ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

APEC Health Week 22-26 ส.ค.65 สธ.ไทยเป็นเจ้าภาพยิ่งใหญ่

APEC Health Week 22-26 ส.ค.65 สธ.ไทยเป็นเจ้าภาพยิ่งใหญ่ Thumb HealthServ.net
APEC Health Week 22-26 ส.ค.65 สธ.ไทยเป็นเจ้าภาพยิ่งใหญ่ ThumbMobile HealthServ.net

กระทรวงสาธารณสุข พร้อมแล้วกับการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมด้านสาธารณสุขครั้งแรกของประเทศไทย APEC Health Week ระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม 2565 นี้ โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อ "Open to partnership. Connect with the World. Balance Health and the Economy. หรือ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์กับภาคี เชื่อมโยงกันกับโลก สู่สมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ"

 


APEC Health Week  เป็นการประชุมผู้นำระดับสูงด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ของ 21 ประเทศเขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าร่วม  ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม เข้าร่วมแบบออนไซต์ และมี จีน จีนฮ่องกง เกาหลีใต้ และรัสเซีย เข้าร่วมในรูปแบบออนไลน์ รวมถึงมีผู้นำระดับสูงของหน่วยงานระหว่างประเทศ ได้แก่ เลขาธิการอาเซียน,  ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานเลขาธิการเอเปค และมีข้าราชการระดับสูงและภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมอีกกว่า 150 คน
 
 
APEC Health Week มี 4 เป้าหมาย เพื่อระดมสมอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อแสดงศักยภาพด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของไทย และเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมและประเพณีอันงดงามของไทยซึ่งประกอบด้วย 10 กิจกรรม ได้แก่ การหารือทวิภาคีกับ 3 เขตเศรษฐกิจ, การประชุมวิชาการเรื่องครอบครัวคุณภาพและโรคมะเร็งปากมดลูก, การประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขและภาคเอกชนในรูปแบบการเสวนาเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ (Balancing Health and the Economy) โดยเฉพาะหลังสถานการณ์ระบาดโควิด 19 ที่จะต้องฟื้นตัวให้เร็ว และการประชุมโต๊ะกลม (Round Table) เรื่องการลงทุนด้านสุขภาพ (Investment in Global Health Security) เพื่อเป็นการกระตุ้นและตอกย้ำให้ทุกเขตเศรษฐกิจเพิ่มการลงทุนด้านสุขภาพ เพื่อรองรับการระบาดต่างๆ
 

สำหรับการเช็คความพร้อมในการเตรียมงาน APEC Health Week ในครั้งนี้  กระทรวงสาธารณสุข
  • ได้จัดให้มีการเฝ้าระวังโรคโควิด 19 การเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ มีระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยจัดทีมแพทย์ประจำสถานที่จัดประชุมที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน ตลอด 24 ชั่วโมง
  • เตรียมระบบรับส่งต่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมถึงความปลอดภัยด้านการจราจรในวันประชุม APEC
  • จัดเตรียมทีมเจ้าหน้าที่ประสานงาน (Liaison Officer) จำนวน 51 คน จากหลายภาคส่วน ทั้งกรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การกีฬาแห่งประเทศไทย สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และนักศึกษาโครงการเครือข่ายเยาวชน MICE ในการดูแลผู้เข้าร่วมประชุม และจัดเตรียมของที่ระลึก อาทิ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมไทย น้ำมันหอมระเหยสำหรับผู้เข้าร่วมประชุมด้วย
  • มีการจัดบูธนิทรรศการ ประกอบด้วย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับภาคเอกชน จัดนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด “Thailand Global Healthcare Destination” เพื่อผลักดันให้เกิดศูนย์กลางด้านสุขภาพ Medical Hub ในไทย
  • มีการนำเสนอการนวดไทยและสปา
  • มีการนำเสนอบทบาทของ อสม. ในการรับมือกับโรคโควิด 19
  • กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นำเสนอ การวิจัยพัฒนา สกัด และผลิตภัณฑ์สมุนไพรเชิงเศรษฐกิจ
  • กรมการแพทย์ เรื่องเทคโนโลยีทางการแพทย์ของไทย เช่น Personal Based Medicine
  • กัญชาเพื่อการแพทย์ และกรมควบคุมโรค เรื่องความสำเร็จในการป้องกันและควบคุมโรค 





มาตรการความปลอดภัยงาน APEC Health Week

มาตรการความปลอดภัยจากโรคโควิด 19 
กรมควบคุมโรคได้จัดเตรียมแผนด้านการป้องกันหลายมาตรการ ได้แก่ 
  • จัดงานได้มีการประเมินตนเองและผ่านมาตรการ COVID Free Setting ณ สถานที่จัดงาน
  • จัดจุดล้างมืออย่างเพียงพอ
  • จัดที่นั่งแบบเว้นระยะห่าง 
  • ให้ผู้เข้าร่วมประชุมสวมหน้ากากตลอดงาน
  • การสอบสวนควบคุมโรคกรณีพบผู้ติดเชื้อ

การดูแลด้านสุขภาพของผู้เข้าร่วมประชุม

กรมการแพทย์จะเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลสุขภาพผู้เข้าร่วมประชุม ด้วยมาตรการต่างๆ ดังนี้
  • จัดเตรียมทีมแพทย์และพยาบาลประจำสถานที่จัดประชุม จำนวน 2 ทีม ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมให้การดูแลปัญหาสุขภาพต่าง ๆ แก่ผู้เข้าร่วมประชุม
  • มีการจัดรถ Mobile Stroke Unit โดยสถาบันประสาทวิทยา เพื่อดูแลกรณีโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาช่วยเหลือเบื้องต้นบนรถได้ทันที สามารถเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ทำให้เห็นพยาธิสภาพในสมองและให้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง
  • จัดรถ Mobile CCU โดยสถาบันโรคทรวงอก ในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • จัดระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน ทั้งทางบกและทางน้ำไปยังโรงพยาบาลที่จัดเตรียมไว้ตามแผน
 

การดูแลด้านความปลอดภัยโดยรวมและการจราจร

ด้านการดูแลรักษาความปลอภัยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยดูแลเรื่องของความปลอดภัยและการจราจรตลอดการประชุม ซึ่งจะมีการจัดงานทั้งที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน เขตคลองสาน กรุงเทพฯ การศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และการหารือทวิภาคีที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม และลดผลกระทบการใช้รถใช้ถนนของประชาชนทั่วไป 

Day1-Day5 กิจกรรม APEC Health Week

 

Day1 : 22 สิงหาคม 2565 APEC Health Week วันแรก

APEC Health Week  22 สิงหาคม 2565 วันแรกของการประุชม เป็นไปโดยราบรื่น
 
          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ภาพรวมบรรยากาศการจัดประชุม APEC Health Week  ในวันแรกเป็นไปด้วยความราบรื่นและเรียบร้อย การจัดงานเป็นไปตามมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19 มีผู้เข้าร่วมประชุมจากเขตเศรษฐกิจต่างๆ เข้าร่วมจำนวนมาก และให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างดี

          นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขในฐานะเจ้าภาพการจัดงานได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดูแลผู้เข้าร่วมประชุม ทั้งเรื่องของความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกด้านการจราจร การดูแลสุขภาพและการเจ็บป่วยระหว่างการประชุมเป็นอย่างดี โดยวันแรกมีการประชุมหารือเชิงนโยบาย (Policy Dialogue) 2 เรื่องสำคัญ คือ ครอบครัวคุณภาพ (Smart Families) และการกำจัดไวรัส HPV และมะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer)

 
           สำหรับบูธนิทรรศการที่จัดโดยกรมต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ เรื่อง Medical Hub นวัตกรรมทางการแพทย์ บทบาทของ อสม.ในการช่วยควบคุมโรคโควิด 19 กัญชาทางการแพทย์ สมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร รวมถึงการนวดไทย  มีกำหนดจะเปิดให้ผู้เข้าร่วมประชุมเข้าศึกษาตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565

           ส่วนบริการนวดไทย เตรียมจัดให้มีบริการนวดคอ บ่า ไหล่ จำนวน 5 เตียง และนวดเท้าอีก 5 เตียง รองรับได้อย่างละ 40 คนต่อวัน รวมเป็น 80 คนต่อวัน ให้บริการภายใต้มาตรการป้องกันโควิด 19  เหตุที่เลือกให้มีการบริการนวดไทย ก็เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ การนวดไทยที่ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและทางการแพทย์แผนไทย  ที่สามารถดูแลสุขภาพและต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งการนวดรักษาโดยเฉพาะโรคออฟฟิศซินโดรม และการนวดส่งเสริมสุขภาพหรือนวดสปา 

Day1 : 22 สิงหาคม 2565 - ประชุมหารือเชิงนโยบาย “Smart Families” รับมือเกิดน้อย กระทบแรงงาน-เศรษฐกิจ

 
ประเดิมประชุม APEC Health Week วันแรก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดประชุมข้อหารือเชิงนโยบาย “ครอบครัวคุณภาพ Smart Families” ระดมผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านสาธารณสุข การวางแผนครอบครัว สถาบันการศึกษา องค์การระหว่างประเทศ สร้างแนวทางรับมือปัญหาโครงสร้างประชากร เผย 17 เขตเศรษฐกิจ มีอัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำกว่าอัตราทดแทน หวั่นเกิดน้อยทำวัยแรงงานลดลง เจอปัญหาหลังแอ่นแบกรับดูแลสังคม เลี้ยงดูเด็กและคนแก่ กระทบเศรษฐกิจระยะยาว
 
 
          ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมข้อหารือเชิงนโยบาย (Policy Dialogue) ประเด็น “ครอบครัวคุณภาพ (Smart Families)” ภายในการประชุม APEC Health Week ซึ่งจัดประชุมวันนี้เป็นวันแรก โดย ดร.สาธิตกล่าวว่า ปัจจุบันสมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ พบว่า มีถึง 17 เขตเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับปัญหาโครงสร้างประชากร คือ มีอัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมต่ำกว่าอัตราการทดแทน ทำให้จำนวนประชากรมีแนวโน้มลดลง จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรราว 66 ล้านคน เข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging Society) เรียบร้อยแล้ว และกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในไม่ช้า มีอัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate) 1.24 ปี 2563 ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทน ทั้งที่อัตราการเจริญพันธุ์รวมควรอยู่ที่ประมาณ 1.6
 
          “ขณะนี้ประเทศไทยมีเด็กแรกเกิดลดลงทุกปี จากปี 2560 เด็กเกิดประมาณ 7 แสนคน ปัจจุบันในปี 2564 ลดเหลือ 5.4 แสนคน จำนวนการเกิดลดลงเรื่อยๆ จนใกล้เคียงจำนวนการตาย หากไม่ทำอะไรเลยการเกิดจะน้อยกว่าการตาย ประชากรไทยอาจจะลดลงครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้ประชากรวัยทำงานที่ต้องอุ้มชูดูแลทั้งสังคม วัยเด็ก และวัยสูงอายุ มีจำนวนลดลงและแบกรับภาระมากขึ้น โดยคาดว่า 40 ปีข้างหน้าวัยทำงานลดลง 15 ล้านคน มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 12 ล้านคน ทำให้กระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเงินการคลังของประเทศ” ดร.สาธิตกล่าว
 
     ดร.สาธิตกล่าวว่า การประชุมในวันนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคได้มาแลกเปลี่ยนสถานการณ์และหารือสร้างฉันทามติเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาสถานการณ์นี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนครอบครัว ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคเอกชน ของแต่ละเขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าร่วม เช่น แนวทางการวางแผนการเจริญพันธุ์สำหรับบุคคลและครอบครัวที่ต้องการมีบุตรและหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ เป็นต้น โดยประเทศไทยมีการนำเสนอเรื่องของโครงการครอบครัวคุณภาพ Smart Families
 
          ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า นโยบายด้านประชากรของไทยแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรกการส่งเสริมให้คนไทยมีลูกมากขึ้น สมัยช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ทำให้ประเทศไทยมีประชากรเพิ่มขึ้นจาก 14.5 ล้านคนในปี 2480 เป็น 26.3 ล้านคน ในปี 2503 ช่วงที่สอง การส่งเสริมการวางแผนครอบครัว หลังจากที่ประเทศไทยมีการเกิดมากขึ้น เพื่อลดการเพิ่มของประชากร โดยประกาศนโยบายครั้งแรกเมื่อ ปี 2513 ซึ่งพัฒนาเป็นโครงการวางแผนครอบครัวแห่งชาติ ที่ประสบความสำเร็จได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดยอัตราคุมกำเนิดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 72 และช่วงที่สามคือปัจจุบันที่จำนวนและโครงสร้างประชากร
 
      มีความซับซ้อนกว่าในอดีต ถือเป็นความท้าทายต่อนโยบายประชากรครั้งใหม่ เนื่องจากอัตราการเจริญพันธุ์รวมของไทยลดลงอย่างมาก มีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ทั้งการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจและการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย โดยขณะนี้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำที่สุดในโลกจากข้อมูล World Population Prospect 2022 พบว่าในปี  2564 มีเพียง 20 ประเทศเท่านั้นที่มีอัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำกว่าประเทศไทย
 
          นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยจัดทำเรื่องของครอบครัวคุณภาพ Smart Families มีการออกกฎหมายและนโยบายต่างๆ คือ นโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 เพื่อส่งเสริมการเกิดที่มีความพร้อม มีความตั้งใจ และส่งเสริมการดูแลเลี้ยงดูเด็กที่เกิดมาให้เติบโตได้เต็มศักยภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป มีการออก พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านรูปแบบของคณะกรรมการทำให้สามารถลดอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ลงได้ครึ่งหนึ่งก่อน 10 ปี และตั้งเป้าหมายจะลดอัตราคลอดในวัยรุ่นภายในปี 2570 ให้เหลือไม่เกิน 1.5 ต่อพันประชากร นอกจากนี้ ยังช่วยลดปัญหาการหลุดจากระบบการศึกษา มีการจัดสวัสดิการต่างๆ ในการช่วยเหลือแม่วัยรุ่นด้วย

Day1 : 22 สิงหาคม 2565 - ประชุมหารือป้องกันควบคุมโรค “มะเร็งปากมดลูก” หลังหยุดชะงักจากโควิด

 ประชุม APEC Health Week ถกเข้ม หารือเชิงนโยบาย “การกำจัดไวรัส HPV และมะเร็งปากมดลูก” เผยผู้ป่วย 38% และผู้เสียชีวิต 35% อยู่ในเขตเศรษฐกิจ APEC ระดมสมองวางแนวทางดำเนินงานป้องกัน  คัดกรอง และรักษา ให้เป็นตามแผนงาน The First APEC Roadmap หลังหยุดชะงักในช่วงโควิด ไทยเร่งหาวัคซีนเอชพีวีฉีดย้อนหลังนักเรียนหญิงชั้น ป.5 หลังหยุดไป 2 ปี
 
 
        นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การประชุม APEC Health Week วันแรกในช่วงบ่าย มีการประชุมหารือเชิงนโยบายเรื่องการกำจัดไวรัส HPV และมะเร็งปากมดลูก สาเหตุที่มีการนำเรื่องนี้ขึ้นมาหารือในการประชุม APEC Health Week เนื่องจากโรคมะเร็งปากมดลูก เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในสตรีทั่วโลก แต่ละปีจะมีผู้ป่วยใหม่ราว 6 แสนราย และมีผู้เสียชีวิตราว 3.4 แสนราย ซึ่งจำนวนนี้พบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ในเขตเศรษฐกิจ APEC ถึงร้อยละ 38 และพบผู้เสียชีวิตร้อยละ 35 โดยการประชุมในวันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานการสร้างขีดความสามารถ และการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อขจัดปัญหาอุปสรรคในการป้องกัน คัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก การดูแลรักษาผู้ป่วย ทั้งในระยะที่รักษาได้หรือในระยะท้ายที่ดีที่สุด รวมถึงรับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน และแนวทางแก้ไขปัญหาซึ่งจะช่วยให้สมาชิกเขตเศรษฐกิจสามารถดำเนินงานได้ตามแผนงานแรกของเอเปคในการการส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนสำหรับผู้หญิงผ่านการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งปากมดลูก (The First APEC Roadmap to Promote Sustainable Economic Advanced for Women through Cervical Cancer Prevention and Control) ซึ่งจัดทำขึ้นในช่วงปี 2014-2017 และตามนโยบายขององค์การอนามัยโลกในการกำจัดโรคมะเร็งปากมดลูกภายในปี 2030
 
          นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมีแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ พ.ศ. 2561 – 2565 ซึ่งในเรื่องของมะเร็งปากมดลูกครอบคลุมตั้งแต่การป้องกัน การคัดกรอง และการรักษาโรค โดยปัจจุบันบรรจุอยู่ในแผนการดำเนินงานของเขตสุขภาพทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งในเรื่องของการป้องกันเราบรรจุการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือวัคซีนเอชพีวีเข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ และบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติทั้งวัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์และ 4 สายพันธุ์ เพื่อฉีดให้แก่นักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละปี มีประมาณ 4 แสนคน เป็นการฉีดก่อนการมีเพศสัมพันธ์ โดยเริ่มฉีดมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามีความคุ้มทุนและมีประสิทธิผลป้องกันโรคสูงและยาวนาน
 
          ส่วนการคัดกรองมีแนวทางการตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2565 กระทรวงสาธารณสุข จัดโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง (HPV Self Sampling) หลังเก็บตัวอย่างใส่ลงในหลอดน้ำยาตามขั้นตอนที่กำหนดแล้วสามารถส่งไปยังโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเพื่อดำเนินการตรวจและรายงานผลตรวจต่อไป ทำให้ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์เก็บตัวอย่าง ซึ่งผู้หญิงจำนวนมากมีความเขินอาย กลัวการใส่เครื่องมือทางช่องคลอด หรือไม่อยากเสียเวลางาน ทำให้ไม่ไปตรวจ จึงเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดการตรวจคัดกรองมากขึ้น ส่วนการรักษาแพทย์จะพิจารณาตามระยะ โดยมีการรักษาทั้งการผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด การฉายรังสีรักษา ซึ่งสามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิประโยชน์
 
          “ภายในที่ประชุมมีการหารือถึงเรื่องการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกที่หยุดไปในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 และเตรียมความพร้อมให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องหากเกิดโรคระบาดแบบนี้อีกซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโรคโควิด 19 มีผลต่อการผลิตและจัดหาวัคซีนเอชพีวีป้องกันมะเร็งปากมดลูก ทำให้ไม่สามารถจัดหาเข้าฉีดเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ของไทยได้ รวมกว่า 8 แสนคน แต่ในปีนี้เราสามารถจัดหาวัคซีนเอชพีวีเข้ามาฉีดนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ได้แล้วประมาณ 4 แสนคน และอยู่ระหว่างการจัดหาเพื่อดำเนินการฉีดวัคซีนย้อนหลังสำหรับ 2 ปีที่ผ่านมาอีก” นพ.สมศักดิ์กล่าว 

Day2 : 23 สิงหาคม 2565 เปิดประชุมคณะทำงานด้านสุขภาพภายใต้ APEC Health Week

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดการประชุมคณะทำงานด้านสุขภาพ ภายใต้ APEC Health Week เผยเป็นการประชุมด้านสุขภาพนานาชาติครั้งแรกในไทย หลังโควิดระบาด ครอบคลุมทั้งประเด็นสุขภาพ เศรษฐกิจและนวัตกรรม ช่วยสมาชิกเขตเศรษฐกิจเพิ่มความพร้อมรับมือวิกฤตสุขภาพและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
 
 
          นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมคณะทำงานด้านสุขภาพ (Health Working Group: HWG) SOM3/2022 ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมการจัดประชุม APEC Health Week ระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขของเขตเศรษฐกิจเอเปค ภายใต้หัวข้อ “Open to Partnership. Connect with the World. Balance Health and the Economy” หรือเปิดกว้างสร้างสัมพันธ์กับภาคี เชื่อมโยงกันกับโลก สู่สมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ
 
          นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า การประชุมคณะทำงานด้านสุขภาพ (Health Working Group: HWG) SOM 3/2022 ถือเป็นการประชุมด้านสุขภาพระดับนานาชาติครั้งแรกในประเทศไทย หลังจากการระบาดของโรคโควิด 19 โดยมีเป้าหมายคือการช่วยสร้างความตื่นตัวในระดับสากลทั่วภูมิภาคเอเปค เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสุขภาพหลังวิกฤตโควิด 19 และช่วยเพิ่มระดับความพร้อมในการรับมือความท้าทายใหม่ๆ ไปพร้อมกัน เปิดรับทุกโอกาสจากการเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์จากสมาชิกเขตเศรษฐกิจทั่วทุกมุมโลก ทั้งหมดนี้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างแต่ละเขตเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าด้านสุขภาพ ซึ่งนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจในที่สุด
 
         นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า รายละเอียดของการประชุมมีความครอบคลุมทั้งเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ และนวัตกรรมที่จะพัฒนาระบบสุขภาพโลกในอนาคต รวมถึงเสริมสร้างการวางแผนทางด้านสุขภาพ โดยทุกคนที่เข้าร่วมประชุมมีความสำคัญในการมาร่วมกันวิเคราะห์และแบ่งปันความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่มีความท้าทาย โดยเฉพาะด้านการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่าสมาชิกของเอเปคสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ และเชื่อว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ที่ได้รับการแบ่งปันจากสมาชิกเขตเศรษฐกิจ เพลิดเพลินกับบรรยากาศของประเทศไทย และการประชุมมีประสิทธิผลและประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย 

Day2 : 23 สิงหาคม 2565 - ประชุมคณะทำงาน "สุขภาพหนึ่งเดียว" หรือ One Health

ที่ประชุมคณะทำงานสุขภาพ APEC ถกเข้ม การใช้แนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” หรือ One Health ช่วยสร้างเศรษฐกิจ การเข้าถึงวัคซีนตลอดช่วงชีวิต จ่อร่างข้อตกลงร่วมสร้างแนวทางดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย “ปุตราจายา 2040” ให้เป็นทิศทางเดียวกันเน้นนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล รับมือภาวะฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่

 
     นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่สองของการประชุม APEC Health Week ซึ่งเป็นการประชุมของคณะทำงานด้านสุขภาพ (Health Working Group : HWG) APEC ที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยมีการทบทวนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้บรรลุตามข้อตกลงวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ.2040 การปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ปี 2021-2024 และยุทธศาสตร์ The North Star : A 2030 ที่เน้นเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในการดูแลด้านสุขภาพและเศรษฐกิจเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากรในภูมิภาค การเตรียมตัวรับมือภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่การตอบสนอง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อ และการฟื้นฟู การดูแลสุขภาพวัยชรา โภชนาการเด็ก และนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพ และให้ประชากรในภูมิภาคมีสุขภาพที่ดี โดยแต่ละสมาชิกเขตเศรษฐกิจได้มาแสดงความคืบหน้าของแผนการดำเนินงาน โดยจะมีการร่างข้อตกลงร่วมเพื่อให้การดำเนินงาน
ของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
 
       นายอนุทินกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการประชุมโต๊ะกลมพิจารณาช่องว่างและความท้าทายของการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายแผนปฏิบัติงาน และแบ่งปันแนวทางการดำเนินงานที่ประสบมีความสำเร็จ หารือเรื่องการจัดลำดับการเข้าถึงวัคซีนตลอดช่วงชีวิตของคนทั่วไป การสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินเพื่อสุขภาพ, การสร้างสมดุลสุขภาพและเศรษฐกิจในเรื่องของ “สุขภาพหนึ่งเดียว” หรือ One Health ว่าจะมาช่วยทำให้ระบบเศรษฐกิจเข้มแข็งขึ้นได้อย่างไร หรือการลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพที่จะกระทบเศรษฐกิจ รวมถึงการเดินทางที่ปลอดภัยและการใช้ใบรับรองวัคซีนประกอบการเดินทางทำอย่างไรให้ทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนดำเนินการและเข้าถึงอย่างไร้รอยต่อ
 
       สำหรับบูธนิทรรศการต่างๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขจัดเตรียมไว้ ก็แสดงถึงการนำสุขภาพมาช่วยสร้างหรือฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจภายหลังพ้นการระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งเรื่องของเมดิคัล ฮับ การบริการสุขภาพและทางการแพทย์ระดับสูง ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ การนวดไทยและสปา ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก

Day3 : 24 สิงหาคม 2565 คณะผู้เข้าร่วมประชุม APEC ศึกษาดูงานเทคโนโลยีการแพทย์-สาธารณสุข รพ.จุฬาฯ

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขนำทีมผู้เข้าร่วมประชุม APEC Health Week ศึกษาดูงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่สอดคล้องกับนโยบาย BCG 4 เรื่อง ทั้งศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพฯ รักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนอย่างแม่นยำ ผลข้างเคียงน้อย, ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้า, สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย และ “หมอพร้อม” ดิจิทัลแพลตฟอร์มสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
 
 
         24 สิงหาคม 2565 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำทีมผู้บริหารและผู้แทนสมาชิกเขตเศรษฐกิจ APEC จำนวนกว่า 80 คน เข้าศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ประเด็นการขับเคลื่อนด้านการแพทย์และสาธารณสุขในรูปแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าทันสมัย สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy model : BCG) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมระหว่างการจัดประชุม APEC Health Week ระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม 2565
 
          นพ.สุระ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศ รวมถึงสมาชิกของเขตเศรษฐกิจเอเปค ดังนั้น ในการประชุม APEC 2022 จึงมีการนำนโยบาย BCG มาใช้ขับเคลื่อนเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุล ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จึงเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ เพิ่มมูลค่า ลดความสูญเสีย คำนึงต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การศึกษาดูงานในวันนี้จึงได้นำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยที่มีความสอดคล้องกับนโยบาย BCG ใน 4 ประเด็นหลัก ดังนี้
 
         1.ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นอาคารใต้ดินลึก 15 เมตร ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งทางรังสีด้วยอนุภาคโปรตอน นับเป็นแห่งแรกในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการรักษาจะใช้เครื่องเร่งอนุภาคไซโคลตรอน ซึ่งจะเร่งอนุภาคโปรตอนไปทำลายก้อนมะเร็ง โดยเนื้อเยื่อปกติที่อยู่หน้าก้อนมะเร็งจะได้รับปริมาณรังสีน้อย และเนื้อเยื่อที่อยู่หลังก้อนมะเร็งแทบไม่ได้รับรังสีเลย ทำให้การรักษามีความแม่นยำสูง ช่วยลดผลข้างเคียง เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนานขึ้น
 
          2.ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ นับเป็นศูนย์กลางการแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้การดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีความผิดปกติบนใบหน้าตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดจากอุบัติเหตุ ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตที่มีคุณภาพในสังคมได้ โดยมีผู้ป่วยส่งต่อมาจากสถาบันทางการแพทย์ทั่วประเทศ ให้การดูแลรักษาผ่าตัดผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะหลากหลายประเภทมากกว่า 3,000 ราย จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางการรักษาผู้ป่วยโรคงวงช้าง โดยมีเทคนิคการผ่าตัดแก้ไขความพิการด้วยวิธี “จุฬาเทคนิค” และถูกนำไปใช้ทั่วโลก
 
          3.สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ให้การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยอย่างครบวงจร ทั้งการเตรียมพร้อมก่อนเกิดภัย การจัดการขณะเกิดภัย และการฟื้นฟูบูรณะสู่ภาวะปกติ บรรเทาทุกข์ผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนการประชานามัยพิทักษ์ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้มั่นคง ทัดเทียม อย่างยั่งยืน สอดคลองกับยุทธศาสตร์สภากาชาดไทยในด้านบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นเลิศครบวงจร โดยให้บริการทางการแพทย์ผ่านทางสถานีกาชาด 13 แห่ง ให้บริการด้านรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพ ส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคแก่ประชาชน อีกทั้งการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ด้านจักษุศัลยกรรมฯ ศัลยกรรมตกแต่งแก้ไขปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการอื่นๆ  รวมถึงหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ เป็นต้น
 
           4.หมอพร้อม แอปพลิเคชัน เป็นการพัฒนาด้านสาธารณสุขดิจิทัลที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงแรกเพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารกับประชาชนในช่วงการระบาด ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลวัคซีนของตนเองได้ พร้อมประเมินติดตามอาการภายหลังการรับวัคซีน โดยปัจจุบัน “หมอพร้อม” ถือว่าเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ใหญ่ที่สุดในด้านสาธารณสุขของประเทศไทย มีประชาชนมากกว่า 32 ล้านคน เข้าถึงแพลตฟอร์มนี้ทั้งแอปพลิเคชันและ Line OA และมีการพัฒนาต่อยอดอย่างไม่สิ้นสุด 

Day3 : 24 สิงหาคม 2565 หารือทวิภาคีร่วมกันระหว่าง รัฐมนตรีสาธารณสุขไทย และรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข สหรัฐฯ

สหรัฐฯ ชื่นชมไทยที่บริหารจัดการวิกฤต “โควิด” ได้ดี ประชาชนให้ความร่วมมือสูง ย้ำไทยพร้อมสนับสนุน GHSA วาระความมั่นคงสุขภาพโลก ทั้งระบบแล็บและการพัฒนากำลังคน สนับสนุนฉีดวัคซีนพื้นฐานให้แก่เด็กเมียนมาตามตะเข็บชายแดนเพื่อป้องกันโรคติดต่อ ยินดีสหรัฐฯ เจ้าภาพจัดประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจในปีหน้า
 
         กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนางแอนเดรีย ปาล์ม (Ms.Andrea Palm) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ สหรัฐอเมริกา ได้หารือแบบทวิภาคี ระหว่างการจัดประชุม APEC Health Week ระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม 2565 เกี่ยวกับความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขของไทยและสหรัฐอเมริกาเข้าร่วม
 
         นายอนุทินกล่าวว่า ในการหารือทางสหรัฐอเมริกาได้แสดงความยินดีกับประเทศไทยที่เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม APEC ในครั้งนี้ ซึ่งการหารือโต๊ะกลม หัวข้อ “การลงทุนด้านหลักประกันสุขภาพเพื่อรองรับการระบาดในอนาคต” วันที่ 26 สิงหาคม 2565 ทางรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐฯ จะเข้าร่วมและเป็นผู้ร่วมอภิปรายในช่วงการสนทนาเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ พร้อมกันนี้ยังได้เชิญตนเข้าร่วมประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจในปี 2566 ด้วย ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมครั้งต่อไป นอกจากนี้ ยังได้ชื่นชมประเทศไทยที่รับมือสถานการณ์โรคโควิด 19 ได้เป็นอย่างดี ประชาชนให้ความร่วมมือกับนโยบายของรัฐบาล ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง สามารถดูแลรักษาผู้ติดเชื้อได้อย่างเต็มที่ทั้งเรื่องของยา การดูแลแบบ Home Isolation ฮอสปิเทล ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การฉีดวัคซีนโควิด 19 และขอบคุณประเทศไทยที่ส่งข้อมูลตัวอย่างเชื้อให้แก่สหรัฐฯ ในช่วงที่เริ่มมีการระบาด ในการนำไปศึกษาวิจัยยาและวัคซีน ส่วนไทยเองก็ขอบคุณสหรัฐฯ ที่ให้ความช่วยเหลือเราในช่วงวิกฤต ในการบริจาควัคซีน mRNA หลายล้านโดส สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ
 
