สำหรับโรคปวดศีรษะที่เป็นโรคของมันเองจริงๆ นั้น มีหลายโรค แต่ที่ยอดฮิต ในกลุ่มผู้ปวดบ่อยๆ ได้แก่ ไมเกรน ซึ่งมักชอบสงสัยกันมาก ว่าจะเป็นหรือไม่ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป
สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องให้ผู้อ่านเข้าใจคือ การวินิจฉัยสาเหตุของการปวดศีรษะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยการซักอาการโดยละเอียด (ไม่ต่ำกว่า 10 ข้อ) นอกจากในบางรายที่ค่อนข้างชัดเจนมากๆ อาจใช้คำถาม 3-4 ข้อก็พอบอกได้ ดังนั้นการเล่าอาการของคนไข้ทางจดหมาย หรือทางอินเตอร์เน็ตนั้น บ่อยครั้งที่ผู้ถามจะได้คำตอบที่ชวนให้หงุดหงิดว่า ควรพบแพทย์ หรือ บอกไม่ได้ ข้อมูลไม่พอ ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
การตอบโดยอาศัยผ่านสื่อนี้ สิ่งที่น่าจะมีประโยชน์ที่สุดคือ บอกให้ผู้ถามพอเป็นแนวทางว่าอาจเป็นอะไรได้บ้าง จำเป็นต้องพบแพทย์หรือไม่ แต่สำหรับการวินิจฉัยนั้น คงหวังผล 100% คงไม่ได้ ก่อนจะเข้าเรื่อง สิ่งสำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับปวดศีรษะคือ ปวดแบบใดบ้างที่ต้องให้ความสำคัญ และต้องรีบไปพบแพทย์ ซึ่งได้แก่ลักษณะต่อไปนี้
- ปวดกะทันหัน ทันทีทันใด
- ปวดรุนแรงมาก
- ปวดในลักษณะที่ไม่เหมือนที่เคยปวดมาก่อน (ปวดแบบใหม่)
- อาการค่อยๆเป็นมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป อาจเป็นวัน เป็นเดือน จนถึงเป็นปีก็ได้
- มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้สูง ชัก เห็นภาพซ้อน อาเจียนรุนแรง แขนขาอ่อนแรงเป็นซีก
เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ ขอแบ่งชนิดการปวดศีรษะเป็น 3 กลุ่มกว้างๆ ได้แก่
- ปวดจากกล้ามเนื้อตึงตัว
- ปวดจากการขยายตัวของหลอดเลือด
- ปวดจากมีสิ่งผิดปกติในสมอง
สำหรับการปวดจากเส้นประสาทที่ศีรษะและใบหน้า ขอไม่กล่าวถึงในที่นี้
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว
เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดในชีวิตประจำวัน เกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น อดนอน เครียด ใช้สมองหรือสายตาติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ฯลฯ การปวดมีลักษณะตึงๆตื้อๆ บางคนอาจปวดจี๊ดๆร่วมด้วย ร้าวจากขมับไปกลางศีรษะ จนถึงท้ายทอย (ข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้)
อาการปวดมักจะเริ่มตอนสายๆ หรือบ่าย (คือเมื่อเริ่มเคร่งเครียดกับงาน)แล้วมักจะปวดต่อไปทั้งวัน อาจไม่รุนแรงแต่พอรำคาญ (ถ้าเป็นมากๆก็รุนแรง ได้เหมือนกัน)
ลักษณะสำคัญ
คือ เวลาหายก็มักหายไม่สนิทเป็นปลิดทิ้ง คือจะยังตื้อๆอยู่บ้างเล็กน้อยซึ่งต่างจากไมเกรนที่ปวดรุนแรง แต่เวลาไม่ปวดก็จะปกติ100% (เป็นปลิดทิ้ง)
การป้องกัน
ทำได้โดย
1.เลี่ยงสาเหตุทั้งหลายที่กล่าวไว้ข้างต้น ช่วงที่ปวดสามารถทานยาแก้ปวดทั่วๆไป (เช่น พาราเซตามอล)
2. ถ้ายังไม่ค่อยดี อาจต้องใช้ยาอื่นร่วมด้วย เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาคลายเครียด
3. ซึ่งควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา
ปวดจากการขยายตัวของหลอดเลือดที่ศีรษะ
มีหลายแบบ แต่ที่พูดถึงบ่อยๆคือ ไมเกรน ซึ่งยังไม่ทราบกลไกการเกิดโรค อย่างแท้จริง แต่เชื่อว่าเกี่ยวกับทั้งระบบหลอดเลือด และเส้นประสาทในศีรษะ สำหรับต้นเหตุอื่นที่ทำให้ปวดจากหลอดเลือดขยายตัว นอกจากโรคไมเกรนได้แก่ ไข้สูง ยาบางชนิด อากาศร้อน เป็นต้น ลักษณะสำคัญ คือ ปวดตุ้บๆที่บริเวณขมับ ข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ บางคนอาจเริ่มจากตื้อๆจี๊ดๆก่อน แล้วค่อยๆรุนแรงขึ้นจนตุ้บๆในที่สุด
เวลาปวดจะรุนแรงมาก มักคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย แต่ช่วงที่ไม่ปวดจะหายเป็นปลิดทิ้งบางคน(10-20%) อาจมีอาการเตือนก่อนปวด โดยจะตาพร่า เห็นแสงแว้บๆ สีเหลืองหรือเป็นเส้นหยักๆลอยไปมา แล้วต่อมาค่อยปวดศีรษะ
สิ่งที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ
มีหลายอย่าง เช่น อากาศร้อน ยาบางชนิด(เช่น ยาลดความดันบางชนิด ยาเม็ดคุมกำเนิด) แอลกอฮอล์ อาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแล็ต เนย เบคอน ไส้กรอก แฮม ผงชูรส เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีสารบางอย่างที่กระตุ้นอาการได้
เมื่อเริ่มมีอาการ สิ่งที่ต้องปฏิบัติ คือ พยายามอยู่ในที่เงียบๆ สงบๆ ถ้าหลับได้เลยยิ่งดี ยาที่ทานแก้ปวด มีตั้งแต่พาราเซตามอลธรรมดา จนถึงยาที่ใช้เฉพาะโรค (ซึ่งหลายตัวจะมีผลข้างเคียง จึงควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา) ซึ่งแล้วแต่ แต่ละรายว่าจำเป็นแค่ไหน ในรายที่เป็นบ่อยๆ อาจต้องใช้ยา ในกลุ่มที่ป้องกันไมเกรน ซึ่งต้องให้แพทย์สั่งให้ เนื่องจากยาแต่ละตัวมีความเหมาะสม ต่อคนไข้แต่ละคนไม่เหมือนกัน
ไมเกรน
มักเริ่มเป็นตั้งแต่วัยรุ่น หรืออาจเริ่มช่วงอายุ15-30 ปี พบในหญิงมากกว่าชาย โดยบางคนมีอาการมากช่วงก่อน ระหว่าง หรือหลังมีประจำเดือน ต่อมาเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะหลังวัยหมดประจำเดือน อาการมักห่างลงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้ เชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับการเกิดอาการปวดแบบไมเกรน คนที่คิดว่าตัวเองเป็นไมเกรน มักนิยมซื้อยา cafergot มาทานเอง ซึ่งต้องระวัง ให้มากๆ โดยเฉพาะในคนอายุ40ปีขึ้นไป เนื่องจากยาอาจมีโอกาส ทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบได้ และที่สำคัญคือ ไม่แน่ว่า จะเป็นไมเกรนจริงหรือไม่ โดยเฉพาะรายที่เพิ่งจะเริ่มเป็นตอนอายุมากๆ เนื่องจากโอกาสเป็นไมเกรน มีน้อย(ถ้าไม่เคยเป็นมาก่อน)
ข้อแนะนำ
คือ ถ้าเป็นไม่มากนัก และยังไม่อยากพบแพทย์ ช่วงที่ปวด อาจลองทานพาราเซตามอลดูก่อน ถ้าหาย อาจเป็นปวดหัวธรรมดา หรืออาจเป็นไมเกรน แบบไม่รุนแรงก็ได้ ถ้าไม่ดีขึ้น หรือเป็นบ่อยๆ ก็ควรพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่ชัดเจน และการรักษาที่เหมาะสม
ปวดศีรษะจากสิ่งผิดปกติในสมอง
ได้แก่ เนื้องอก ฝี พยาธิ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เส้นเลือดสมองแตก ฯลฯ มีลักษณะการปวดที่หลากหลาย ซึ่งขึ้นกับความรุนแรงของโรค ขนาดของรอยโรค ตำแหน่ง(ในสมอง) ที่เกิดโรค
อาการโดยรวมๆ คือ มักปวดมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผ่านไปเป็นวัน เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน (ขึ้นกับโรค) ช่วงที่เป็นมักมีอาการอาเจียนมาก หรืออาจมีอาการอื่นๆทางสมองร่วมด้วยเช่น ชัก เห็นภาพซ้อน สับสน อ่อนแรงครึ่งซีก ซึมลง จนถึงเสียชีวิตได้