักษาความชุ่มชื้น คือน้ำไว้ในและนอกเซลล์     ความชุ่มชื้นของผิวหนังที่พอเหมาะ คือ สภาวะที่ผิวหนังสามารถรักษาระดับน้ำให้คงอยู่ในเซลล์ผิวหนังระหว่างเซลล์ผิวหนังกำพร้าได้อย่างสมดุล  ผิวหนังจะชุ่มชื้น ดูนุ่มเนียน เรียบไม่เป็นขลุย เต่งตึง นอกจากนี้ระดับน้ำในชั้นหนังกำพร้ายังสัมพันธ์กับระดับน้ำในชั้นหนังแท้ด้วย   ทั้งนี้ ผิวหนังมีกลไกรักษาความชุ่นชื้น ดังนี้
 
  1. เซลล์ชั้นนอกสุด (stratum corneum) หรือที่เรียกว่าชั้นขี้ไคล เป็นเซลล์ที่ไม่มีชีวิตมีไขมันหุ้มภายนอก  ถัดไปเป็นชั้นโปรตีนเป็นปลอกหุ้มเซลล์ผิวหนังชั้นนี้และมีโปรตีนที่เรียกว่า เคอราติน (keratin) เป็นส่วนประกอบภายในเซลล์  ป้องกันไม่ให้น้ำทะลุผ่านเซลล์ผิวหนังออกสู่ภายนอก
  2. ชั้นไขมันแทรกอยู่ระหว่างเซลล์ผิวหนังชั้นขี้ไคล  ทำหน้าที่ปิดกั้นไม่ให้น้ำในร่างกายซึมผ่านช่องระหว่างเซลล์ผิวหนังออกสู่ภายนอก
  3. ไขมันจากต่อมไขมัน ที่หลั่งสารไขมันออกตามรูขุมขน  สารไขมันจะแผ่อออกเคลือบผิวของชั้นหนังกำพร้า  ป้องกันไม่ให้น้ำซึมผ่านเซลล์และช่องว่างระหว่างเซลล์ออกสู่ภายนอก
 
           การรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังอาศัยคุณสมบัติของผิวหนังชั้นนอกสุดและไขมันที่เซลล์ผิวหนัง  และต่อมไขมันสร้างขึ้นมาควบคุมไม่ให้น้ำซึมผ่านออกสู่ภายนอกร่างกาย  นอกจากนี้ยังมีการรักษาความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังตามธรรมชาติ (natural moisturizers) สารต่างๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่ คือ กรดอะมิโน  อนุพันธ์  ( derivative) กรดอะมิโนและเกลือของกรดอะมิโน  เป็นสารรักษาความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง  สารเหล่านี้ ได้แก่ 1. Sodium 2 pyrrolidone 5 carboxylic acid  2.  Urea  3. Lactic acid  จากความรู้เรื่องสารรักษาความชุ่มชื้นตามธรรมชาตินี้  ได้มีการนำสารดังกล่าวมาผสมในมอยส์เจอร์ไรเซอร์ชนิดต่าง ๆ


ผิวหนังลอกเป็นขลุยแสดงว่าหนังแท้ใช่หรือไม่
           ผิวหนังที่ลอกเป็นขลุยอาจเกิดจากผิวหนังแห้งเพราะขาดน้ำ   หรือเกิดจากผิวหนังอักเสบจากสาเหตุ   อื่น ๆ ก็ได้ เช่น ระคายเคืองจากสารเคมี การแกะเกา ผิวหนังอักเสบลอกเป็นขลุย  โดยที่ผิวหนังไม่แห้ง (ขาดน้ำ) ก็ได้ ในสภาพจริงเมื่อเกิดการอักเสบของผิวหนัง  ก็มีผลทำให้น้ำในผิวหนังซึมออกสู่ภายนอกได้ง่ายทำให้ผิวบริเวณดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะแห้ง


