วันที่ 24 มกราคม 2565 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.,พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปอท.รรท.รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์, นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.ดร.สุชาติ จองประเสริฐ ผู้อำนวยการกองยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานกรณีจับกุมกวาดล้างร้านขายยาที่ไม่ได้รับอนุญาตและได้รับอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระดมตรวจค้นร้านขายยาทั่วประเทศ สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 127 ราย พร้อมยึดของกลางที่เกี่ยวข้องกว่า 359 รายการ
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับ การร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก และได้รับการประสานงานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ขายยานอนหลับ ขายยาชุด ขายยาแก้แพ้แก้ไอ ขายยาเขียวเหลือง และการขายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษโดยมิใช่เภสัชกรในพื้นที่หลายจังหวัด โดยพฤติการณ์ใช้พนักงานขายยาที่ไม่ใช่เภสัชกรซึ่งขาดความรู้ความเข้าใจ ในสรรพคุณ ข้อบ่งใช้และข้อพึงระวังในการขายยา
ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 ในห้วงวันที่ 4-21 มกราคม 2565 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) จึงได้ทำการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปูพรม ตรวจสอบร้านขายยาทั่วประเทศ พบว่ามีร้านขายยากระทำความผิดกฎหมายจำนวนมาก และได้ทำการจับกุมร้านขายยา ที่กระทำความผิดได้จำนวน 129 ราย และได้จับกุมตัวผู้กระทำความผิดพร้อมของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย
ซึ่งจากการเข้าจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำความผิดพบ
- เป็นร้านขายยาที่ไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 17 ราย
- พนักงานขายยาที่ไม่ใช่เภสัชกร จำนวน 119 ราย (พบเพียงเอกสารใบประกอบวิภาชีพเภสัชกรรมของเภสัชกรแสดงไว้ภายในร้าน) ผลการตรวจพบพนักงานขายยาจบการศึกษา ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงปริญญาตรี ไม่มีความรู้ในวิชาชีพเภสัชกรรมแต่อย่างใด
- อีกทั้งยังพบของกลาง วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท, ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา, ยาปลอม,ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษเป็นจำนวนมาก
โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดเป็นของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกิดเหตุเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมาย
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. ประมวลกฎหมายยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2564 มาตรา 94
ฐาน “ห้ามผู้ใดจำหน่าย มีไว้ครอบครองซึ่ง
วัตถุออกฤทธิ์ ประเภท 4” มีความผิดตาม ม. 149 จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท
2. พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510
2.1 มาตรา 12 ฐาน “ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาท
2.2 มาตรา 75 ทวิ ฐาน“ขายยาบรรจุเสร็จหลายขนานโดยจัดเป็นชุดในคราวเดียวกัน จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.3 มาตรา 72(4) ฐาน “ขายยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.4 มาตรา 32 ฐาน “ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่”
ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท
3. พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537
มาตรา 28 ฐาน “เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวว่าจากการตรวจสอบในครั้งนี้พบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท 4 Clorazepate ทะเบียนยา P 1A 054/2542 (ทะเบียนหมดอายุตั้งแต่ปี2005), ยาไม่มีทะเบียน เช่น P50 -ยาเขียวเหลือง, ยาปลอม เช่น ยี่ห้อซิเดกร้า, ยาชุด และการนำยาหมดอายุติดฉลากทับแล้วนำกลับมาขายใหม่ เป็นต้น ซึ่งทางตำรวจสอบสวนกลางจะขยายผลยาในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาไม่มีทะเบียน และยาปลอมที่ตรวจพบในร้านขายยา ต่อไป ทั้งนี้ขอความร่วมมือร้านขายยาทั้งหลายให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และร้านที่ไม่ได้รับอนุญาตจะดำเนินการกวาดล้างต่อไป และฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าว่ายาคือหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่ใช้เพื่อรักษาโรคหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้อย่างถูกวิธีและได้รับคำแนะนำในการใช้อย่างละเอียด จากผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม โดยเฉพาะยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ ซึ่งจะต้องใช้อย่างระมัดระวังตามใบสั่งของแพทย์ เท่านั้น หากพี่น้องประชาชนพบเห็นร้านขายยาใดมีพฤติกรรมในการใช้พนักงานขายยาที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใดสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา
ภก.ดร.สุชาติ จองประเสริฐ ผู้อำนวยการกองยา กล่าวตอนท้ายว่า ภายในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ครบกำหนด การผ่อนผันตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556 ที่ให้ร้านขายยาทุกประเภทปฏิบัติได้ตามหลักวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน หรือ จี พี พี (Good Pharmacy Practice :GPP) ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการยกระดับคุณภาพของร้านขายยาให้มี "ระบบคุณภาพ" ตามแนวทางสากล โดยเริ่มตั้งแต่การพัฒนาที่โครงสร้างพื้นฐานด้านอาคารสถานที่และอุปกรณ์ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วตามบันไดขั้นที่หนึ่งในปี พ.ศ.2561 และ ณ สิ้นปี 2565 นี้จะเป็นการประเมินในส่วนที่เหลือทั้งหมดของ GPP ได้แก่ บุคลากร การควบคุมคุณภาพยา และเภสัชกรที่จะเป็นผู้ปฏิบัติตามหลัก GPP ข้างต้นให้เกิดขึ้นในร้านยาได้อย่างสมบูรณ์ GPP นี้จะช่วยให้ผู้มารับบริการเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ มีเภสัชกรที่คอยควบคุมระบบคุณภาพ รวมถึงมีสภาวะการจัดเก็บยาที่เหมาะสมเพื่อส่งมอบให้ผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพและปลอดภัย และขอให้ร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และหากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556 หรือ อีเมล 1556@fda.moph.go.th