กรุงเทพฯ, ประเทศไทย – 18 ตุลาคม 2567 – มาสเตอร์การ์ดและสมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism Association หรือ MTA) ประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการเพื่อยกระดับประสบการณ์การดูแลสุขภาพแบบครบวงจรสำหรับผู้ป่วยและผู้ให้บริการทั่วโลกด้วยเทคโนโลยีบัตรเสมือนจริงเชิงพาณิชย์ของมาสเตอร์การ์ด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล นับเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลแห่งแรกที่นำฟีเจอร์การชำระเงินรูปแบบใหม่นี้มาใช้ ซึ่งช่วยสร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของประเทศไทย ด้วยธุรกรรมทางการแพทย์ข้ามพรมแดนที่สะดวก ยืดหยุ่น และปลอดภัยยิ่งขึ้น
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยปีพ.ศ. 2566 สามารถสร้างรายได้มากกว่า 4 หมื่นล้านบาท[1] สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานการรักษา การบริการ และการดูแลผู้ป่วยในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ตลอดจนความพยายามของรัฐบาลในการผลักดันประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของโลกภายในปีพ.ศ. 2569 นอกจากนี้ สถาบันโกลบอลเวลเนส (Global Wellness Institute) ยังคาดการณ์ว่า มูลค่าทางการตลาดของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของประเทศไทยอาจสูงถึง 7.6 แสนล้านบาทภายในปีพ.ศ. 2570[2] ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนต่างเร่งพัฒนาทักษะบุคลากรและเทคโนโลยีคุณภาพสูง เพื่อตอบสนองต่อกระแสและความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ
ในแง่ของการเติบโตนี้และความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการเข้าถึงบริการสุขภาพทั่วโลกที่ง่ายดาย ความร่วมมือระหว่างมาสเตอร์การ์ดและสมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จึงเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยยกระดับการชำระเงินในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงอาศัยเงินสดและการโอนเงิน ส่งผลให้ขาดความโปร่งใสทางการเงินและทำให้บุคคลที่กำลังมองหาการรักษาในต่างประเทศมีทางเลือกในการชำระเงินที่จำกัด ข้อมูลเชิงลึกจากการสำรวจผู้ป่วยด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่าผู้ป่วยมากกว่าครึ่งหนึ่งทั่วโลกแสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับการชำระเงินระหว่างประเทศ เนื่องจากต้นทุนแอบแฝง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงในการฉ้อโกงที่มากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งในการปรับปรุงกระบวนการชำระเงินอย่างจริงจัง
“ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก เรามุ่งมั่นที่จะสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาในหลากหลายอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และลดความซับซ้อนในการไหลเวียนของเงินระหว่างผู้คนและธุรกิจ” แชด วอลเลซ ประธานฝ่ายโซลูชันเชิงพาณิชย์ของมาสเตอร์การ์ด กล่าว “เรากำลังใช้ประโยชน์เทคโนโลยีของเราเพื่อขับเคลื่อนประสบการณ์การชำระเงินที่ปลอดภัยและเร็วขึ้นในวงกว้าง และด้วยความร่วมมือกับสมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในครั้งนี้ ทำให้เราสามารถปลดล็อกศักยภาพของบัตรเสมือนของมาสเตอร์การ์ด ที่จะพลิกโฉมระบบนิเวศของภาคสาธารณสุขได้”
ผู้ป่วยสามารถจองและชำระค่ารักษาและบริการผ่านช่องทางการชำระเงินที่ต้องการได้ โดยที่สมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จะช่วยจัดการในส่วนที่เหลือได้อย่างราบรื่นด้วยการใช้เทคโนโลยีบัตรเสมือนของมาสเตอร์การ์ด ทันทีที่เกิดการชำระเงินและการชำระเงินนั้นได้รับการตรวจสอบความถูกต้อง ธนาคารพันธมิตรของสมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จะออกบัตรมาสเตอร์การ์ดแบบเสมือน เพื่อชำระเงินให้กับผู้ให้บริการด้านสุขภาพโดยตรง การใช้บัตรแบบเสมือนยังมาพร้อมกับสิทธิประโยชน์มากมายให้กับผู้ให้บริการซึ่งรวมไปถึงความปลอดภัยที่เพิ่มมากขึ้น การจัดการที่มีประสิทธิภาพ และข้อมูลการโอนเงินแบบเรียลไทม์เพื่อการกระทบยอดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้สมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ยังพัฒนาแพลตฟอร์ม Better by MTA ซึ่งมาพร้อมกับความสามารถในการชำระเงินของมาสเตอร์การ์ด เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การชำระเงินด้านการดูแลสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น แพลตฟอร์มนี้ทำให้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เป็นเรื่องง่าย โดยอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถนัดหมายการรักษา สำรองการเดินทางที่เกี่ยวข้อง และเปรียบเทียบตัวเลือกการรักษาได้อย่างสะดวกสบาย แทนที่เครื่องมือการจองหลายรูปแบบด้วยประสบการณ์การใช้งานที่ครบวงจร
“เป็นเวลาเกือบสองทศวรรษแล้วที่เรามีบทบาทสำคัญในการทำให้การดูแลสุขภาพเป็นเป็นเรื่องที่ถูกคนเข้าถึงได้ โปร่งใส มีราคาที่ย่อมเยาว์และมีคุณภาพ ด้วยการเชื่อมโยงผู้ป่วยเข้ากับเครือข่ายผู้ให้บริการที่เชื่อถือได้และได้รับการรับรองทั่วโลก” โจนาธาน อิเดลไฮท์ ประธานและผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ กล่าว “การพัฒนาอินเทอร์เฟซกลางตัวเดียวที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการบริการและการชำระเงินของมาสเตอร์การ์ด ถือเป็นก้าวสำคัญในภารกิจของเราในการทำให้การดูแลสุขภาพมีความปลอดภัยและเข้าถึงได้อย่างไร้พรมแดน”
“การทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้นั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ปัจจัยด้านค่าใช้จ่ายก็ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญมาโดยตลอด แม้ว่านักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่เดินทางมายังประเทศไทยสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ราว 25% ถึง 75% แต่กระบวนการจัดการกับการชำระเงินข้ามพรมแดนมักมีความล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ให้บริการ เราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับสมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และมาสเตอร์การ์ด โดยใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมการชำระเงิน เช่น บัตรแบบเสมือน เพื่อทำให้ธุรกรรมเหล่านี้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โครงการริเริ่มนี้เป็นกุญแจสำคัญในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้มากขึ้น และลดความซับซ้อนของกระบวนการชำระเงินสำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” ดร. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว
มาสเตอร์การ์ดและสมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ กำลังเปิดตัวแพลตฟอร์มที่ช่วยเพิ่มความสามารถด้านการชำระเงินใหม่ ๆ ร่วมกับผู้ให้บริการด้านสุขภาพหลายรายทั่วโลก และวางแผนที่จะขยายความสามารถนี้ไปยังผู้ให้บริการทั่วโลกมากขึ้นภายในสิ้นปีพ.ศ. 2567
###
อ้างอิง:
[1] “Medical Tourism Budget: What makes Thailand to top destination.” สำนักงงบประมาณของรัฐสภา (สงธ), เมษายน 2567.
[2] “GWI’s 2023 Global Wellness Economy Monitor report.” Global Wellness Institute, 7 พฤศจิกายน 2566.