โรคภูมิแพ้
คุณเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ บางครั้งเรียก โรคแพ้อากาศ โดยจะมีอาการสำคัญดังนี้ คันจมูก จาม น้ำมูกไหล คัดแน่นจมูก บางครั้งจะคันหัวตา คันเพดานปากหรือคันหูด้วย อาจพบอาการหอบหืดหรือผื่นคันตามผิวหนังร่วมได้ โรคนี้เป็นโรคทางพันธุกรรมไม่หายขาดแต่ถ้าไม่สัมผัสสารที่แพ้ จะไม่มีอาการ
เราจะรักษาภูมิแพ้อย่างไร………?
1. หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ สำคัญมากๆ
ส่วนใหญ่ของคนที่เป็นโรคภูมิแพ้จะแพ้ต่อตัวไรฝุ่น หรือสิ่งขับถ่ายของมันซึ่งเล็กมาก จนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เราจะพบไรฝุ่นอยู่ทั่วไปภายในบ้าน ในห้องนอนที่ทำงาน ตัวไรฝุ่นจะออกลูกออกหลานทุกเดือน ตัวไรฝุ่นโดนแดดจะตาย ดังนั้น การกำจัดไรฝุ่นเราจะต้องเอาของบนที่นอน เช่น หมอนข้าง ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียงตากแดดทุก 15 วัน ส่วนฟูกที่นอนถ้าพอขนไปตากแดดได้ให้นำไปตากแดดซักครั้ง แล้วใช้ผ้ากันไรฝุ่นหุ้มแล้วคลุมด้วยผ้าปูเตียงอีกชั้นและส่วนใหญ่ให้เปลี่ยนเฉพาะผ้าปูเตียงไปซัก ถ้าฟูกหนักมาก ยกมาตากแดดไม่ได้ให้เปิดหน้าต่างห้องให้แดดส่องถึงฟูกที่นอนบ่อยๆ บริเวณพื้นห้องนอนห้ามปูพรม เพราะจะเก็บฝุ่นและไม่ควรปัดกวาดพื้นเพราะจะปัดให้ไรฝุ่นตัวเล็กๆปลิวกระจายในห้องนอน สังเกตได้ถ้าคุณเป็นภูมิแพ้ต่อตัวไรฝุ่น เมื่อทำการกวาดบ้านก็มักจะมีอาการคันจมูกจามขึ้นมา หรือในรายที่เป็นมากอาจมีอาการหอบหืดได้ ดังนั้นไม่ควรใช้การกวาดบ้านเป็นการกำจัดไรฝุ่นในห้องนอน ส่วนการใช้เครื่องดูดฝุ่น เครื่องจะดูดฝุ่นเข้าทางด้านหน้าและฝนฝุ่นละอองเล็กๆ รวมทั้งตัวไรฝุ่นลอยออกมาด้านหลังและฟุ้งกระจายออกไปยกเว้นเครื่องดูดฝุ่นที่ดูดแล้วผ่านลงไปในน้ำในตัวเครื่อง อาจช่วยได้บ้าง
- วิธีที่ดีที่สุดของการทำความสะอาดห้องนอน คือ การเช็ดถูพื้นด้วยผ้าเปียกน้ำ เช็ดไปทางเดียวกันสักประมาณ 4-5 ครั้ง แล้วจุ่มน้ำซักแล้วทำใหม่ เปลี่ยนน้ำในถังและผ้าเช็ดพื้นบ่อยๆ ทำทั่วทั้งห้องนอน ตัวไรฝุ่นจะติดตัวผ้าถูพื้นแล้วลงไปในถังน้ำ นำน้ำไปเททิ้งผ้าเช็ดพื้นต้องนำไปตากแดด จะทำให้พ่อแม่พันธุ์ในห้องนอนลดลง ซึ่งจะขจัดตัวไรฝุ่นได้ดีและมากที่สุด การถูพื้นซ้ำทุกวันตัวไรฝุ่นจะค่อยๆ ลดลง สังเกตได้ว่าคุณและคนในครอบครัวคุณจะค่อยๆอาการดีขึ้น จนไม่มีอาการ
- การใช้ผ้าคลุมเตียงแบบพื้นผิวแน่นพิเศษ ป้องกันไม่ให้ตัวไรฝุ่นออกจากฟูกและหมอน ถ้าให้ได้ผลดี ให้นำฟูกไปตากแดดสักครั้ง เพื่อกำจัดไรฝุ่นในฟูกแล้วใช้ผ้าปูที่นอนธรรมดาอีกชั้นหนึ่งและเปลี่ยนผ้าปูที่นอนไปซักได้บ่อยๆ แต่ผ้าปูที่นอนกันไรฝุ่นซักไม่ต้องบ่อย เพราะเมื่อซักบ่อยๆ เส้นใยมักจะเสื่อมสภาพทำให้ไรฝุ่นเข้าไปหรือออกมาได้อีก
- ถ้าคุณแพ้ขนสุนัขหรือขนแมว ซึ่งจะรู้ได้โดยการทดสอบภูมิแพ้หรือจากประสบการณ์ของคุณเองเมื่อสัมผัสกับขนหมาและแมวแล้วเกิดอาการ เมื่อพบว่าคุณแพ้คุณจะต้องหลีกเลี่ยงสัตว์พวกนี้ หรือไมเลี้ยงสัตว์พวกนี้ไว้ในบ้าน
- ถ้าคุณแพ้แมลงสาบ ซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยง แต่การทำบ้านให้สะอาดปราศจากเศษอาหารทิ้งค้างไว้ และใช้ยากำจัดแมลงสาบอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยได้เป็นอย่างมาก
- ถ้าแพ้ละอองเกสรพืช ดอกไม้บางชนิด เช่น ต้นกก ผักโขม หญ้าแพรก มักจะมีอาการในช่วงเปลี่ยนฤดูใหม่ๆ หรือช่วงฤดูหนาว ถ้าพบว่าแพ้จากการทดสอบทางผิวหนังหรือมีอาการเมื่ออยู่ในสนามหรือเมื่อมีลมพัดมา มักหลีกเลี่ยงได้ยากในรายที่มีอาการแพ้มากหรือหอบหืดจะต้องย้ายที่อยู่หรือที่ทำงาน
- เชื้อราพบแพ้ได้ไม่น้อย มักพบในบริเวณที่อับชื้น ในห้องนอน จึงไม่ควรมีต้นไม้ที่ต้องรถน้ำ แอร์ที่ท่อน้ำทิ้งอุดตันสามารถพบเชื้อราและเชื้อโรคได้มาก จึงจำเป็นต้องแก้ไขเมื่อพบว่ามีน้ำหยดจากแอร์
2.การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ภูมิต้านทานดีขึ้น อาการภูมิแพ้จะลดลงไปด้วย รวมทั้งสุขภาพโดยทั่วไปจะดีขึ้น จนโอกาสเกิดโรคหัวใจ เหนื่อยง่าย หรือโรคกระดูกเสื่อมหายไปหรือลดลง ดังคำที่ว่า “ออกกำลังกายคือยาวิเศษ” ควรออกกำลังกายติดต่อกัน 20 นาที ต่อวัน และออกกำลังกายสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง อาจใช้วิธีเดินเร็วก็ได้
3.ยากิน มักเป็นยารักษาอาการส่วนใหญ่ เช่น
- ยาแอนตี้ฮีสตามีน (ยาแก้แพ้) ซึ่งมีหลายชนิดที่คนทั่วไปรู้จักกันดี คือ ยาเม็ดสีเหลืองคลอเฟนิรามีนขององค์การเภสัชกรรมหรือแอคติเฟด ซึ่งมียาแก้แน่นจมูกร่วมอยู่ด้วย ยาพวกนี้มักจะทำให้เกิดอาการง่วงนอนเป็นอาการข้างเคียง ปัจจุบันมียาแอนตี้ฮีสตามีนรุ่นใหม่ๆที่ออกฤทธิ์ยาว 12-24 ชั่วโมงและไม่ค่อยง่วง ในรายที่เป็นหอบหืดร่วมด้วยควรเลือกยารุ่นใหม่ๆเพราะไม่ทำให้เสมหะข้นเหนียวเพิ่มขึ้น บางครั้งเราจะใช้ยาแอนตี้ฮีสตามีนรุ่นใหม่ๆผสมกับยาแน่นจมูกที่ค่อยๆ ออกฤทธิ์ตลอด 12 ชั่วโมง เพื่อลดอาการแพ้และแน่นจมูก ซึ่งพบร่วมกันได้
