ปัจจุบันสัดส่วนประชากรโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความท้าทายทางเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน จากข้อมูลสํานักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงการปกครองและการสื่อสารภายในประเทศญี่ปุ่น ณ เดือนกันยายน 2563 พบว่า จํานวนประชากรทั้งหมดที่อาศัยในญี่ปุ่นมี 125.80 ล้านคน มีประชากรสูงวัย (อายุ 65 ปีขึ้นไป) อยู่ 36.16 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28.74 ของจํานวนประชากรทั้งหมด โดยกลุ่มประชากรสูงวัยเป็นกลุ่มที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ในขณะที่กลุ่มประชากรวัยอื่นๆ มีแนวโน้มลดลงในแต่ละปี
ข้อมูลจากสํานักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงการปกครองและการสื่อสารภายในประเทศญี่ปุ่น พบว่า
- การบริโภครายเดือนเฉลี่ยในปี 2562 ของทุกครัวเรือนในญี่ปุ่นรวมทุกรายการ ชใช้จ่ายอยู่ที่ 249,704 เยน (ประมาณ 70,000 บาท)
- โดยเป็นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการแพทย์ 11,886 เยน (ประมาณ 3,400 บาท) ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดรายเดือน
ทั้งนี้หากดูข้อมูลเฉพาะครัวเรือนสูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะพบว่า
ค่ารักษาพยาบาลอยู่ที่ 15,795 เยน (ประมาณ 4,400 บาท) จากรายจ่าย 239,947 เยน (ประมาณ 67,600 บาท) ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดสําหรับครอบครัวคู่สามีภรรยา
แต่สําหรับครอบครัวเดี่ยว ค่ารักษาพยาบาลอยู่ที่ 8,445 เยน (ประมาณ 2,400 บาท) จากรายจ่ายทั้งหมด 139,739 เยน (ประมาณ 39,000 บาท)
มูลค่าการตลาดอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ และการดูแลผู้สูงวัย/ทุพพลภาพ
แนวโน้มมูลค่าการตลาดอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ (Health Care) รวมถึงการดูแลและป้องกันสุขภาพ บริการสนับสนุนการใช้ชีวิตประจําวัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ของญี่ปุ่นและของโลกมีอัตราเติบโตสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าการตลาดญี่ปุ่นในปี 2563 จะอยู่ที่ 26 ล้านล้านเยน (ประมาณ 7.3 ล้านล้านบาท) และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า มูลค่าการตลาดปี 2573 จะเติบโตเป็น 37 ล้านล้านเยน (ประมาณ 10.4 ล้านล้านบาท)
ในขณะที่ตลาดโลกมีมูลค่าในปี 2563 อยู่ที่ 311 ล้านล้านเยน (ประมาณ 87.6 ล้านล้านบาท) และคาดว่ามูลค่าการตลาดปี 2573 จะอยู่ที่ 525 ล้านล้านเยน (ประมาณ 147.8 ล้านล้านบาท) แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและอัตราการเติบโตที่รวดเร็วอย่างเห็นได้ชัด
ปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดธุรกิจดูแลผู้สูงวัย/ทุพพลภาพในญี่ปุ่น
การขาดแคลนแรงงาน โดยสาเหตุของปัญหาการขาดแคลนแรงงานในธุรกิจนี้เกิดจาก
- อัตราค่าจ้างต่ำ อ้างอิงข้อมูลในปี 2561 ค่าจ้าง Care Manager ทั้งปีเป็นเงินเฉลี่ย 3.85 ล้านเยน (1.09 ล้านบาท) สําหรับ Home Helper เป็นเงิน 3.30 ล้านเยน (0.93 ล้านบาท) และพยาบาลเป็นเงิน 4 ล้านเยน (1.13 ล้านบาท)
- สภาพการทํางานหนัก เมื่อเทียบกับค่าแรงที่ได้แล้ว คนญี่ปุ่นส่วนมากถือว่าเป็นค่าแรงที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับเนื้องานที่มีภาระหน้าที่หนักและลําบาก
ปัจจัยผลักดันให้ตลาด Health Care ญี่ปุ่นเติบโต
- ประชากรยุค Baby Boom (เกิดช่วงปี 2490 - 2492) จํานวนกว่า 2.60 ล้านคน จะเข้ากลุ่มผู้สูงวัย (อายุเกิน 75 ปี) ตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดธุรกิจดูแลผู้สูงวัยและทุพพลภาพในญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่อง
- บริษัทขนาดใหญ่หลายรายตัดสินใจเริ่มเข้าสู่ตลาดธุรกิจดูแลผู้สูงวัยและทุพพลภาพในญี่ปุ่นกันมากขึ้น และเริ่มมีการแข่งขันกันอย่างเห็นได้ชัด
- ในปัจจุบันเริ่มมีการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ให้บริการในธุรกิจดูแลผู้สูงวัยและทุพพลภาพ ทําให้หลายบริษัทมีการลงทุนพัฒนาหุ่นยนต์ในธุรกิจนี้โดยเฉพาะ
- ญี่ปุ่นเปิดการรับแรงงานต่างชาติเข้าสู่ธุรกิจดูแลผู้สูงวัยและทุพพลภาพ เพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน
โอกาสสําหรับผู้ประกอบการไทย
ธุรกิจอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพในญี่ปุ่นเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจจากหลายบริษัทใหญ่ ทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ เพราะมีแนวโน้มเติบโตสูง ในขณะที่ธุรกิจภาคอื่นๆ มีแนวโน้มชะลอตัว แต่ในขณะเดียวกันธุรกิจนี้กลับประสบปัญหาใหญ่ ก็คือการขาดแคลนแรงงานและผู้ดูแลผู้สูงวัย/ทุพพลภาพ เนื่องจากประชากรวัยทํางานของญี่ปุ่นเองมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับสภาพแวดล้อมกับเงื่อนไข ทําให้ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนวัยทำงานเท่าที่ควร ญี่ปุ่นจึงได้มีนโยบายเปิดรับต่างชาติให้สามารถเข้ามาทํางานในญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น โดยตั้งวีซ่าทักษะเฉพาะ จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจกับประเทศที่ญี่ปุ่นทําสนธิสัญญาด้วย ซึ่งรวมถึงประเทศไทย สามารถเข้ามามีบทบาทในธุรกิจ Health Care
นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติ สามารถเข้ามาลงทุนในการจัดตั้งสถานให้บริการดูแลสุขภาพอีกด้วย โดยมีการระบุรายละเอียด ข้อบังคับต่างๆ ไว้แยกตามประเภทของสถานให้บริการและวัตถุประสงค์ นี่จึงเป็นอีกช่องทางทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ผลักดันให้ธุรกิจนี้เติบโต ซึ่งก่อนจะตัดสินใจลงทุนในธุรกิจนี้ ผู้ประกอบการควรศึกษากฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ เงื่อนไข ตลอดจนโครงสร้างเงินสนับสนุนต่างๆ ให้ละเอียดถี่ถ้วน
แหล่งอ้างอิง : สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
SME Go Inter
25/03/2021