 
ทำไมผิวหนังจึงแห้ง
 
ผิวหนังแห้งเป็นผลจากการเสียน้ำออกจากผิวหนังเกิดจากกลไกสำคัญ 3 ประการ
 
  1. ผิวลอกเป็นขลุยจากความผิดปกติในการสร้าง (keratin) ทำให้เสียเสียความสามารถในการรักษาน้ำไว้ที่ผิวหนัง
     
  2. ชั้นหนังกำพร้ามีการหมุนเวียนเร็วกว่าปกติทำให้ไม่มีเวลาพอในการสร้างผิวหนังชั้นนอกสุด หรือ ชั้นขี้ไคลที่สมบูรณ์ได้  หนังกำพร้าชั้นนอกสุดมีส่วนประกอบเป็นชั้นไขมันแทรกอยู่ระหว่างเซลล์ผิวหนังชั้น   ขี้ไคล  ผิวหนังที่มีการหมุนเวียนรวดเร็วจะไม่สามารถสร้างชั้นไขมันได้ทัน  จึงเสียความสามารถในการรักษาน้ำให้คงอยู่ในผิวหนังไป
     
  3. มีการทำลายของผิวหนังชั้นหนังกำพร้าจากสารเคมี เช่น detergents ทำให้สูญเสียไขมันชั้นหนังกำพร้าไป  เป็นผลให้ผิวหนังสูญเสียน้ำออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น

การเกิดภาวะผิวแห้งอาจเป็นผลจากกลไกใดกลไกหนึ่งหรือเกิดจากทั้ง 3 กลไก พร้อม ๆ กันได้


สาเหตุที่ทำให้ผิวแห้ง
ผิวแห้งเกิดจากสาเหตุทั้งภายในและภายนอกร่างกาย ดังนี้
  1. พันธุกรรม เช่น โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (atopic eczema) โรค ichthyosis ผู้ป่วยเหล่านี้มีผิดความปกติแต่กำเนิด  ผิวแห้งและไม่สามารถรักษาน้ำไว้ในผิวหนังได้เหมือนคนปกติ
  2.  อายุ ผู้สูงอายุผิวหนังชั้นนอกสุดและไขมันระหว่างเซลล์จะลดลง  ทำให้เสียน้ำออกจากผิวหนังได้ง่าย ผิวจึงแห้ง
  3.  โรคภัยของอวัยวะภายใน เช่น โรคไตวาย โรคตับ
  4. ปัจจัยแวดล้อมภายนอกร่างกาย เช่น อากาศแห้ง  อากาศหนาว การเสียดสี สารเคมี เช่น แอลกอฮอล์   ดีเทอร์เจน เป็นต้น

     
 ผิวแห้งมีลักษณะอย่างไร 
           เมื่อผิวหนังสูญเสียน้ำไปจะทำให้เกิดผิวแห้ง มีลักษณะ ดังนี้ 1.  หยาบ (Feeling rough) 2. เป็นขลุย (Scaly) 3. แตก (Cracked)  ถ้ามีเครื่องวัดการสูญเสียน้ำผ่านทางผิวหนังจะพบว่าปริมาณน้ำที่ซึมผ่านผิวหนังจะสูงขึ้น
 
 
การดูแลรักษาภาวะผิวแห้ง
           ผิวหนังจะดูสวยงามและไม่เกิดโรค  ถ้าผู้เป็นเจ้าของสามารถรักษาสมดุลของน้ำในผิวหนังกับสภาพแวดล้อมได้  ปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการดูแลป้องกันและรักษาผิวหนังมี 4 ประการได้แก่
 
  1. สภาวะแวดล้อม  สภาวะแวดล้อมรอบตัวเรามีอิทธิพลต่อการเกิดผิวแห้งอย่างมาก  ในประเทศไทยมีความชื้นในบรรยากาศสูง  ทำให้อุบัติการณ์โรคผิวหนังไม่สูงเหมือนอย่างในประเทศทางจะวันตก  อย่างไรก็ตามฤดูหนาวอากาศเย็นและความชื้นในบรรยากาศจะลดลงมากจนทำให้การสูญเสียน้ำออกจากผิวหนังเพิ่มสูงขึ้นจึงทำให้ผิวหนังอักเสบจากความแห้ง
     