- ยาสเตียรอยด์ เป็นยาลดอาการภูมิแพ้ที่ได้ผลดี แต่ต้องกินยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ หรือเภสัชกรเท่านั้นเพราะการกินยาตัวนี้นานๆ (เกิน 1 สัปดาห์ขึ้นไป) อาจมีผลทำให้หน้าบวม ตัวบวม กระดูกพรุนกดภูมิต้านทานของร่างกายและกดต่อมหมวกไต ทำให้การสร้างฮอร์โมนที่สำคัญลดลงมีโอกาสช็อกตายได้ จึงต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์โดยใกล้ชิด คนไข้ที่ได้ยานี้จากยาสมุนไพร ยาไทย ยาลูกกลอน ยาชุดจากร้านขายยาหรือคลินิกแพทย์บางแห่ง จะรู้สึกว่าอาการภูมิแพ้หอบหืดดีขึ้นอย่างมาก ทำให้อยากกินยานี้ต่อไปเรื่อยๆ แต่ข้อเสียรุนแรงจะพบในระยะหลังๆ
- ยาคีโตติเฟน เป็นยาลดการหลั่งสารเคมีต่ออาการแพ้ทำให้การตอบสนองต่อการแพ้ลดลงมีอาการน้อยลง มักใช้ร่วมกับยาแอนตี้ฮีสตามีน มักใช้ในเด็กเป็นส่วนใหญ่
- ยาใหม่ๆ ที่ต้านต่อฤทธิ์สารเคมีจากภูมแพ้ เช่น ซิงกูแลร์แต่ราคาแพง มักใช้ในรายที่เป็นมาก เช่น หอบหืดรุนแรงร่วมด้วย
ยาพ่นจมูก
ยาพ่นจมูก มี 4 ชนิด ได้แก่
- ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์ ใช้พ่นรักษาอาการภูมิแพ้ได้ดี เหมาะสำหรับคนที่มีอาการคัดแน่นจมูก หรือโรคริดสีดวงจมูก ยารุ่นใหม่ๆ จะพ่นจมูกข้างละ 2 ที วันละครั้งเดียว
- ยาพ่นแอนตี้ฮีสตามีน ได้ผลดีพอสมควรสำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ (ในประเทศไทยขณะนี้ไม่มีจำหน่ายแล้ว)
- ยาพ่นลดการบวมของเยื่อบุจมูก ใช้ลดอาการแน่นจมูกได้เร็ว แต่ห้ามติดต่อกันนานเกิน 5 วัน เพราะจะทำให้เยื่อบุจมูกหนาขึ้น เกิดอาการแน่นจมูกมากขึ้นเรื่อยๆ หรือตลอดเวลา ยาจะให้ผลลดการแน่นจมูกช่วงสั้นลงเรื่อยๆ จึงห้ามใช้ติดต่อกันนานๆ
- น้ำเกลือเข้มข้น ใช้พ่นจมูก ลดบวมของเยื่อบุจมูกได้ ลดบวมของเยื่อบุจมูกได้
วิธีพ่นยาเข้าเข้าจมูก
- ถ้ามีน้ำมูกให้สั่งน้ำมูกออกก่อน ทีละข้าง
- เขย่าขวดก่อนใช้ เปิดฝาครอบยา
- ปิดรูจมูกอีกข้าง ก้มศีรษะไปข้างหน้าเล็กน้อย จับขวดตั้งขึ้น สวดปลายที่พ่นเข้าไปในรูจมูก ให้ปลายหลอดยาพ่นห่างจากเยื่อบุจมูกพอควรและชี้ไปยังหัวตาหรือด้านข้างของจมูกที่มีเนื้อจมูกที่บวม ห้ามพ่นไปตามผนังกั้นกลางจมูก เพราะจะโดนกระดูกอ่อนกั้นกลางจมูก ทำให้กระดูกอ่อนกั้นกลางจมูกอักเสบและทะลุได้
- กดแป้นด้วยนิ้วชี้และนิ้วกลางให้สุด
- ให้นำขวดยาออกมาก่อนค่อยปล่อยคลายการกดแป้น
- ทำซ้ำอีกครั้งกับรูจมูกอีกข้าง
- ปิดฝาครอบยา
วัคซีนภูมิแพ้
จะใช้ในรายที่ผู้ป่วยเป็นมาก เช่น หอบหืด น้ำมูกไหล จาม มากทั้งวัน โดยต้องมีการทดสอบทางผิวหนังว่าแพ้สารใดก่อนจึงนำสารนั้นเริ่มต้นในปริมาณน้อยฉีดเข้าร่างกาย เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อสารแพ้นั้น และจะค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้นโดยจะต้องนัดฉีดทุก 1-2 สัปดาห์ ติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน การรักษาวิธีนี้ได้ผลดีพอสมควร แต่ผลที่ได้มักไม่ถาวร หยุดฉีดวัคซีนสักพักอาจกลับมาเป็นใหม่ได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้ในรายที่เป็นไม่มาก และควรหลีกเลี่ยงสารที่ระคายเคืองต่อเยื่อบุในจมูก เช่น ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสียรถ ควันไฟ ฝุ่นละอองต่างๆ เพราะทำให้ภูมิแพ้มีอาการมากขึ้น
ให้สั่งน้ำมูกออกมาทางด้านหน้าจมูกเท่านั้น
ห้ามสูดหรือซื้ดน้ำมูกเข้าไปหลังจมูกหรือลงลงคอ ห้ามครืดๆ ดูดเสมหะ หรือเสลดลงคอ เพราะจะเกิดโรคแทรกซ้อนได้
โรคแทรกซ้อนจากภูมิแพ้
- โรคริดสีดวงจมูก เพราะโรคภูมิแพ้ที่มีอาการมาก จะทำให้เยื่อบุจมูกบวม เยื่อบุไซนัส (โพรงอากาศในกระดูก ข้างจมูก) จะบวมด้วย เมื่อผู้ป่วย สูดน้ำมูก หรือดูดเสมหะลงคอ แรงดูดจะดูดเอาเยื่อบุไซนัสที่บวม ห้อยย้อยออกจากรูไซนัสแล้วกลายเป็นก้อนในจมูก เรียกริดสีดวงจมูกได้
- โรคไซนัสอักเสบ จากการดูดหรือซื้ดน้ำมูกหรือดูดครืดๆเอาเสมหะลงคอ จะดูดอากาศจากโพรงไซนัสออกมาและถ้าแรงดูดนานพอ จะทำให้รูเปิดของโพรงไซนัสบวมตันและเกิดการติดเชื้อในโพรงไซนัส ทำให้อักเสบได้ง่ายและเป็นเรื้อรังได้
- โรคหูชั้นกลางอักเสบ หรือหูน้ำหนวกระยะแรก เกิดจากการสูดหรือซื้ดน้ำมูกหรือดูดครืดๆ เอาเสมหะลงคอ ในขณะที่เยื่อบุจมูกบวม จะเกิดแรงดูดเอาอากาศจากหูชั้นกลางออกมาตามท่อยูสเตรเชี่ยน มายังด้านหลังจมูก แก้วหูจะบุ๋ม ผู้ป่วยรู้สึกหูอื้อเวลาพูดได้ยินเสียงตัวเองก้องในหู และถ้าแรงดูดนานและบ่อยทำให้เยื่อบุยูสเตรเชี่ยนบวมตัน เกิดน้ำในช่องหูชั้นกลางและติดเชื้อในหูชั้นกลาง เกิดการอักเสบหนองทะลุแก้วหูออกมาเป็นหูน้ำหนวกได้
โดย นพ.สุทธิศักดิ์ วุฒิพันธ์เรืองชัย