8 สิงหาคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีนักท่องเที่ยวชายสัญชาติฝรั่งเศส อายุ 32 ปี เดินทางมาเที่ยวจังหวัดตราดเมื่อเดือนที่ผ่านมา และมีอาการผิดปกติระบบทางเดินปัสสาวะ มีตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศ จึงไปพบแพทย์จนอาการดังกล่าวหาย ต่อมาพบตุ่มขึ้นที่มือ จึงเดินทางเข้ารับการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลตราด จากนั้นโรงพยาบาลตราดได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และห้องปฏิบัติการที่ศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก TRC-EIDCC โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยืนยันไม่พบเชื้อฝีดาษวานร
สถานการณ์โรคฝีดาษวานรในขณะนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้นในแถบทวีปยุโรปและอเมริกา ในทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เริ่มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากการเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ส.ค. 65) พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรยืนยันทั่วโลก จำนวน 28,792 ราย เสียชีวิต 6 ราย (สเปน 2 ราย บราซิล เปรู กานา อินเดีย ประเทศละ 1 ราย) ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นร่วม ประเทศที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 ลำดับ แรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 7,510 ราย สเปน 5,208 ราย เยอรมัน 2,887 ราย อังกฤษ 2,768 ราย และฝรั่งเศส 2,423 ราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยยังพบผู้ป่วยยืนยัน 4 ราย มีรายงานผู้เข้าเกณฑ์ป่วยเป็นผู้ป่วยสงสัย 36 ราย ผู้สัมผัส 44 ราย ครบการกักตัวแล้วทั้งหมด 7 ราย และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการผู้ป่วยสงสัยทั้ง 35 ราย ไม่พบเชื้อฝีดาษวานร รอผล 1 ราย
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค ได้กำชับไปยังกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค และด่านควบคุมโรคติดต่อท่าอากาศยานนานาชาติ ให้ตรวจคัดกรองผู้ที่เดินมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเฝ้าระวังในสถานพยาบาล หากพบผู้ที่มีอาการตุ่มฝีตุ่มหนองขึ้นตามอวัยวะต่างของร่างกาย ให้รีบส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และหากผลเป็นบวกติดเชื้อ จะรีบเข้าไปควบคุมกลุ่มเสี่ยงไม่ให้แพร่กระจายเชื้อต่อทันที
“ขอเน้นย้ำว่า โรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อง่ายหรือมีความรุนแรง ส่วนใหญ่เชื้ออยู่ที่ตุ่มหนองบริเวณผิวหนังของผู้ป่วย ซึ่งแนวทางวิธีการป้องกันตัวจากโรคฝีดาษวานร ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดโอกาสการสัมผัสละอองน้ำลาย น้ำมูกของผู้ป่วย หรือสัตว์ติดเชื้อ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งของร่างกาย เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่ไม่รู้จัก ไม่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก และรับประทานอาหารปรุงสุกสะอาด หากประชาชนมีความเสี่ยง มีการสัมผัสกับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือมีอาการสงสัย เช่น มีผื่นตามลำตัว เป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ด มีไข้ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น สามารถเข้ารับการตรวจเชื้อได้ที่โรงพยาบาลที่ใกล้บ้านท่านได้ทันที” นายแพทย์โอภาส กล่าว
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยัน 4 ราย
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณี โรคฝีดาษวานรประเทศไทยขณะนี้ ว่า
พบผู้ป่วยยืนยัน 4 ราย เป็นสายพันธุ์ A.2 จำนวน 3 ราย และ B.1 จำนวน 1 ราย โดยทั้งหมดเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ไม่ใช่สายพันธุ์แอฟริกากลาง ทำให้โรคมีความรุนแรงน้อย ขณะนี้สามารถเพาะเชื้อฝีดาษวานรได้จำนวนมากพอที่จะนำมาทดสอบกับผู้ที่เคยปลูกฝีป้องกันฝีดาษในอดีต ซึ่งเลิกปลูกฝีไปแล้วกว่า 40 ปี โดยจะรับอาสาสมัครประมาณ 30-40 คน ในช่วงอายุ 40 ปี 50 ปี และ 60 ปี ประมาณช่วงอายุละ 10 คน เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลสำหรับประเทศไทยว่า ผู้ที่ปลูกฝีในแต่ละช่วงอายุมีภูมิคุ้มกันต่อฝีดาษลิงอย่างไรเป็นไปตามข้อมูลว่าป้องกันได้ 85% จริงหรือไม่
“ขณะนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่งสามารถตรวจเชื้อฝีดาษวานรได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ห้องแล็บในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก สามารถยื่นเรื่องทดสอบความชำนาญ ซึ่งหากเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดก็จะอนุญาตให้ตรวจได้ภายใต้มาตรฐานห้องแล็บชีวนิรภัยระดับ 2 เสริมสมรรถนะ เพื่อให้มีห้องแล็บตรวจในพื้นที่มากขึ้น สำหรับประชาชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องตรวจหาฝีดาษวานร ยกเว้นมีความเสี่ยงหรือเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด ส่วนผู้ป่วยสงสัยชาวฝรั่งเศสที่ จ.ตราด พบว่ามีไข้มาก่อนนานเป็นเดือนแล้ว จากนั้นจึงเริ่มมีแผลเกิดขึ้น สิ่งส่งตรวจจากบริเวณลำคอและเลือดให้ผลเป็นลบทั้งหมด ส่วนตัวอย่างจากแผลแปลผลได้ไม่ชัดเจน จึงต้องเก็บตัวอย่างเพิ่มมาตรวจใหม่” นพ.ศุภกิจกล่าว
คำแนะนำสำหรับประชาชน ที่มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคฝีดาษวานร ทำให้เมื่อมีผื่นขึ้นจึงรีบมาขอตรวจหาเชื้อ แนะนำว่าหากมีผื่นหรือความผิดปกติใดๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ ร่วมกับดูประวัติเสี่ยงว่าสมควรตรวจหาเชื้อหรีอไม่ เนื่องจากต้องอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนโรค