มูลนิธิรามาธิบดี
มูลนิธิรามาธิบดี จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 โดยศาสตราจารย์นายแพทย์อารี วัลยะเสวี คณบดีท่านแรกของ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมคณะกรรมการบริหารคณะแพทยศาสตร์ เพื่อรองรับความประสงค์ของผู้มีจิตศรัทธาจำนวนมากในขณะนั้น ที่ประสงค์จะร่วมบริจาคเงิน เพื่อช่วยเหลือในโครงการต่างๆ ของโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยทุนทรัพย์ที่ได้รับ ได้นำไปจัดสรร เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางด้านการแพทย์ช่วยต่อลมหายใจผู้ป่วยให้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพทุกระดับชั้น ด้วยประโยชน์ที่ได้สร้างให้กับสังคมและประชาชน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับมูลนิธิรามาธิบดีฯ อยู่ในพระราชูปถัมภ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551
"เงินบริจาคที่ได้รับจากทุกท่าน จะได้รับการจัดสรรอย่างคุ้มค่าสำหรับการดำเนินงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งผู้ป่วยที่เข้ารับบริการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุขของประเทศ"
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา
ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดีฯ
โครงการที่รอการบริจาค
ปัจจุบันมี 4 โครงการที่ ได้แก่
1. โครงการศูนย์นวัตกรรมการแพทย์เพื่อผู้สูงวัยและผู้ป่วยระยะท้าย
ริเริ่มโดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อดูแลผู้สูงวัยแบบครบวงจร และดูแลทุกชีวิตให้มีคุณภาพที่ดีจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต โครงการ ประกอบไปด้วย ศูนย์อเนกประสงค์เพื่อพัฒนาสุขภาพ ศูนย์สร้างเสริมสุขภาพแบบครบวงจร อาคารผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก อาคารผู้ป่วยระยะท้าย อาคารปฏิบัติธรรม อาคารศูนย์ฝึกอบรมและวิจัย เมื่อเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปสามารถดูแลผู้ป่วยได้รวม 2,800 ราย/ปี รองรับผู้ป่วยใน 178 เตียง แบ่งเป็น ผู้ป่วยสมองเสื่อม ผู้ป่วยพักฟื้นที่ต้องการฟื้นฟูสภาพ ผู้ป่วยระยะท้ายที่มีอาการเฉียบพลันที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ จำนวนเตียงรวม 106 เตียง หรือคิดเป็นผู้ป่วย 2,500 ราย/ปี และผู้ป่วยระยะท้ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่โรคอื่น ๆ จำนวน 72 เตียง คิดเป็นผู้ป่วย 300 ราย/ปี
ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการแก่ประชาชนในปี 2567 เนื่องด้วยเป็นโครงการขนาดใหญ่ทั้งด้านขนาดพื้นที่ และคุณประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมโดยรวม ตลอดจนด้านสาธารณสุขระดับประเทศ จึงใช้งบประมาณสูงถึง 1,300 ล้านบาท แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนหนึ่ง แต่คณะฯ ยังขาดแคลนงบประมาณอีกจำนวน 770 ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารสถานที่ที่ได้รับการออกแบบพิเศษสำหรับการดูแลผู้สูงวัย จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์เฉพาะทางสำหรับโรคผู้สูงวัย รวมทั้งงบประมาณสำหรับการฝึกอบรมและจ้างบุคลากรการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก
2.โครงการป้องกันและช่วยเหลือสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และมูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้จัดตั้งกองทุนพิเศษ "โครงการป้องกันและช่วยเหลือสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19" เพื่อสร้างความพร้อมและความคล่องตัวในการบริหารจัดการด้านต่างๆ อาทิ บุคลากร เครื่องมือแพทย์ ห้องผู้ป่วย เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตทั้งระยะสั้นและระยะยาว
3. โครงการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ เพื่อสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ตั้งอยู่ใกล้กับชายฝั่งทะเลตะวันออก อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ บนเนื้อที่ประมาณ 319 ไร่ ดำเนินการทั้งในรูปแบบของโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ โรงเรียนแพทย์ และสถานที่วิจัย โดยสามารถผลิตบัณฑิตแพทย์ บัณฑิตพยาบาล รวมถึงบัณฑิตวิทยาศาสตร์สาขาวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย และบัณฑิตหลักสูตรวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ รวมทั้งสิ้น 546 คนต่อปี มีเตียงที่สามารถรองรับผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก 460 เตียง
เนื่องจากสถาบันนี้อยู่ในส่วนภูมิภาคพร้อมให้บริการทางการแพทย์ในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดใกล้เคียง อาทิ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว จึงเป็นโอกาสในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างครบวงจร ครอบคลุมการรักษาตั้งแต่ ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ เน้นการรักษาด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ฟื้นฟู อาชีวอนามัย และผู้ป่วยระยะสุดท้าย เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในทุก ๆ ขั้นตอนของสายธารการดูแลผู้ป่วยอย่างครบวงจร
สถาบันการแพทย์ต้นแบบในอนาคต
นอกจากจะเป็นความหวังและที่พึ่งพิงใหม่ของประชาชนในด้านการรักษาแล้ว สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ยังเป็นโรงเรียนสำหรับนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล อาจารย์แพทย์ ในการเรียนรู้วิชาชีพได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เป็นสถานที่ฝึกอบรบแพทย์ประจำบ้านเพื่อเป็นแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หลักสูตรเด่นของสถาบันแห่งนี้คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย ซึ่งมีเฉพาะที่นี่เท่านั้น
โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์
ในฐานะโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับการรักษาผู้ป่วยตั้งแต่การตรวจรักษาทั่วไปจนถึงเฉพาะทาง เช่น การรักษาโรคหัวใจขาดเลือดด้วยการสวนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือด การผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ มีหอผู้ป่วยวิกฤตเด็กและทารกแรกเกิด เป็นต้น รวมถึงการรักษาในภาวะฉุกเฉิน เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหารหรือปอด หน่วยไตเทียม ศูนย์อุบัติเหตุ เน้นการจัดการด้านการบริการเพื่อควบคุมปริมาณผู้ป่วยให้สอดคล้องกับอัตรากำลังของบุคลากรที่มีอยู่ ไม่ให้แออัดจนเกินไป ด้วยการให้ผู้ป่วยนัดหมายล่วงหน้า และพัฒนาการรักษาแบบบูรณาการให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาดใหม่โควิด -19 ขึ้น สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ได้เป็นศูนย์กลางการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด – 19 ของโรงพยาบาลรามาธิบดี และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือดูแลผู้ป่วยวิกฤตจากโรคต่างๆ
4.โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้
“โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้” เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ ให้ได้รับโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีและมีประสิทธิภาพ ซึ่งครอบคลุมผู้ป่วยยากไร้ในทุกประเภท รวมถึง ผู้ป่วยจากสถานสงเคราะห์ ผู้ป่วยจิตเวช ภิกษุอาพาธและแม่ชีที่ป่วย ผู้ป่วยเร่ร่อนจรจัด ผู้ป่วยในพระราชูปถัมภ์ ผู้ป่วยจากเหตุการณ์และภัยพิบัติต่างๆ ผู้ป่วยต่างด้าว รวมถึงผู้ป่วยระดับกลางที่ใช้สิทธิประกันตน หรือใช้ประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะถึงแม้ว่าประชาชนชาวไทยจะได้รับสิทธิการรักษาฟรีตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิพื้นฐานอื่นๆ แต่พบว่า มีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่มีปัญหาในเรื่องการใช้สิทธิดังกล่าว อีกในหลายกรณี ได้แก่ สิทธิไม่ครอบคลุมบางโรค เช่น การปลูกถ่ายตับ การเปลี่ยนไต และ เปลี่ยนถ่ายไขกระดูก เป็นต้น ยาหรืออุปกรณ์การแพทย์บางรายการไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงเป็นส่วนเกินจากสิทธิที่ผู้ป่วยต้องชำระเอง กรณีผู้ป่วยดำเนินการผิดขั้นตอน ใช้สิทธิไม่ถูกต้อง หรือยื่นเอกสารไม่ถูกต้องครบถ้วน
นอกเหนือจากการช่วยเหลือด้านค่ารักษาพยาบาลที่เป็นปัญหาหลักในการดำรงชีวิตของผู้ป่วยแล้ว มูลนิธิรามาธิบดีฯยังประสานงานช่วยเหลือครอบคลุมไปถึงปัญหาด้านต่างๆ อาทิ ปัญหาจากความเจ็บป่วย ปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ ปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม ปัญหาค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากหากปล่อยเรื้อรังโดยไม่ได้รับการแก้ไขหรือเยียวยาให้ถูกต้องแล้ว ในอนาคตย่อมจะส่งผลเสียต่อทั้งสภาวะทางร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ผู้ดูแลผู้ป่วย รวมถึงบุคคลในครอบครัวผู้ป่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
5. โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน
โรงพยาบาลชุมชนที่กระจายอยู่ในท้องถิ่นทั่วประเทศนั้น ถือเป็นสถานพยาบาลระดับฐานรากอันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ในการช่วยเหลือชุมชน และประชาชน ซึ่งการช่วยเหลือนี้ มิได้ครอบคลุมเพียงแค่ด้านสุขภาพ แต่ยังดูแลไปถึงการดำรงชีวิต การสร้างอาชีพการเสริมความมั่นคงของครอบครัว อันนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน ด้วยความใกล้ชิดอยู่ใน พื้นที่ รับรู้ถึงปัญหาอย่างแท้จริง ที่ผ่านมาหลายสิบปีโรงพยาบาลชุมชนได้ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน อาทิ สอนอาชีพ สร้างรายได้ จ้างงาน อบรมคนในชุมชนให้รู้จักการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงวัยที่บ้าน เป็นต้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ถือเป็นบทเรียนหนึ่งที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า โรงพยาบาลชุมชนนั้น เป็นหน่วยงานสำคัญยิ่งในระดับท้องถิ่นที่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี ซึ่งประสบการณ์ครั้งนี้ สามารถปรับเป็นต้นแบบเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในระยะต่อไป รวมถึงโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย
กลุ่มคนที่อยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลชุมชนนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ ผู้สูงอายุที่พึ่งพาตนเองไม่ได้ ซึ่งครอบครัวและชุมชนจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้น โรงพยาบาลชุมชนจึงเปรียบเสมือนที่พึ่งของชุมชนโดยการจะเป็นที่พึ่งได้นั้น จำเป็นต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ก่อน ปัจจัยสำคัญที่จะเสริมสร้างความคล่องตัวให้แก่โรงพยาบาลชุมชนก็คือ งบประมาณเพื่อผลิตบุคลากรการแพทย์ที่มีคุณภาพ การสร้างอาคารสถานที่ ตลอดจนองค์ความรู้ และเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้ที่จำเป็นให้แก่แต่ละชุมชน
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีตระหนักดีว่า “โรงพยาบาลชุมชน” มีศักยภาพในการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส อีกทั้งเป็นที่ทำงานของแพทย์ใช้ทุนในสามปีแรก จึงได้จัดตั้ง “โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน” เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลชุมชนในการทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองที่เข้มแข็งพึ่งพาตัวเองได้ เพื่อช่วยเหลือให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน
โครงการนี้ก่อตั้งขึ้นร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย โรงพยาบาลน้ำพอง และโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเครือข่ายของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงเป็นการส่งต่อความช่วยเหลือจากรุ่นสู่รุ่น
6. โครงการทุนการศึกษารามาธิบดี
ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี จวบจนปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยมากกว่า 2 ล้านคนต่อปี และผลิตบุคลากรการแพทย์ได้มากกว่า 18,000 คน ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล รวมทั้งแพทย์และพยาบาลเฉพาะทาง และนักวิทยาศาสตร์สื่อความหมาย บุคลากรเหล่านี้ เมื่อจบไปแล้วได้กระจายออกไปดูแลประชาชนตามสถานพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ และบุคลากรจำนวนหนึ่งอุทิศตัวทำหน้าที่เป็นครูถ่ายทอดวิชาความรู้มุ่งสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพรุ่นต่อ ๆ ไป
ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดสอนทั้งในระดับปริญญาตรี บัณฑิตศึกษา และวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญในการประกอบวิชาเวชกรรม จำนวนกว่า 140 หลักสูตรต่อปี โดยครอบคลุมด้านแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ ผลิตทั้งแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อดูแลผู้ป่วย จนถึงระดับอาจารย์แพทย์และอาจารย์พยาบาล หลักสูตรวิทยาศาสตร์สาขาวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย ซึ่งเป็นหลักสูตรพิเศษที่เปิดสอนแห่งเดียวในประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการสื่อสารทุกเพศวัย และหลักสูตรวิทยาศาสตร์สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ อันเป็นหน่วยสำคัญในการช่วยเหลือชีวิตขั้นต้นก่อนที่จะถึงโรงพยาบาล
ดังนั้น เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ และสืบสานพระราชปณิธานพระราชบิดาแห่งการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้จัดตั้ง “โครงการทุนการศึกษาบุคลากรการแพทย์” เพื่อมอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ทั้งหลักสูตรปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้สามารถจ่ายค่าการศึกษาและค่าใช้จ่ายจำเป็นในการดำรงชีพ อันจะทำให้นักศึกษาเล่าเรียนได้ตามความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่ เมื่อจบการศึกษา จะได้นำความรู้ไปพัฒนาให้เกิดความเชี่ยวชาญจนเป็นที่พึ่งของผู้ป่วยและทำประโยชน์ต่อสังคมต่อไป
มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมเป็น “ผู้ให้การศึกษา” ผลิตบุคลากรการแพทย์ เพื่อมอบสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนให้แก่คนไทย ผ่านการบริจาคเงินตามกำลังศรัทธา
ข้อมูลจาก
มูลนิธิรามาธิบดี