         นายอนุทินกล่าวว่า สหรัฐฯ ยังชื่นชมบทบาทของประเทศไทยในเรื่องความมั่นคงด้านสุขภาพระดับโลก โดยเฉพาะการเป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) โดยไทยก็ขอบคุณสหรัฐฯ ที่แสดงการสนับสนุนการจัดตั้ง ACPHEED ซึ่งเป็นศูนย์ระดับภูมิภาคที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ภูมิภาคอาเซียน ในการเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ได้ดียิ่งขึ้น โดยประเทศไทยได้เตรียมการและพร้อมที่จะดำเนินการเปิดตัวสำนักเลขาธิการในวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ซึ่งได้เชิญรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนและเอเปคเข้าร่วมด้วย
 
          นายอนุทินกล่าวว่า ไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ดีมาอย่างยาวนาน มีความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง โดยสหรัฐฯ ได้ขอให้ไทยสนับสนุนโครงการของสหรัฐฯ ที่ดำเนินการภายใต้คณะทำงานด้านสุขภาพเอเปค (APEC Health Working Group) รวมถึงหารือเรื่องการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (Global Health Security Agenda :GHSA) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก GHSA ตั้งแต่แรกที่มีก่อตั้งขึ้นในปี 2014 หลังการระบาดของอีโบลาในทวีปแอฟริกา โดยมีกรมควบคุมโรค ประเทศไทย เป็นประธาน Steering Group ของ GHSA ในปี 2564 ขณะนี้มีสมาชิกเข้าร่วม 70 ประเทศทั่วโลก สะท้อนถึงความสำคัญของ GHSA ในการทำให้โลกปลอดภัยยิ่งขึ้นจากภัยคุกคามด้านสุขภาพจากโรคติดเชื้อ ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนงานของ GHSA อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องของระบบห้องปฏิบัติการ (Lab System) และการพัฒนากำลังคน (Workforce Development) ซึ่งเป็น 2 ใน 9 ด้านของแผนงาน GHSA
 
          นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังขอให้ไทยสนับสนุนการฉีดวัคซีนพื้นฐานป้องกันโรคติดต่อให้แก่เด็กตามตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา เนื่องจากมีเด็กจำนวนมากในเมียนมาไม่ได้รับการฉีดวัคซีนพื้นฐานที่ป้องกันโรคติดต่อ เช่น วัณโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นต้น กระทรวงสาธารณสุขไทยร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) จัดทำแผนความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับเมียนมา ซึ่งสามารถผนวกความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในประเด็นนี้ในแผนได้ โดยต้องแจ้งฝ่ายเมียนมาและกระทรวงการต่างประเทศของไทยด้วย 

Day4 : 25 สิงหาคม 2565 เปิดการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ (HLM) ครั้งที่ 12

เปิดการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ วันที่ 25-26 สิงหาคม 2565 หารือสร้างสมดุลสุขภาพและเศรษฐกิจ โดยไทยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรับมือโรคโควิด 19 พร้อมชูนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ส่งเสริมทั้งการดูแลสุขภาพและการสร้างเศรษฐกิจ ส่วนวันพรุ่งนี้จะหารือโต๊ะกลมการลงทุนด้านหลักประกันสุขภาพรองรับการระบาดในอนาคต เพื่อออกแถลงการณ์เป็นแนวทางดำเนินการร่วมกันต่อไป
 
          25 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ (HLM) ครั้งที่ 12 โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจาก 15 เขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าร่วมประชุมแบบออนไซต์ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก เปรู ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม เข้าร่วมประชุมผ่านออนไลน์ 5 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ จีน จีนฮ่องกง เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และรัสเซีย รวมถึงผู้นำระดับสูงจากหน่วยงานระหว่างประเทศ 2 คน คือ ดร.รีเบคกา ฟาติมา สตา มาเรีย ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานเลขาธิการเอเปค และ ดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน
 
          นายอนุทินกล่าวว่า การประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2565 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” โดยเน้นเรื่องการสร้างความสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเรามีปัญหาทางสาธารณสุข คือ การระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้หลายประเทศมีการล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก หรือบางประเทศมีการผ่อนคลายอย่างมากจนทำให้เกิดความสูญเสียเช่นกัน ดังนั้น โควิดสอนให้เราสร้างสมดุลที่ดีระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ โดยเรื่องการดูแลรักษาทั้งวัคซีนและมาตรการทางการแพทย์จะต้องมีความเท่าเทียมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพราะเป็นความจริงที่ว่า “ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย” อย่างไรก็ตาม เรื่องสุขภาพสามารถสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้ ประเทศไทยมีตัวอย่างการดำเนินงานเรื่องนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ในการนำมาดูแลสุขภาพประชาชน และเกิดโอกาสทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ
 
         นายอนุทินกล่าวอีกว่า ในการประชุมได้มีการเสวนาเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ (Balancing Health and the Economy) โดยตนเป็นหนึ่งในผู้ร่วมอภิปรายกับอีก 5 ท่าน ได้แก่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข อินโดนีเซีย , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สิงคโปร์ , รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ สหรัฐอเมริกา , เลขาธิการอาเซียน และผู้อำนวยการบริหารสำนักงานเลขาธิการเอเปค ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ข้อมูลเชิงลึก และประสบการณ์จริงในการตอบสนองต่อโควิด มีการหารือถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเศรษฐกิจและการพัฒนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตที่ดี การตั้งเป้าส่งเสริมการค้า ความมั่นคง การเติบโตและการพัฒนาที่ครอบคลุมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
 
          สำหรับการเสวนาเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ ทางอินโดนีเซียได้แลกเปลี่ยนเรื่องการบริหารจัดการเพื่อรับมือโรคโควิด 19 โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ มีการลงทุนด้านสุขภาพ ระบบการเงินการคลังสุขภาพ การพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ และการใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ สิ่งที่ยังเป็นความท้าทาย ได้แก่ ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่ยังมีบุคลากรไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ทุรกันดาร และมีผู้มารับบริการวัคซีนโควิด 19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันลดลงในช่วงโควิด ขณะที่สิงคโปร์แลกเปลี่ยนเรื่องของการตัดสินใจเลือกใช้มาตรการระหว่างด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ ซึ่งช่วงแรกเลือกมาตรการปิดประเทศ เพื่อสกัดกั้นการแพร่กระจายของโควิด แต่ประชาชนก็ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จึงต้องให้วัคซีนโควิดเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน แต่ก็มีความท้าทายเรื่องการเข้าถึงวัคซีน ความมั่นใจในวัคซีนของประชาชน และศักยภาพการผลิตวัคซีนของประเทศ ส่วนทางสหรัฐอเมริกาได้เน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ความเท่าเทียมของการเข้าถึงบริการ การลงทุนด้านสุขภาพ รวมถึงการพัฒนากำลังคนให้เพียงพอและการสร้างงานให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุข เน้นการรับมือกับผลกระทบด้านพฤติกรรมของประชาชน เช่น สุขภาพจิต การใช้สารเสพติด เป็นต้น
 
          ขณะที่เลขาธิการอาเซียนแลกเปลี่ยนข้อมูลว่า การระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็ก ผู้หญิง และแรงงานต่างด้าว รวมถึงการดำเนินงานด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว บทบาทของอาเซียนในการสนับสนุนแต่ละประเทศ คือ การลดผลกระทบของโควิด สร้างความร่วมมือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์ด้านสาธารณสุขในการรับมือโรคระบาด เพิ่มการลงทุนด้านสาธารณสุข เพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศในอาเซียนร่วมกัน ซึ่งมีความท้าทายเรื่องความเพียงพอของทรัพยากรด้านสาธารณสุข ทั้งบุคลากรด้านสุขภาพ งบประมาณ จึงควรมีการเพิ่มการทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังส่วนสำนักงานเลขาธิการเอเปคเสนอเรื่องการทำงานเพื่อฟื้นเศรษฐกิจของเขตสุขภาพต่างๆ ได้แก่ 1) Trade Facilitation เพื่อให้วัคซีนและเวชภัณฑ์ต่างๆสามารถผ่านเข้าสู่ประเทศต่างๆ ได้ และ 2) Safe Passage เพื่อให้เกิดการเดินทางระหว่างประเทศและลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ 

Day4 : 25 สิงหาคม 2565 รมว.สธ.ไทย หารือทวิภาคีร่วมกับ ADB รมว.สธ.อินโดนีเซีย และ สิงคโปร์

การหารือทวิภาคีร่วมกับ 1 หน่วยงานและ 2 เขตเศรษฐกิจ ก่อนการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ทั้งความร่วมมือโครงการ SECURE ร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย การดำเนินงานศูนย์ ACPHEED ร่วมกับอินโดนีเซีย และความร่วมมือด้าน Genomics กับสิงคโปร์
 
         ที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงก่อนการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ (HLM) ครั้งที่ 12 ตนและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขได้หารือทวิภาคีร่วมกับ 1 หน่วยงาน และ 2 เขตเศรษฐกิจเอเปค คือ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) โดยหารือร่วมกับ Dr. Wan Farisan Bin Wan Sulaiman Executive Director, ADB และคณะ ถึงความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและ ADB ทั้งการสนับสนุนงบประมาณของ ADB ในการดำเนินงานศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Medical Excellent Center) ของกระทรวงสาธารณสุข และความคืบหน้าของโครงการ SECURE เพื่อสนับสนุนการใช้วัคซีนและการบริหารจัดการวัคซีนอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ และส่งเสริมมาตรการความมั่นคงด้านสุขภาพหลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่ง ADB ดำเนินงานใน 7 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ ติมอร์เลสเต เวียดนาม และไทย ซึ่งไทยพร้อมทำงานร่วมกับ ADB เพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพของไทยและความมั่นคงด้านสุขภาพ
 
          ส่วนอีก 2 เขตเศรษฐกิจ คือ การหารือทวิภาคีร่วมกับ Dr. Dante Saksono Harbuwono รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียและคณะ เกี่ยวกับความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่าง 2 เขตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านการรับมือภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) ที่ตั้งอยู่ใน 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม โดยมีสำนักงานเลขาธิการของ ACPHEED ตั้งอยู่ในประเทศไทย โดยอยู่ระหว่างการจัดทำข้อตกลงการจัดตั้ง (Establishment Agreement : EA) ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565 ซึ่งไทยได้ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับอินโดนีเซียและเวียดนามในการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ข้อตกลงการจัดตั้ง ACPHEED ได้รับการสรุปโดยประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อทำให้ APCHEED เป็นศูนย์ระดับภูมิภาคที่ยั่งยืน และไทยยังแสดงความเต็มใจที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านสุขภาพกับอินโดนีเซียในทุกระดับ ทั้งทวิภาคี ภูมิภาค และระดับโลก
 
          ส่วนการหารือทวิภาคีกับ Mr. Ong Ye Kung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สิงคโปร์ ไทยได้แสดงความยินดีกับสิงคโปร์ในการแสดงบทบาทนำจนบรรลุมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “Strengthening health emergency preparedness and response in cities and urban settings” ที่เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ทางการเมือง การมีทรัพยากรที่เพียงพอ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาและดำเนินการแผนงาน การซักซ้อมการปฏิบัติ และการร่วมมือและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนการปฏิบัติที่ดีกับพันธมิตรระหว่างประเทศ และหารือความร่วมมือด้าน Genomics ทั้งด้านการศึกษาวิจัยและการศึกษาดูงานที่สิงคโปร์ 

Day4 : 25 สิงหาคม 2565 รมว.สธ.มาเลเซีย ดูงานจิตเวช สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

    อธิบดีกรมสุขภาพจิต นำรัฐมนตรีสาธารณสุขมาเลเซีย ศึกษาดูงานจิตเวช สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา นำเสนอการบริการ คลินิกประสาทวิทยาและความจำสำหรับภาวะสมองเสื่อม สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ศูนย์สมองจิตใจและโปรแกรมฟื้นฟู ซึ่งไทย-มาเลเซีย พร้อมแลกเปลี่ยนและสนับสนุนข้อมูลวิชาการด้านสุขภาพจิตระหว่างกัน
 
          ที่ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นำ นาย Khairy Jamaluddin ABU BAKAR รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประเทศมาเลเซีย และคณะ เยี่ยมชมการดำเนินงานศูนย์สุขภาพจิต และกิจกรรมต่างๆ
 
          พญ.อัมพร กล่าวว่า ประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีในการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตมาอย่างต่อเนื่อง มีกิจกรรมทางวิชาการราวมกัน ทั้งการศึกษา การประชุม และการฝึกอบรม นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตยังร่วมมือกับโรงพยาบาลเปอร์ไม ยะโฮร์บาห์รู ประเทศมาเลเซีย (Permai Hospital, Johor Bahru, Malaysia) ดำเนินงานด้านจิตเวช บริการสุขภาพชุมชน ศูนย์ฟื้นฟู และงานสุขภาพจิตชุมชน ซึ่งตอกย้ำคุณภาพการบริการสุขภาพจิตของทั้งสองประเทศอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับประเทศไทย ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สุขภาพจิตในการส่งเสริมและป้องกัน ควบคู่กับการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานระบบการบริการ โดยกรมสุขภาพจิตมีโรงพยาบาลจิตเวชทั่วไปในสังกัด 14 แห่ง และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น 6 แห่ง ขณะนี้บางแห่งกำลังพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศเฉพาะทางและด้านวิชาการ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลง และรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในเชิงรุก
 
          พญ.อัมพร กล่าวต่อว่า ในวันนี้ได้นำเสนอข้อมูลต่อรัฐมนตรีสาธารณสุขมาเลเซีย และคณะ เกี่ยวกับการบริการสุขภาพจิตของไทย อาทิ โรคที่พบมาก ได้แก่ การใช้สารเสพติด จิตเภท ภาวะซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น และการรักษาช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะฆ่าตัวตาย การให้บริการผู้ป่วยนอก ซึ่งในปี 2565 มีการระบาดของ Covid-19 ทำให้มีอัตราการเข้ารับบริการลดลง เป็นต้น นอกจากนี้ ได้นำเสนอการดำเนินงานของ คลินิกประสาทวิทยาและความจำสำหรับภาวะสมองเสื่อมที่มีพฤติกรรมและอาการทางจิตวิทยาของภาวะสมองเสื่อม สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น  ศูนย์สมอง จิตใจ และโปรแกรมฟื้นฟู และกิจการร้านกาแฟหลังคาแดงและร้านเพื่อน ที่ให้ผู้ป่วยจิตเวชได้ปฏิบัติ เรียนรู้ สร้างทักษะทางสังคม สามารถกลับคืนสู่สังคม โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ รวมถึงเป็นต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคมสำหรับผู้ป่วยจิตเวชแห่งแรกของประเทศ ซึ่งการนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการกระชับความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือในการดำเนินงานด้านจิตเวชระหว่างไทยและมาเลเซียให้มีประสิทธิผลมากขึ้น และเป็นประตูสู่การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรสาธารณสุขด้านจิตเวชของทั้ง 2 ประเทศต่อไปในอนาคต 

Day5 : 26 สิงหาคม 2565 เปิดตัวสำนักงาน ACPHEED ณ ศูนย์การแพทย์บางรัก ถ.สาทร

เปิดตัวสำนักงานเลขาธิการศูนย์ ACPHEED แสดงความพร้อมดำเนินการทันที เป็นศูนย์กลางการประสานงานให้ทุกประเทศอาเซียนเฝ้าระวังป้องกัน ตรวจจับ และตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ได้ทันสถานการณ์
 
          ที่อาคารศูนย์การแพทย์บางรัก ถนนสาทร กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน, รัฐมนตรีสาธารณสุขประเทศอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว เมียนมา กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และบรูไนดารุสซาลาม และรัฐมนตรีเขตเศรษฐกิจเอเปค ได้แก่ ญี่ปุ่น เม็กซิโก เปรู สหรัฐอเมริกา และชิลี ร่วมกันทำพิธีเปิดตัว (Soft Launching) สำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเข้าร่วมในงาน จากนั้นได้หารือร่วมกับเลขาธิการอาเซียน
 
