นพ.จามร กล่าวเสริมว่า “ขณะนี้องค์กรต่าง ๆ ตระหนักถึงความจำเป็นในการให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น [2] การสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่พนักงานแต่ละคนสามารถยกระดับทักษะ จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการมีสุขภาพจิตที่ดี และการมีความคิดริเริ่มในด้านต่าง ๆ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตภายในองค์กรก็ถือเป็นกุญแจสำคัญ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นายจ้างควรทราบคือ พนักงานมักลังเลที่จะปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตกับเพื่อนร่วมงานและผู้จัดการ การที่จะแก้ปัญหานี้ องค์กรควรนำเสนอแนวทางที่หลากหลายซึ่งตอบสนองความต้องการและความคาดหวังที่แตกต่างกันของพนักงานแต่ละคน การสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี เช่น การให้คำปรึกษาระยะสั้นแบบตัวต่อตัว การสร้างสภาพความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงาน บริการสายด่วนเพื่อสุขภาพตลอด 24 ชั่วโมง และการฝึกอบรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความเครียด ถือเป็นสิ่งที่มีความหมายสำหรับพนักงาน [3]”
อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส ขอแบ่งปันคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถส่งเสริมภาวะสุขภาพจิตที่ดีของพนักงานท่ามกลางช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับพนักงานบางคน ดังนี้:
1. สร้างวัฒนธรรมที่เปิดกว้างทางอารมณ์ และส่งเสริมการสื่อสารแบบเปิด – สร้างพื้นที่ ๆ ปลอดภัยสำหรับพนักงานเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี โดยสนับสนุนให้พนักงานกล้าที่จะพูดถึงความรู้สึกออกมาตรง ๆ หากตนเองรู้สึกไม่สบายใจหรือกำลังมีปัญหาที่หนักหนาเกินกว่าจะรับไหว
2. ส่งเสริมการดูแลตนเอง – องค์กรควรให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการดูแลตนเอง เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ และเทคนิคการจัดการความเครียด โดยอนุญาตและสนับสนุนให้พนักงานหยุดพักจากการทำงานในระหว่างวัน เพื่อรับอากาศบริสุทธิ์และยืดเส้นยืดสายเป็นระยะ ๆ
3. ให้ความยืดหยุ่น – ในแง่ของเวลาทำงานและสถานที่ทำงาน เพื่อที่จะช่วยให้พนักงานสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัวตามความต้องการของแต่ละคน
4. ย้ำเตือนให้พนักงานรู้เสมอว่าพวกเขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว – ส่งเสริมให้พนักงานใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่าง ๆ เกี่ยวกับสุขภาพจิตและการสนับสนุนที่มีอยู่ขององค์กร เช่น การให้คำปรึกษาหรือโครงการช่วยเหลือพนักงาน
5. มุ่งเน้นไปที่การยกระดับทักษะผู้จัดการสายงานด้วยการฝึกอบรมเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่ดี หรือการฝึกอบรมการปฐมพยาบาลด้านจิตใจเบื้องต้น – เพื่อให้พนักงานระดับหัวหน้ารับรู้ถึงสัญญาณของปัญหาสุขภาพจิตและรู้วิธีช่วยเหลือพนักงานที่อาจจะมีปัญหา