ขนในตำแหน่งต่างๆ ในร่างกายต่างมีประโยชน์ตามธรรมชาติอยู่แล้ว ขนบนศรีษะซึ่งก็คือผม มีหน้าที้ป้องกันแสงแดดและเพื่อความสวยงาม ขนบริเวณลำตัวช่วยควบคุมอุณหภูมิ ขนที่รักแร้ ลดการเสียดสี เป็นต้น แต่กระนั้น ในยุคปัจจุบัน ความสวยงามดูดี เป็นปัจจัยที่จะมีอิทธิพลในชีวิตประจำวันสูงมาก การจัดการขนในบางตำแหน่งจึงมีความสำคัญขึ้นมา ไม่ว่าทั้งชายหรือหญิงก็ตาม และพร้อมกันนั้น วิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ ก็มีความพร้อมในการดูแลความต้องการนี้ได้อย่างหลากหลายเช่นกัน
การกำจัดขน มีได้ 2 ลักษณะหลักๆ คือ กำจัดแบบชั่วคราว และกำจัดแบบถาวร
การกำจัดแบบ ชั่วคราว เช่น การโกนขน การถอนขน ใช้สารเคมีการ WAX ขน
การกำจัดแบบถาวร ทำได้ เช่น ใช้กระแสไฟฟ้า การใช้แสงความเข้มสูง และการใช้เลเซอร์
สำหรับการการกำจัดแบบถาวร โดยวิธีใช้แสงความเข้มสูงและเลเซอร์ นั้น รพ.ศิริราช อธิบายว่า เป็นวิธีการกำจัดขนแบบถาวร โดยอาศัยพลังงานความร้อนจากแสงไปทำลายรากขน แสงสามารถทำลายรากขนโดยเฉพาะเจาะจง เพราะว่าบริเวณรากขนจะมีเซลล์สร้างสีที่เรียกว่าเมลาโนซัยท์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวนำแสงหรือตัวดูดพลังงานแสงให้มาอยู่เฉพาะบริเวณรากขน
กลไกการทำงานของเครื่องกำจัดขน คือส่งพลังงานแสงไปที่รากขน เซลล์สร้างสีบริเวณรากขนจะทำหน้าที่ดูดรับพลังงานแสง แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนเพื่อทำลายรากขน
ความรู้สึกระหว่างกำจัดขนด้วยแสงคล้ายกับหนังยางดีดบนผิวหนัง เป็นความรู้สึกซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ทนความรู้สึกได้ บริเวณผิวหนังอ่อน ๆ เช่น ริมฝีปาก ขาหนีบจะรู้สึกมากกว่าบริเวณอื่น การทายาชาชนิดครีมก่อนการทำเลเซอร์จะช่วยลดความรู้สึกระหว่างการรักษาได้ นอกจากนี้เลเซอร์หลายชนิดมีระบบให้ความเย็นแก่ผิวหนัง ซึ่งสามารถลดอาการเจ็บระหว่างการรักษาได้
ตัวแปรที่สำคัญ
การกำจัดขนด้วยเลเซอร์ หรือแสงความเข้มสูง มีตัวแปรที่สำคัญ ดังนี้ [รพ.วิภาวดี]
1.สีผิว ในคนที่มีสีผิวเข้ม อาจมีผลข้างเคียงได้ เช่น รอยแดงบวม สีผิวบริเวณนั้นเข้มข้น ดังนั้นในคนผิวขาวจะสามารถใช้พลังงานได้สูงกว่า โดยเกิดผลใกล้เคียงน้อยมาก จึงทำให้ผลการรักษาดีกว่าและใช้ระยะเวลา หรือจำนวนครั้งน้อยกว่าผิวคล้ำ
2.ระยะของขน วงจรชีวิตของเส้นขนมี 3 ระยะใหญ่ๆ
- ระยะเจริญ(Anagen) เป็นระยะที่เซลล์ในเส้นขนมีการเจริญและแบ่งตัว มีการสร้างเม็ดสีเมลานิน ทำให้เส้นขนมีสีดำ(ในคนเอเชีย) ระยะของขนชนิดนี้ขึ้นกับตำแหน่ง และเป็นตัวกำหนดความยาวของขน เช่น เส้นผมมีระยะนี้ 2-8 ปี ในขณะที่ขนขา 3-7 เดือน ขนที่แขน 45-90 วัน และอัตราการเจริญเติบโตจะไม่เท่ากัน เช่น ขนที่ศีรษะจะเป็น 0.4 มม./วัน ที่ลำตัว0.3/วัน
- ระยะเปลี่ยนแปลง(Catagen) เป็นระยะที่เริ่มเสื่อม เซลล์หยุดการแบ่งตัว และหยุดการสร้างเม็ดสี
- ระยะพักตัว(Telogen) รอที่ขนจะหลุดร่วงต่อไปโดยที่ศีรษะมีระยะเวลาประมาณ3เดือน ที่ลำตัว 6 เดือน
- พบว่าขนระยะเจริญ(Anagen) จะถูกทำลายด้วยเลเซอร์และแสงความเข้มสูง โดยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของขนระยะอื่น จึงต้องกำจัดขนหลายครั้ง เนื่องจากขนของมนุษย์มีการเจริญแบบ non-synchronous กล่าวคือ ขนในบริเวณเดียวกัน อาจอยู่ในระยะที่ต่างกัน
ผลการรักษาด้วยเลเซอร์ หรือแสงความเข้มสูงในการกำจัดขน จำนวนครั้งที่ทำ มีผลต่อการลดลงของจำนวนเส้นขนและภายหลังการกำจัดขน อาจมีเส้นขนอ่อนขึ้นมาได้ในบางราย