30 มิถุนายน 2565 ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนฆ้อง อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรม สบส.เข้าร่วมนำเสนอตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมในผลงาน “อสม.กลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)
นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (COVID 19) เป็นโรคอุบัติใหม่ที่มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากการระบาด ทีมีการพบผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งพลังของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวนั้นอาจจะไม่เพียงพอที่จะหยุดการแพร่ระบาดของโรค
กรม สบส.จึงนำกลไก อสม.ที่ได้พัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 จนถึงปัจจุบันมีจำนวน พี่น้อง อสม.มากกว่า 1.05 ล้านคน มาร่วมรับมือปัญหาดังกล่าว โดยกรม สบส.ได้ให้การสนับสนุนข้อมูลข่าวสาร ที่ถูกต้องสร้างความรอบรู้ให้กับ อสม. มีการวิเคราะห์ปัญหา กำหนดกลยุทธ์ และขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ ส่งเสริมการจัดกิจกรรมป้องกันแก้ไขปัญหาโควิดในชุมชนโดย อสม.อาทิ การเคาะประตูบ้านให้ความรู้โรคโควิด 19 สอนทำหน้ากากอนามัยจากผ้า แอลกอฮอลล์เจล การค้นหา คัดกรองกลุ่มเสี่ยง การสร้างวิถีชีวิตใหม่ในชุมชน ชวนคนไทยฉีดวัคซีน ฯลฯ ซึ่งมีการสนับสนุน ติดตาม ให้คำปรึกษาในการปฏิบัติงานของพี่น้อง อสม.อย่างต่อเนื่อง พร้อมนำผลการปฏิบัติงานที่ได้มาถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดเป็นนวัตกรรมในการป้องกัน ควบคุมโรคโควิด 19 ในชุมชน จนทำให้การระบาดของโรคโควิด19 ในไทยมีความรุนแรงน้อยลง เกิดการยอมรับจากประชาชนในประเทศและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
ในโอกาสที่สำนักงาน กพร.จัดประกวดรางวัลเลิศรัฐ กรม สบส.จึงเสนอผลงาน “อสม.กลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” เข้ารับการประเมินรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2565 ในสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม จากคณะผู้ตรวจประเมิน และคณะกรรมการจากสำนักงาน กพร. เพื่อเชิดชูเกียรติ และสร้างขวัญกำลังใจแก่พี่น้อง อสม.และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพ และขจัดปัญหาวิกฤติการณ์ของโรคโควิด 19
เมื่อย้อนดู ผลการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา โดยมี เหล่า อสม.เป็นกลไกสำคัญสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2563 จนถึงปัจจุบัน อสม. ปรากฏผลงาน ที่ชัดเจนโดดเด่น มากมาย ได้แก่
- การรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน 7,424,625 คน สอนประชาชนทำหน้ากากผ้า 3,626,950 ชิ้น
- ลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน จำนวน 14,074,193 หลังคาเรือน
- ค้นหา คัดกรองกลุ่มเสี่ยง ทั้งประชาชน หรือแรงงานที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กลุ่มที่เดินทางมาจากกรุงเทพและปริมณฑล และกลุ่มที่ไปร่วมกับคนในพื้นที่เสี่ยง จำนวน 1,035,203 คน
- ติดตามกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค (กลุ่ม 607) ได้รับวัคซีนโควิด 19 จำนวน 11,734,930 คน
- ร่วมกับทีม 3 หมอ ณ ศูนย์แยกกักรักษาตัวในชุมชน (CI) 4,451 แห่ง ผู้ป่วยที่แยกกักรักษาตัวที่บ้าน (HI) 24,978 คน และลงพิกัดตามแอปพ้นภัยเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบาง จำนวน 173,069 คน
นี่คือผลงานที่ควรยกย่อง และ เหมาะสมที่สุดกับการเข้าชิงรางวัลที่มีเกียรติ