รู้หรือไม่ การแพ้ ยา กับ ผลข้างเคียงของยา นั้นต่างกัน 2 สองต่างเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้ยา
การแพ้ยา คือ ความผิดปกติของร่างกายที่มีต่อยาที่ใช้ไม่ว่าจะด้วยการ กิน ฉีด ทา หยอด สูด ไม่เกิดกับคนทั่วไปหรือโดยส่วนใหญ่ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ว่าใครจะแพ้ยาชนิดอะไร จะเป็นเฉพาะบางคน อาการที่แสดงออกก็ต่างกันไป เช่น อาการคัน เป็นลมพิษ หายใจไม่สะดวกเนื่องจากเกิดหลอดลมหดตัว/ตีบ ความดันโลหิตต่ำ เสียงแหบจากกล่องเสียงบวม ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ฉับพลัน อาการอาจเกิดได้ตั้งแต่รับประทานยาเข้าไป จนถึง 72 ชั่วโมง
ผลข้างเคียงของยา คือ ผลที่ไม่ใช่ผลการรักษาของยา เกิดขึ้นทุกคนที่ได้รับยา อาการแสดงออกเป็นไปตามฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยาแต่ละชนิด ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป บางคนเกิดน้อย (เหมือนไม่เกิด) บางคนเกิดมาก เห็นผลชัด เช่น ยา Chlorpheniramine (ยาแก้แพ้, ลดน้ำมูก) ทำให้เกิดอาการข้างเคียง คือ ง่วงนอน คาดเดาล่วงหน้าได้ รวมถึงการแสดงอาการ เช่น ท้องเสีย ผิวหนังไวต่อแสง ปวดท้อง เป็นต้น
การสังเกตผลของยาและอาการข้างเคียงจากการใช้ยา
1. สังเกตว่าผลของยาเป็นไปตามแผนการใช้ยาหรือไม่ หากไม่เป็นเช่นนั้น ควรไปหาแพทย์หรือเภสัชกรอีกครั้ง เพื่อประเมินและปรับการรักษา
2. ให้ความสำคัญกับอาการต่าง ๆ ของร่างกาย หากมีสิ่งใดผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์
3. สอบถามล่วงหน้าว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อเกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยา
5 หลักคิด เพื่อการใช้ยาให้ถูกต้อง
ที่สำคัญคือบทบาทและหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายคือ เภสัชกร และผู้ซื้อยาไปใช้ ที่จะต้องทำ
1. ถูกโรค
- เภสัชกรต้องสอบถามท่านเกี่ยวกับอาการที่ไม่สบายอย่างละเอียด ต้องสอบถามท่านว่า "เคยแพ้ยาอะไรบ้างหรือไม่" เพื่อป้องกันอันตรายจากการแพ้ยา
- ผู้ซื้อยา ต้องแจ้งเภสัชกรอย่างละเอียดทุกครั้งเกี่ยวกับโรคที่ตนเป็นอยู่ปัจจุบันและโรคประจำตัวที่ตนเองเป็นอยู่ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน เป็นต้น รวมทั้ง โรคเรื้อรังที่ท่านต้องใช้ยาเป็นประจำ เช่น โรคความดัน โรคเบาหวาน หรือ โรคหัวใจ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาที่เภสัชกรจะสั่งจ่ายให้ท่านกับยาที่ท่านใช้อยู่เป็นประจำ
2. ถูกคน
- เภสัชกรต้องสอบท่านว่า ท่านใช้เอง หรือซื้อให้คนอื่น
- ผู้ซื้อยา ต้องให้คำตอบชัดเจนว่า จะซื้อยาเพื่อใช้เอง หรือให้คนอื่นใช้ หรือ คนอื่นฝากมาซื้อยา
หากใช้ยาเอง จำเป็นที่จะต้องบอกเล่าอาการที่ท่านเจ็บป่วยให้เภสัชกรฟังอย่างละเอียด และอย่ารำคาญเมื่อเภสัชกรสอบถาม
หากไม่ได้ใช้เอง ต้องรู้ข้อมูลอาการของคนที่ฝากซื้ออย่างละเอียด หรือบอกอาการได้ว่ามีอาการเป็นอย่างไร
3. ถูกขนาด
- เภสัชกรต้องแนะนำ ชื่อยาที่ท่านได้รับ และขนาดยาที่ท่านได้รับ หรือยาที่เคยทานเป็นประจำอยู่
- ผู้ซื้อยา หากต้องการซื้อยาที่ซื้อใช้เป็นประจำ ควรต้องแจ้งเภสัชกรเกี่ยวกับขนาดยาที่ท่านใช้อยู่เพื่อความถูกต้องเหมาะสมของยาที่ใช้ เพราะขนาดยาสำหรับแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน
4. ถูกวิธี
- เภสัชกรต้องแจ้งท่าน ถึงลักษณะยา และวิธีที่จะรับยานั้นเข้าร่างกายว่า เช่น ยากิน ยาอม ยาดม ยาทา ยาพ่น หรือ ยาเหน็บ ฯลฯ เพราะยาแต่ละแบบ แต่ละชนิด จะมีวิธีการใช้ ที่จำเพาะเจาะจง เพื่อให้ยาใช้ได้อย่างมีประสิทธผลสูงสุด การให้ยาถูกคน ถูกโรค ถูกขนาด แต่ผิดวิธีใช้ ท่านจะไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้ยาแต่อาจจะได้รับอันตรายจากการใช้ยานั้นแทน
- ผู้ใช้ยา ต้องสอบถาม ทำความเข้าใจให้ชัดแจ้ง เมื่อได้รับยา ถึงวิธีใช้หรือวิธีนำเข้าร่างกาย ปริมาณ กำหนดเวลา อย่าลังเลหรือเกรงใจที่จะสอบถาม กล่องหรือคู่มือใช้ยา ก็ควรเก็บไว้เพื่ออ่านทำความเข้าใจ ไม่ควรทิ้งขว้าง
5. ถูกเวลา
- เภสัชกร ต้องแจ้งท่านว่าจะใช้ยานั้นเวลาไหน ก่อนหรือหลังอาหาร ก่อนนอน หรือใช้เวลาปวด เพราะเวลาที่ใช้ยาต่างกันอาจได้ผลจากยาไม่เท่ากัน ดังนั้นควรใช้ยาตามเวลาที่เภสัชกรแนะนำเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
- ผู้ใช้ยา ต้องสอบถาม ทำความเข้าใจให้ชัดแจ้ง ถึงกำหนดเวลา อาจมีคำถามเผื่อ กรณีไม่สามารถใช้ยาได้ตามกำหนด เช่น หากกรณีลืมกินยามื้อเช้า ควรทำอย่างไร (กินซ้ำทันที หรือกินมื้อต่อไป เป็นต้น) จดข้อมูลถ้าทำได้ อย่าลังเลหรือเกรงใจที่จะสอบถาม กล่องหรือคู่มือใช้ยา ก็ควรเก็บไว้เพื่ออ่านทำความเข้าใจ ไม่ควรทิ้งขว้าง
ซองยานั้นสำคัญ
ซองยา และคู่มือยา จะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับตัวยา วิธีใช้ ขนาดที่ใช้ จำนวนที่ใช้ เวลาที่ใช้ ข้อควรระวังอย่างละเอียด และต้องมีชื่อของคนที่จะใช้ยานั้นระบุไว้อย่างชัดเจนเพื่อป้องกันการใช้ยาผิดคน ควรอ่านและทำความเข้าใจให้ดีเพื่อประโยชน์ต่อผู้ใช้เอง
วันหมดอายุของยา
ผู้บริโภคควรรู้พื้นฐานในการพิจารณาวันหมดอายุของยาและควรสังเกตยาหมดอายุ
ยาที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ของบริษัทผู้ผลิต สามารถสังเกตได้จากวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ เช่น ที่แผงยา ซองยา เป็นต้น กรณีที่ระบุเฉพาะเดือนและปีที่หมดอายุ วันหมดอายุจะเป็นวันสุดท้ายของเดือน
ยาที่มีการแบ่งบรรจุออกจากบรรจุภัณฑ์เดิมของบริษัทผู้ผลิต ทั้งในรูปแบบของแข็งและของเหลว ให้มีอายุไม่เกิน 1 ปีหลังจากวันที่แบ่งบรรจุ แต่หากวันหมดอายุที่กำหนดโดยบริษัทผู้ผลิตสั้นกว่า ให้กำหนดอายุตามช่วงที่สั้นกว่า
ยาน้ำที่มีสารกันเสียทั้งชนิดรับประทานและใช้ภายนอก ควรเก็บไว้ไม่เกิน 6 เดือนหลังจากเปิดใช้
ยาผงแห้งผสมน้ำ หลังจากผสมน้ำแล้ว อายุยาให้ยึดตามข้อมูลที่บริษัทระบุไว้บนฉลาก
ยาหยอดตา ยาป้ายตา หากเป็นชนิดที่ใส่สารต้านเชื้อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค(Preservative) จะมีอายุไม่เกิน 1 เดือนหลังการเปิดใช้ แต่หากเป็นชนิดไม่เติมสารต้านเชื้อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคควรใช้ให้หมดภายใน 1 วัน
ยาที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ของบริษัทผู้ผลิต ที่มีการเปิดใช้แล้ว ควรสังเกตลักษณะของยาควบคู่ไปด้วย หากลักษณะทางกายภาพของยา(สี กลิ่น รส)เปลี่ยนแปลงไป ไม่ควรใช้ยานั้นต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากการจัดเก็บยาไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นไปตามแนะนำบนฉลาก โดยเฉพาะยาที่ไวต่อสภาวะแวดล้อม เช่น แสง อุณหภูมิ ความชื้น ยาจะเสื่อมสภาพหรือมีคุณภาพลดลงต่ำกว่ามาตรฐานกำหนดก่อนวันหมดอายุที่ระบุได้
ส่วนวิธีการสังเกตการเสื่อมสภาพของยา
ยาน้ำแขวนตะกอน เมื่อตั้งทิ้งไว้จะสังเกตเห็นว่ามีการแยกชั้น และเมื่อเขย่าขวดยาจะกลับมาเป็น
เนื้อเดียวกัน แต่ถ้ายาแขวนตะกอนนั้นเสื่อมสภาพ เมื่อเขย่าขวดแรง ๆ ยาจะไม่กลับมาเป็นเนื้อเดียวกันหรือตะกอนยังเกาะติดแน่นกัน
ยาน้ำบางประเภท อย่าง ยาน้ำที่มีตะกอนเบา ๆ เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ ยาน้ำแผนโบราณ ยาน้ำสตรี จะรู้ได้อย่างไรว่ายาเสื่อมสภาพหรือไม่ ต้องสังเกต สี กลิ่น และรสที่เปลี่ยนไป ส่วนยาน้ำที่เป็นน้ำใส เช่น ยาน้ำขับลมเด็ก หรือยาน้ำเชื่อม หากพบว่ามีตะกอนเกิดขึ้น หรือขุ่น เหมือนมีเยื่อเบาๆ ลอยอยู่ หรือกลิ่นสีรสเปลี่ยนไป แสดงว่า
ยาเสื่อมสภาพหรือเสียแล้วให้ทิ้งทันที
ยาเม็ด จะมีลักษณะเยิ้ม เม็ดแตก ชื้น บิ่น เปลี่ยนสี
ยาแคปซูล จะมีลักษณะแตกออกจากกัน บวม ชื้น หรือสีแคปซูลเปลี่ยนไป
ฉะนั้น เพื่อความปลอดภัย ก่อนใช้ยาทุกครั้งควรสังเกตลักษณะยาว่ามีการเปลี่ยนไปหรือไม่