          นายอนุทินกล่าวว่า การระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านสุขภาพ ตลอดจนความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล ประเทศทั่วโลกเห็นพร้องเพิ่มความร่วมมือกันยกระดับขีดความสามารถทั้งระดับชาติและระดับภูมิภาครับมือกับโรคติดต่ออุบัติใหม่ ซึ่งในภูมิภาคอาเซียน 10 ประเทศได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยมีประกาศจัดตั้งศูนย์อาเซียนสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 เมื่อปี 2563 และล่าสุดในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 11-15 พฤษภาคม 2565 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย มีฉันทามติให้จัดตั้งสำนักงานเลขาธิการ ACPHEED ที่ประเทศไทย และในระยะแรกมี 3 ประเทศ คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย ไทยที่รับเป็นแกนนำดำเนินการด้านการป้องกัน (Prevention) การตรวจจับ (Detection) และการตอบโต้ (Response) ตามลำดับโดยประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และเป็นตัวอย่างในการถอดบทเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการและควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 โดยองค์การอนามัยโลกเมื่อเดือนเมษายน 2565ที่ผ่านมา
 
           นายอนุทินกล่าวว่า บทบาทและหน้าที่ตามข้อตกลงที่ทำขึ้นในการประชุมไตรภาคีเรื่อง ACPHEED ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 สำนักงานเลขาธิการจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศและศูนย์ทรัพยากรระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะและขีดความสามารถในการป้องกัน ตรวจจับ และตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ และประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรและประเทศต่างๆ นอกภูมิภาคอาเซียน 
 
           สำหรับสำนักงานเลขาธิการ ACPHEED ตั้งอยู่ที่ชั้น 15 ของอาคารศูนย์การแพทย์บางรัก 17 ชั้น ถนนสาทร ใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ โดยอาคารแห่งนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดทำการเมื่อต้นปี 2564 มีการติดตั้งระบบอำนวยความสะดวกและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกจำนวนมาก เช่น พื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่สำหรับผู้รับบริการ ศูนย์ปฏิบัติตรวจการวิเคราะห์ ศูนย์ฉีดวัคซีน ศูนย์วิจัยและฝึกอบรม ที่พัก ห้องประชุมที่ทันสมัย เหมาะสมกับการใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการ และพร้อมดำเนินการทันทีเมื่อประเทศสมาชิกอาเซียนบรรลุข้อตกลงการจัดตั้ง (Establishment Agreement: EA) ภายในเดือนกันยายนนี้ 

Day5 : 26 สิงหาคม 2565 ปิดฉากประชุมเอเปคสุขภาพ APEC Health Week บรรลุข้อมติ 12 ข้อ

  ปิดฉากประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ บรรลุข้อมติ 12 ข้อ สร้างสมดุลสุขภาพและเศรษฐกิจ เน้นลงทุนสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ ความมั่นคงด้านสุขภาพ รวมทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อรองรับโรคระบาดในอนาคต ตามวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 เล็งเปิดพรมแดนสร้างการเดินทางที่ปลอดภัยไม่กระทบต่อการป้องกันโควิด พร้อมแบ่งปันและถ่ายทอดเทคโนโลยีวัคซีนโควิด และอำนวยความสะดวกทางการค้า
 
         
          ที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมโต๊ะกลมหัวข้อการลงทุนในด้านความมั่นคงด้านสุขภาพโลกเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือโรคระบาดในอนาคต ซึ่งเป็นการหารือที่สำคัญของรัฐมนตรีสาธารณสุขของเขตเศรษฐกิจเอเปค ในวันที่ 2 ของการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ (HLM) ครั้งที่ 12 “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์กับภาคี เชื่อมโยงกันกับโลก สู่สมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ” ระหว่างวันที่ 25-26สิงหาคม 2565
 
          นายอนุทินกล่าวว่า จากการระบาดของโควิด 19 ทำให้เห็นว่าโลกยังเตรียมพร้อมในการรับมือการระบาดไม่เพียงพอ และเขตเศรษฐกิจต่างๆ เห็นความสำคัญของการรองรับการระบาดใหญ่ในอนาคต และการลงทุนที่จะทำให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพ ความมั่งคั่งในประชาชนและคนรุ่นต่อไป ตามที่กำหนดไว้ในวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 ที่ให้ส่งเสริมการเติบโตที่มีคุณภาพ อันนำมาซึ่งประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจน การมีสุขภาพที่ดีขึ้น และความเป็นอยู่ที่ดีแก่ทุกคน การหารือในรอบนี้จึงเน้นการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ครั้งต่อไปผ่านการลงทุนเรื่องระบบสุขภาพ การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งการเร่งพัฒนาและผลิตวัคซีน และการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัล
 
          นายอนุทินกล่าวว่า ผลลัพธ์ที่สำคัญจากการประชุมครั้งนี้คือ ข้อมติ 12 ข้อ ในถ้อยแถลงของประธาน (Chair’s Statement) ที่มุ่งสร้างสมดุลด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ และสนับสนุนการลงทุน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ ซึ่งปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ การเปิดพรมแดนสร้างการเดินทางที่ปลอดภัย ไม่กระทบต่อการป้องกันโควิด นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจของเอเปคร่วมมือกับภาคเอกชนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะการแบ่งปันและถ่ายทอดเทคโนโลยีวัคซีนโควิด และอำนวยความสะดวกทางการค้า
 
          “การประชุมครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากเขตเศรษฐกิจเอเปคมาร่วมประชุม On-site ถึง 15 เขตเศรษฐกิจ และ อีก 5 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วมประชุมออนไลน์ รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นกว่า 150 คนซึ่งมากกว่าทุกครั้งที่เคยจัดมา นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้บรรลุข้อมติถึง 12 ข้อ ที่สามารถนำมาดำเนินการในการสร้างสมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และในตอนท้ายของการประชุม ได้แสดงความยินดีและส่งมอบการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจครั้งต่อไปให้แก่ผู้แทนของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพในปี 2566” นายอนุทินกล่าว      

โปรแกรมกิจกรรมเด่น จากหน่วยงานในสธ.ใน APEC Health Week

 

นิทรรศการ Thailand Global Healthcare Destination

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้จัดนิทรรศการภายใต้แนวคิด “Thailand Global Healthcare Destination” นำเสนอถึงการขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ (Medical Hub) ของไทย ศักยภาพของอุตสาหกรรมการแพทย์เพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยภายหลังการระบาดของโรคโควิด 19 ได้แก่ การให้บริการทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูง มีชื่อเสียงและดึงดูดชาวต่างชาติ (Magnets) และอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางการแพทย์ ได้แก่ การดูแลรักษาสุขภาพบริการชั้นเลิศ (Wellness & Medical Retreat) เช่น การนวดรักษา การนวดกดจุด สปา เป็นต้น
 
          นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงเพื่อการดูแลสุขภาพ (High Products Hub) จากองค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และบริษัทขาวลออ เป็นต้น ข้อเสนอแพ็กเกจตรวจสุขภาพพิเศษ จากโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของประเทศ บทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขไทย (อสม.) ในการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้รับคำชื่นชมจาก WHO รวมถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 Phuket โดยมีสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (Thailand Convention and Exhibition Bureau) หรือ TCEB ร่วมจัดนิทรรศการด้วย
 
          ตลอดระยะเวลาการจัดประชุม กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการส่งเสริมสนับสนุนการวางจําหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย และผลิตภัณฑ์โอทอป 4 - 5 ดาว (OTOP) ณ ลานพลาซ่า King Power รางน้ำ  และเปิดช่องทางการวางจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์สุขภาพออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์ thailandmedicalhub.net/ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมเอเปคสามารถซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์สุขภาพในพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและขอคืนภาษีได้โดยได้รับความร่วมมือในการเตรียมระบบ Vat Refund/Tax Refund และการเปิดใช้ช่องทางพิเศษ (Fast Track Lane) จากการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมสรรพากร กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าประชุมการประชุมระดับสูงว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจครั้งนี้ด้วย 