  2. ลักษณะผิวหนังของแต่ละบุคคลว่าแห้งมากน้อยแค่ไหน  ทั้งนี้ขึ้นกับพันธุกรรมของแต่ละคนว่าลักษณะผิวเป็นอย่างไร ถ้าผิวหนังแห้งไม่มากก็จัดเป็นคนผิวแห้งอย่างไม่เป็นโรค ถ้าลักษณะทางพันธุกรรมมีความผิดปกติมากก็เกิดโรคผิวแห้ง เช่น เด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (atopic dermatitis) โรค itchtyosis
     
  3. อายุ  เมื่ออายุย่างเข้าวัยทองต่อมไขมันและเซลล์ผิวหนังจะสร้างสารไขมันลดลง ทำให้เกิดลักษณะผิวแห้งจึงจำเป็นต้องใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์เคลือบผิว
     
  4. พฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล  บุคคลใดที่ชอบล้างมือบ่อย ฟอกตัวด้วยสบู่ที่เป็นด่างนาน  ออกแดดประจำ หรือทำงานกลางแจ้ง ทั้งสารเคมี แสงแดด ลม ความชื้นในบรรยากาศจะมีอิทธิพลต่อการเสียน้ำออกจากผิวหนังจะส่งเสริมให้เกิดภาวะผิวหนังแห้ง
           ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกที่ผลกระทบต่อความชุ่มชื้นผิวหนัง เช่น ระดับฮอร์โมน ยา ภาวะทุโภชนาการ เป็นต้น เมื่อทราบถึงปัจจัยที่ทำให้ผิวแห้งแล้ว  ในการป้องกันไม่ให้เกิดผิวแห้งสามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยต้นเหตุดังกล่าว  ถ้าปัจจัยใดหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ใช้วิธีป้องกันโดยการใช้เสื้อผ้า  ถุงมือ  และทาครีมหรือ โลชั่นเคลือบผิวที่เรียกว่า มอยส์เจอร์ไรเซอร์
 
ชนิดของมอยส์เจอร์ไรเซอร์
  1. ชนิดเคลือบผิว (Occlusives)
  2. ชนิดดูดน้ำ (Humectants)
  3. ชนิดสารกันแดด
 
มอยส์เจอร์ไรเซอร์แบ่งตามกลไกการทำงานได้ 3 ชนิด
  1. ชนิดปิดกั้นไม่ให้น้ำซึมผ่าน (Occlusive) ออกฤทธิ์โดยปิดกั้นไม่ให้น้ำซึมผ่าน เมื่อทาลงบนผิวหนังจะกระจายตัวออกคลุมผิวหนังเป็นแผ่นฟิล์มบาง ๆ กันไม่ให้น้ำภายในผิวหนังซึมออกสู่ภายนอก ทำหน้าที่คล้ายเกราะอ่อนป้องกันสารเคมีไม่ให้ระคายผิวหนังด้วยการใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์นี้ในสภาพจริง ควรคำนึงถึงด้วยว่าการล้างหรือฟอกผิวหนังบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือดีเทอร์เจน หรือ การถู เช็ดกับผ้าจะทำให้มอยส์เจอร์ไรเซอร์หลุด ออกจากผิวหนัง อาจจำเป็นต้องทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ซ้ำหลายครั้งต่อวัน ตามสภาพการดำเนินชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล สารกลุ่มนี้ได้แก่ petrolatum, lanolin เป็นต้น
     
  2. ชนิดดูดซับน้ำจากบรรยากาศ (Humec-tants) มอยส์เจอร์ไรเซอร์กลุ่มนี้เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังโดยการจับน้ำจากบรรยากาศหรือน้ำบนผิวหนังไว้กับผิวหนังไม่ให้ระเคยไป สารกลุ่มนี้ได้แก่ latic acid, urea และ glycerol, polyol เช่น sorbi-tol, glycerol  สารกลุ่มนี้อาจระคายผิวหนังได้ ทำให้รู้สึกยิบ ๆ เวลาทาบนผิวหนัง จึงควรระมัดระวังโดยเฉพาะผิวหนังที่มีการอักเสบอยู่

    มอยส์เจอร์ไรเซอร์อีกชนิดหนึ่งที่จัดในกลุ่มดูดซับน้ำจากบรรยากาศ แต่มอยส์เจอร์ไรเซอร์กลุ่มนี้ โครงสร้างทางเคมีเป็นสารโมเลกุลใหญ่และมีคุณสมบัติชอบจับกับน้ำ (hydrophilic)  จึงเรียกสารกลุ่มนี้ว่า กลุ่มมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่ขอบจับน้ำ (hydrophilic matrices) ไม่ยอมให้น้ำในผิวหนังผ่านออกสู่ภายนอกร่างกาย ได้แก่ สารกลุ่ม  mucopolysaccharide หรือ glycosaminoglycans ซึ่งประกอบด้วย hyaluronic acid และ chondroitin sulfate
     
  3. มอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่มีสารกันแดดผสมอยู่ มอยส์เจอร์ไรเซอร์กลุ่มนี้อาศัยคุณสมบัติของสารกันแดดช่วยป้องกันไม่ให้แสงอัลตร้าไวโอเลต เอ และ บี ทำลายผิหนังเพราะผิวหนังที่เป็นปกติมีสารมอยส์เจอร์ไรเซอร์ตามธรรมชาติสามารถรักษาน้ำไว้กับผิวหนังได้

หลักการเลือกซื้อมอยส์เจอร์ไรเซอร์
  1. ดูลักษณะผิวของตนเอง ผู้ที่มีผิวมันก็เลือกมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่มีความมันน้อย  จะทราบได้โดยการทดลองทามอยส์เจอร์ไรเซอร์นั้นที่ผิวหนัง
  2. ดูฤดูกาล ความชื้นในบรรยากาศน้อย  ควรเลือกมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่มีความมันมาก
  3. ดูภูมิประเทศ ถ้าอยู่ในประเทศไทยหรือประเทศทางตะวันออกที่มีความชื้นในบรรยากาศสูง อาจไม่จำเป็นต้องใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์
  4. พิจารณาส่วนประกอบของมอยส์เจอร์ไรเซอร์ว่ามีน้ำมันมากน้อยเพียงใด
  5. พิจารณาเรื่องกลิ่น เพราะมอยส์เจอร์ไรเซอร์มักมีเครื่องหอมผสมอยู่ด้วย  เพื่อให้น่าใช้แต่ก็เป็นสาเหตุของการแพ้ได้
  6. ดูราคาในภาวะเศรษฐกิจ เช่น ปัจจุบันควรดูเรื่องราคาให้เหมาะสมกับฐานะของแต่ละบุคคลด้วย
  7. ทดลองใช้ ดังสุภาษิตที่ว่า สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ การทดลองใช้ดูจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
 
วิธีใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์
           ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ให้ทั่วผิวหนังที่ต้องการเคลือบ  ใช้นิ้วมือคลึงเบา ๆ ให้เนื้อครีมกระจายออกทั่วผิวหนัง ในกรณีที่ผิวหนังมีการอักเสบร่วมด้วย ควรรักษาด้วยยาทาสเตียรอยด์ โดยปรึกษาแพทย์ผิวหนัง

 
การเลือกซื้อมอยส์เจอร์ไรเซอร์ในวัยทอง ตอนที่ 1
การเลือกซื้อมอยส์เจอร์ไรเซอร์ในวัยทอง ตอนที่ 2
 
โดย รศ.นพ.ป่วน  สุทธิพินิจธรรม
ภาควิชาตจวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด