หมอเขียนเล่าเรื่องโฟโม
@ รู้จักอาการ FOMO กันเถอะ....ทันยุคทันสมัยทีเดียว" กลุ่มอาการใหม่ของสังคม“กลัวเป็นคนไม่สำคัญ” FOMO"
FOMO เป็นคำย่อของกลุ่มอาการ Fear of Missing Out
ขณะนี้มีคนในสังคมยุคใหม่จำนวนมากมีอาการของ FOMO ซึ่งหมายถึงกลุ่มอาการกลัวเป็นคนไม่สำคัญ กลัวไม่มีใครคิดถึง ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่หมกมุ่นและ “ติด” การใช้เครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ทางอินเตอร์เน็ต เช่น การเล่นไลน์ เฟซบุค ทวิตเตอร์ ฯลฯ ยิ่งเล่นก็ยิ่งติด ยิ่งติดก็ยิ่งเล่น ทำไมเป็นอย่างนั้น
เป็นเพราะเขาสร้างโลกส่วนตัวเขาเองว่าเขาสามารถมีเพื่อนได้มาก ๆ มีความสำคัญที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัดและมีคนเข้ามาแสดงความเห็นกด Like ให้เขาด้วย ยิ่งมากเท่าไรยิ่งทำให้ตัวเองรู้สึกมีความสำคัญมีค่ามากขึ้นเท่านั้น
คุณคงอยากเห็นตัวอย่างของคนที่มีอาการ FOMO ผมจะยกตัวอย่างให้ฟัง
มีสามีคนหนึ่งมาปรึกษาผมว่าภรรยาเขา (อายุ 36 ปี) ติดการเล่นอินเตอร์เน็ตมากโดยเฉพาะการใช้เฟซบุค ทวิตเตอร์ และไลน์ เล่นตลอดเวลาแทบทั้งวันทั้งคืนเพราะเธอเป็นแม่บ้าน ไม่ได้ทำงานประจำ สามีอยากพูดคุยก็ไม่อยากพูดด้วย บางครั้งเธอออกไปตามศูนย์การค้ากับสามีเธอจะเดินยิ้มคนเดียว หัวเราะคนเดียว (คงคิดถึง comment ต่าง ๆ ในการสื่อสารกับคนในเฟซบุค) และเธอจะทักคนแปลกหน้าได้สบาย ๆ แต่สั้น ๆ เช่น สวัสดีค่ะ สบายดีไหมคะ ซึ่งบางคนก็ทักตอบ บางคนก็ทำหน้าแปลก ๆ เวลาอยู่กับสามีก็จะแยกตัวอยู่กับอินเตอร์เน็ต มักมีอารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรง ไม่อยากพูดกับใคร ๆ
สามีถามว่าเธอจะเป็นบ้าไหม แต่เธอยังพอพูดคุยรู้เรื่อง
ผมไม่ได้เห็นภรรยาแต่ตอบได้ว่าถ้าปล่อยไว้เธออาจเป็นบ้าหรือป่วยทางจิตได้ เพราะเธอเริ่มแยกโลกส่วนตัวแล้ว ชักไม่อยากอยู่ในโลกของความเป็นจริง เธอมีโลกออนไลน์ส่วนตัวของเธอที่ทำให้เธอสนุก รู้สึกมีค่าและทันเหตุการณ์ ทันสมัย ในขณะที่โลกของความเป็นจริงเธออาจจะเบื่อหน่ายและไม่สนุก
เธอกลัวว่าเธอจะไม่มีความสำคัญ ไม่มีคนคิดถึง เธอจึงเล่นและติดอินเตอร์เน็ตมากขึ้น เพราะสามารถทำให้เธอรู้สึกได้ว่าเธออยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายที่พร้อมจะพูดคุยสั้น ๆ ด้วยกันได้ เพราะต่างก็ FOMO ด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ เธอไม่สนใจสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์ธรรมดา ๆ ที่อยู่ในโลกของความเป็นจริง
FOMO เหมือนเป็นกลุ่มอาการ “หลง” ชนิดหนึ่งที่เป็นกันมากทั่วโลก ในอเมริกาก็มีคนเป็นแบบนี้มาก ในเมืองไทยก็มีมากขึ้น ผลตามมาก็คือพวกนี้มักมีสมาธิสั้น อารมณ์แปรปรวนได้ง่าย โดยเฉพาะถ้าไม่ได้เล่นอินเตอร์เน็ตจะหงุดหงิดง่าย หลายคนมีความวิตกกังวลกลัวการสูญเสียข่าวสารการติดต่อกับผู้คนอื่น ๆ บางคนกำลังเป็นโรคซึมเศร้า โกรธง่าย และขาดความคิดสร้างสรรค์ หลายคนมีผลเสียตามไปถึงที่ทำงาน ทำให้ทำงานไม่ได้ผลดี เข้ากับผู้คนรอบตัวไม่ดี เพราะขาด “ความสัมพันธ์” ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์จริง ๆ ที่อยู่รอบตัว แต่รอคอยที่จะหาทาง “ติดต่อ” กับมนุษย์ในอากาศจำนวนมากทางเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่
ลองถามตัวเองและสังเกตผู้คนรอบข้างดูบ้างซิว่า มีใครมีกลุ่มอาการ FOMO บ้างไหม ?
หลายคนอาจต้องการการรักษาหรือบำบัดแล้วก็ได้แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะรักษาได้ง่าย ๆ หรอก เพราะโรค “ติด” อะไรสักอย่างรักษายากทั้งนั้นถ้าเขาไม่อยากให้รักษา ดูแลตัวเองกันให้ดี ๆ นะครับพี่น้องร่วมสังคม Social network ทั้งหลาย
(โดย ศ นพ. วิทยา นาควัชระ คอลัมน์โลกและชีวิต นสพ แนวหน้า)