กรมการแพทย์แผนไทย โชว์นวดไทย

 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้รับมอบหมายในการจัดบูธนิทรรศการเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย การนำสมุนไพรมาใช้ทางการแพทย์ และการสาธิตการนวดแผนไทยภายในงาน ซึ่งจัดให้บริการนวดคอ บ่า ไหล่ และนวดเท้าให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 10 เตียง ได้แก่ นวดคอ บ่า ไหล่ จำนวน 5 เตียง รองรับได้ 40 คนต่อวัน และนวดเท้า 5 เตียง รองรับได้ 40 คนต่อวัน โดยมีการจัดสถานที่นวดเป็นสัดส่วน มีฉากกั้นระหว่างเตียง และจัดบริการบนมาตรฐานความปลอดภัยจากโรคโควิด 19 โดยผู้ให้บริการและผู้รับบริการจะสวมหน้ากากอนามัย มีการทำความสะอาดก่อนและหลังรับบริการ เป็นต้น
 
การเลือกนำเอา นวดไทย มานำเสนอและให้บริการครั้งนี้ เพื่อต้องการสื่อถึงศักยภาพการนำเอาบริการการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร มาใช้ในการดูแลสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงประโยชน์ด้านการดูแลสุขภาพแล้ว ยังเป็นบริการที่จะสร้างมูลค่าด้านเศรษฐกิจสูงให้กับประเทศได้ 
 
นวดไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากองค์การยูเนสโกตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2562 ถือเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยที่ต่างชาติให้ความสนใจและนิยมมารับบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 
 
การนวดไทยเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ และการนวดไทย เพื่อการรักษาโรค เช่น โรคกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อหรือโรคออฟฟิศซินโดรม ซึ่งในทางแพทย์แผนไทยเรียกว่า โรคลมปลายปัตฆาต เป็นโรคลมชนิดหนึ่งที่ทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก เลือดคั่งและแข็งตัวบริเวณกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและริมหัวต่อกระดูก ทำให้เกิดอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ แข็งเป็นก้อนเป็นลำตามแนวมัดกล้ามเนื้อ ซึ่งการนวดจะช่วยบรรเทาอาการ
 
ประเทศไทยมีการผลักดันสมุนไพร 12 รายการเป็น Herbal Champion มา ตั้งแต่ปี 2560  ได้แก่ กวาวเครือขาว กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก มะขามป้อม กระชายขาว พริก ฟ้าทะลายโจร กระเจี๊ยบแดง หญ้าหวาน ว่านหางจระเข้ และไพล และมุ่งหวังว่าไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมสมุนไพรของโลก คาดว่าปี 2565 จะเกิดการสร้างรายได้จากการพัฒนาสมุนไพร การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ประมาณเกือบ 78,000 ล้านบาท

กรมการแพทย์ โชว์ นวัตกรรมทางการแพทย์ ในงาน APEC Health Week

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดเต็ม! ขนทัพ “นวัตกรรมทางการแพทย์” แสดงภายในงานประชุม APEC Health Week ทั้งเครื่องตรวจโควิดจากลมหายใจ ไม่ต้องแยงจมูก เจาะเลือด หรือใช้น้ำลาย รู้ผลใน 5 นาที แม่นยำสูง เครื่องตรวจชนิดเบาหวานจากลมหายใจ ระบบบันทึกทางการแพทย์ด้วยเสียงภาษาไทย เวชสำอางจากกัญชา ชูตอบโจทย์การดูแลรักษา แก้ไขปัญหาบริการ ต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้
 
          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์เตรียมการนำเสนอนิทรรศการนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ล้ำสมัย และเกิดประโยชน์ตามความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการฟื้นฟูสุขภาพและเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งมีตัวอย่างได้แก่
  • นวัตกรรมตรวจคัดกรองโควิด 19 จากลมหายใจ (Volatile Exhale Breath Analysis: VEBA) 
  • เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดจากอะซิโตนในลมหายใจ (G-Breath) ใช้ตรวจและบอกชนิดของเบาหวาน จากก๊าซ 4 ชนิดที่ออกมาพร้อมกับลมหายใจ 
  • การพิมพ์สามมิติเพื่อช่วยการรักษาทางการแพทย์ ช่วยทำให้การกำหนดตำแหน่งเพื่อผ่าตัดหรือฉายแสงมะเร็งมีความแม่นยำขึ้น 
  • Precision cutting guide ในโรคมะเร็งช่องปาก
  • กะโหลกเทียม (Cranioplasty) และ การทำเฝือกเฉพาะบุคคล
  • การใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อวินิจฉัยการตีบของหลอดเลือดหัวใจจากภาพถ่ายสแกนภาวะเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
  • ระบบอำนวยความสะดวกในการจดบันทึกทางการแพทย์  เทคโนโลยีการรู้จำเสียงพูดแล้วแปลงเสียงให้เป็นข้อความอักษรอัตโนมัติ
  • นวัตกรรมเวชสำอางกัญชาจากสถาบันโรคผิวหนัง 
 
นวัตกรรมเหล่านี้เป็นนวัตกรรมเด่นของกรมการแพทย์ ที่มีการออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำงาน การบริการ และการดูแลรักษาผู้ป่วยรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพและดีขึ้นกว่าเดิม ที่สำคัญคือลดการนำเข้าและสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ จึงเป็นนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงภายในงานประชุม APEC Health Week ให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยและเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค

 

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นำเสนอการขับเคลื่อน Medical Hub

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข นำเสนอการขับเคลื่อน Medical Hub ของไทยผ่านการจัดบูธนิทรรศการในงานประชุม APEC Health Week ระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม 2565 โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ  โชว์ศักยภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย บริการสุขภาพชั้นเลิศ  ผลิตภัณฑ์สุขภาพคุณภาพสูง ตอบโจทย์การสร้างสมดุลสุขภาพและเศรษฐกิจ ชูบทบาท อสม. กับการควบคุมป้องกันโควิด 19 ในชุมชน

โดยกรม สบส. ได้จัดนิทรรศการภายใต้แนวคิด “Thailand Global Healthcare Destination” นำเสนอถึงการขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ (Medical Hub) ของไทย ศักยภาพของอุตสาหกรรมการแพทย์เพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยภายหลังการระบาดของโรคโควิด 19 ได้แก่ การให้บริการทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูง มีชื่อเสียงและดึงดูดชาวต่างชาติ (Magnets) และอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางการแพทย์ ได้แก่ การดูแลรักษาสุขภาพบริการชั้นเลิศ (Wellness and Medical Retreat)  นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงเพื่อการดูแลสุขภาพ (High Products Hub) จากองค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และบริษัทขาวลออ เป็นต้น ข้อเสนอแพ็กเกจตรวจสุขภาพพิเศษ จากโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของประเทศ บทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขไทย (อสม.) ในการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้รับคำชื่นชมจาก WHO รวมถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 Phuket โดยมีสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (Thailand Convention and Exhibition Bureau) หรือ TCEB ร่วมจัดนิทรรศการด้วย 
 
 ตลอดระยะเวลาการจัดประชุม กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการส่งเสริมสนับสนุนการวางจําหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย และผลิตภัณฑ์โอทอป 4 - 5 ดาว (OTOP) ณ ลานพลาซ่า King Power รางน้ำ และเปิดช่องทางการวางจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์สุขภาพออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์ https://www.thailandmedicalhub.net/ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมเอเปคสามารถซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์สุขภาพในพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและขอคืนภาษีได้โดยได้รับความร่วมมือในการเตรียมระบบ Vat Refund/Tax Refund และการเปิดใช้ช่องทางพิเศษ (Fast Track Lane) จากการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมสรรพากร กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าประชุมการประชุมระดับสูงว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจครั้งนี้ด้วย 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด