ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

น้ำตาลฟรุกโตส (Fructose) น้ำตาลธรรมชาติในผลไม้ แต่มากไป ก็ไม่ดี

นาทีนี้ พิสูจน์แล้วว่า เครื่องดื่มมีน้ำตาล ที่ทำให้เกิดโรคอ้วน การที่น้ำตาลหวาน อยู่ในรูปของเหลว ทำให้ไม่สามารถกระตุ้น ศูนย์ในสมองที่ไฮโปธาลามัส (hypothalamus) ได้มากพอ เพื่อสนองความอิ่มและหยุดกิน น้ำอัดลม น้ำหวาน อาหารแป้ง ฟาสต์ฟู้ด ทำให้น้ำตาลทะลักพรวดเข้าเลือดในทันที ก่อให้เกิดการหลั่งทะลักของฮอร์โมนอินซูลิน เพื่อให้ระดับน้ำตาลคงที่จนเกิดการดื้ออินซูลิน และอ้วนมากขึ้นเรื่อยๆ

 
 
          คนอ้วนยังมีสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบมากในเลือด ทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบ สมองตีบเร็วกว่าอายุ แถมส่วนมากยังชอบอาหารไขมัน ซึ่งเมื่อรวมกับหวานจะทำให้กลไกกำจัดสารพิษ อัลไซเมอร์ในสมองบกพร่อง เกิดการสะสมพิษมากขึ้น และแม้ว่าระดับอินซูลินจะสูงในเลือด แต่ในสมองกลับ ลดลง ดังนั้น คนอ้วนจึงสมองฝ่อมากและเร็วกว่าคนไม่อ้วน คำแนะนำคือ ควรกินน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ทั้งนี้ เครื่องดื่มหวาน หรือน้ำอัดลม 1 แก้ว อาจมีน้ำตาล 12 ช้อนชา
 
          โดยธรรมชาติรสหวานเป็นส่วนประกอบในวัตถุดิบอาหารอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ ธัญพืช และถั่วต่างๆ หรือแม้แต่นม ดังนั้น เราจึงไม่ควรเติมน้ำตาลเพิ่มในอาหาร
 
 
          ไม่กินน้ำตาลแล้วกินน้ำผึ้งแทนดีไหม น้ำผึ้งมีคุณสมบัติคล้ายน้ำเชื่อม แต่มีข้อดีกว่าที่มีสารอาหารอื่นๆ เป็นองค์ประกอบด้วยคือ มีโปรตีนปริมาณเล็กน้อย มีวิตามิน และแร่ธาตุ แต่องค์ประกอบหลัก 80% ของน้ำผึ้งคือ น้ำตาล ดังนั้น น้ำผึ้งจึงไม่แตกต่างจากน้ำเชื่อมทั่วไป แต่รสของน้ำผึ้งจะหวานมากกว่า เนื่องจาก มีน้ำตาลฟรุคโตสเป็นองค์ประกอบอยู่ค่อนข้างมาก และหวานกว่าน้ำตาลกลูโคส 1.3 เท่า ดังนั้น ถ้าใช้น้ำผึ้งแทนน้ำตาลต้องลดปริมาณการเติมลง
 
          ฟรุคโตสเป็นน้ำตาลที่มีอยู่ในธรรมชาติ พบมากในผลไม้ทั่วไป อาจอยู่ในรูปน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว หรืออาจอยู่คู่กับน้ำตาลกลูโคสในรูปน้ำตาลทราย หลังจากกินฟรุคโตสโดยเฉพาะที่ได้จากการสกัด ระดับน้ำตาลในเลือดจะไม่ขึ้นสูงมาก เนื่องจากมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ และสามารถเข้าเซลล์ได้โดยไม่ต้องอาศัยอินซูลิน ฟังดูเหมือนจะดีและเหมาะที่จะใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน
 
          แต่แท้จริงแล้ว ฟรุคโตสมีกลไกการเผาผลาญที่แตกต่างจากกลูโคส ตรงที่สามารถเผาผลาญได้เฉพาะที่ตับและกระตุ้นการสร้างไขมันทั้งที่ตับและในเส้นเลือด ส่งผลให้ผู้ที่บริโภคฟรุคโตสมากเกินไป จะมีระดับไขมันไม่ดีชนิดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และยังมีไขมันเกาะตับมากขึ้น
 
  
          นอกจากนี้ กินฟรุคโตสจะทำให้รู้สึกไม่อิ่ม เนื่องจาก ไม่กระตุ้นให้เกิดการหลั่งอินซูลิน และไม่ทำให้ฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกอิ่มมีระดับสูงขึ้น ผลการศึกษาเมื่อต้นปี 2556 พบว่า ฟรุคโตสมีกลไกออกฤทธิ์ที่สมองต่างจากกลูโคส ทั้งในแง่การกระตุ้นให้อิ่มจะน้อยกว่ากลูโคส แถมหวานกว่า ติดใจรสชาติ และออกฤทธิ์ต่อสมองส่วนความสุขทำให้อยากกินอีก จึงมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนชัดเจน และมีภาวะดื้ออินซูลินเพิ่มขึ้น
 
 
          กินฟรุคโตสมากเกินไป อาจทำให้มีระดับกรดยูริกและความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นได้ และเป็นคำตอบว่า ทำไมกินเครื่องดื่มรสหวาน ทั้งชาเขียว ชาขาว ที่โฆษณาว่าไขมัน 0% และไม่มีคอเลสเตอรอล ไม่มีน้ำตาล ซึ่งจริงๆ คือ ไม่มีกลูโคส แต่มีฟรุคโตสแทนยังอ้วน
 
          ผลเสียจะไม่เกิด หากกินผลไม้สด 1 ส่วน หรือ 6-8 ชิ้นคำ จะมีฟรุคโตส 2 ช้อนชา แต่ได้ใยอาหารที่ช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาล และช่วยชะลอการเกิดภาวะดื้ออินซูลินได้ และกากใยเป็นตัวป้องกันการสกัดสารพิษจากอาหาร เช่น จากไข่แดง เนื้อแดง ที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ และสมองเสื่อม
 
          รักษาชีวิตง่ายที่สุดคือ "เลิก" น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้คั้นแยกกาก ชาเขียว ชาขาว นมรสหวาน และลดการปรุงแต่ง
 
 
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด