โรคต้อหินเมื่อเป็นแล้วจะมีการทำลายของขั้วประสาทตาและเส้นใยประสาทตาแบบถาวรอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คนไข้สูญเสียการมองเห็นและตาบอดในที่สุด
ชนิดของโรคต้อหิน
ต้อหินมีหลายชนิด โดยแบ่งเป็นชนิดหลักๆ ได้ 2 ชนิด คือ ต้อหินมุมเปิดและต้อหินมุมปิด
ต้อหินมุมเปิด
หมายถึง มุมระหว่างกระจกตาและม่านตาของคนไข้เป็นปกติ แต่ช่องทางที่น้ำในลูกตาไหลเวียนออกมีปัญหาไหลเวียนได้ไม่ดี น้ำจึงคั่งที่ช่องหน้าลูกตา ทำให้ความดันในลูกตาสูง
ต้อหินมุมปิด
หมายถึง มุมระหว่างกระจกตาและม่านตาของคนไข้แคบกว่าปกติ ทำให้ไปขัดขวางช่องทางที่น้ำในลูกตาไหลเวียนออก น้ำในลูกตาจึงไม่สามารถไหลเวียนออกได้ ทำให้คนไข้มีความดันลูกตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
อาการของโรคต้อหิน
- ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นจะไม่มีอาการผิดปกติ
- หากมีอาการตามัวหรือการมองเห็นแคบลง แสดงว่าโรคอยู่ในระยะรุนแรงแล้ว
- ผู้ป่วยต้อหินมักจะไม่มีอาการปวดตา ยกเว้น ผู้ป่วยโรคต้อหินมุมปิดเฉียบพลันที่มีความดันลูกตาสูงขึ้นแบบฉับพลัน
การวินิจฉัยโรคต้อหิน
จักษุแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยโรคต้อหิน โดยจำเป็นต้องอาศัยการตรวจตาและตรวจการมองเห็น
- การตรวจตาโดยจักษุแพทย์
- การตรวจด้วยอุปกรณ์พิเศษ เช่นเครื่องสแกนขั้วประสาทตา
- การตรวจลานสายตา
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคต้อหิน
หากคุณมีความเสี่ยงดังต่อไปนี้ 1 ข้อ หรือมากกว่าคุณควรปรึกษาจักษุแพทย์
- อายุมากกว่า 40 ปี
- เชื้อชาติเอเชีย แอฟริกัน หรือเชื้อสายสเปน
- มีประวัติในครอบครัวเป็นต้อหิน
- มีสายตาสั้นมากหรือยาวมาก
- เคยเกิดอุบัติเหตุที่ตามาก่อน
- มีการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- ประวัติของการไหลเวียนเลือดที่ผิดปกติ เช่น ไมเกรน เบาหวาน ควานดันโลหิตสูง เลือดจาง หรือภาวะช็อก
กรณีฉุกเฉิน!!
ต้อหินอาจเกิดขึ้นได้เฉียบพลัน ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน
- มองไม่เห็นอย่างฉับพลันในตาข้างใดข้างหนึ่ง
- การมองเห็นมัวลงคล้ายเป็นหมอก
- เวลามองมีแสงแฟลชหรือจุดดำ
- เวลามองดวงไฟจะเห็นรัศมีเป็นสีรุ้ง
- มีอาการปวดตา หรือปวดหัวข้างเดียวกับที่ตามัว
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
การรักษาต้อหินและการป้องกันภาวะตาบอด
หากคุณเป็นต้อหิน สิ่งสำคัญ คือ การควบคุมความดันตาให้อยู่ในระดับปกติ และหยุดการทำลายของเส้นประสาทตา
การควบคุมความดันตา ทำได้โดย:
1. การใช้ยาหยอดตารักษาต้อหิน
เป็นวิธีขั้นพื้นฐานและได้ผลที่ดี
2. การผ่าตัด หรือการใช้เลเซอร์รักษาต้อหิน
ทำในบางกรณี ทั้งนี้อาจต้องมีการใช้ยาหยอดตาร่วมด้วย
สิ่งที่สำคัญที่ควรทราบ
- การใช้ยาหยอดตาไม่ได้ทำให้การมองเห็นหรือความรู้สึกในการรักษาดีขึ้น แต่จะช่วยป้องกันไม่ให้การมองเห็นแย่ลง
- การใช้ยาหยอดทุกวันอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ
- การประเมินผลการรักษา จำเป็นต้องมีการตรวจตามการนัดหมายของแพทย์ เพื่อดูผลของการรักษา