คณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ได้เฝ้าติดตามและ พบว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ ฉลากอาหาร ที่ไม่ถูกต้อง หรือเข้าใจคลาดเคลื่อนไป จนอาจสร้างความสับสนได้
อย.อธิบาย ความหมายของทั้ง 2 คำนี้ ไว้ดังนี้
"วันที่หมดอายุ"
หรือ EXP/ EXD ย่อมาจาก Expiry Date /Expiration Date เป็นวันที่บ่งบอกถึงวันที่อาหารหมดอายุ เพราะหลังจากวันนั้นเป็นต้นไป อาหารจะเริ่มบูดหรือเน่าเสีย และไม่ปลอดภัยในการบริโภค ฉะนั้น จึงไม่ควรรับประทานอาหารนั้นหลังจากวันที่กำหนดบนฉลากว่าหมดอายุแล้ว
"วันที่ควรบริโภคก่อน"
หรือ "Best before..." หรือ "Best before end..." (BB/BBE) เป็นวันที่บ่งบอกว่าอาหารนั้นยังคงมีคุณภาพและมีรสชาติที่ดีเหมือนเดิมจนถึงวันที่ระบุไว้ ซึ่งหลังจากวันที่กำหนดรสชาติและคุณภาพของอาหารจะเปลี่ยนแปลงไป
เพราะผู้ผลิต จะต้องทำการศึกษาอายุการเก็บรักษาของอาหารที่ตนผลิต เนื่องจากมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง ได้แก่ คุณลักษณะของอาหารชนิดนั้นๆ เช่น ปริมาณน้ำอิสระในอาหาร (Aw) และค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) กระบวนการผลิต โดยเฉพาะอุณหภูมิและระยะเวลาในกระบวนการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ชนิดและคุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์ และการเก็บรักษา การเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบเหล่านี้ จึงเป็นเหตุของการเปลี่ยนแปลงด้านคุณสมบัติและคุณภาพของอาหารเมื่อเวลาผ่านไป
คำแนะนำ
หากจะบริโภคอาหารหลังจากวันที่ควรบริโภคก่อน ผู้บริโภคควรพิจารณาว่า อาหารดังกล่าว มีลักษณะ กลิ่น สี และรสชาติเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ เช่น มีเส้นใยหรือจุดของเชื้อรา หรือ มีลักษณะเป็นเมือก หากพบว่าอาหารนั้นมีลักษณะไม่พึงประสงค์ก็ไม่ควรบริโภค
สำหรับอาหารที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น และต้องเก็บรักษาไว้ในที่เย็นตลอดเวลา เช่น นม และน้ำผลไม้พาสเจอร์ไรส์ ไม่ควรรับประทานหลังวันหมดอายุ
หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคขอให้ร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Line/Facebook: FDAthai หรือ สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