นายแพทย์เอกขัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนนิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านแอปพลิเคชันทางออนไลน์กันมากขึ้น เพราะสะดวก ประหยัดน้ำมัน และไม่เสียเวลาในการเดินทาง อีกทั้ง ผู้ผลิตยังนิยมจัดกลยุทธ์การตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย ทำให้ผู้บริโภคสั่งซื้ออาหารนั้นบ่อยและมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว
กรมอนามัย แนะนำว่าควรระวังสินค้าเก่าเก็บที่อาจเสี่ยงเชื้อรา หากเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสม เช่น เก็บไว้ในที่ชื้นเกินไป หรือไม่มีการอบให้แห้งดีพอ ก่อให้เกิดอะฟลาทอกซินหากมีการบริโภคเข้าไปสะสมในปริมาณมากก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้
หรือในกรณีที่มีการแชร์ข้อความและรูปภาพประเด็นสั่งซื้อโดนัทจากห้างสรรพสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน แต่ได้รับของหมดอายุผ่านโซเชียลมีเดียนั้น แม้ว่าตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 การจำหน่ายอาหารที่หมดอายุยังไม่ถือ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร
แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามกรณีดังกล่าว กรณีสั่งสินค้าทางออนไลน์ผู้บริโภค ควรพิจารณาภาพประกอบการขายสินค้าอย่างละเอียด เพื่อเป็นการเลือกสินค้าที่มีคุณภาพเบื้องต้น รวมถึงเมื่อได้รับสินค้าควรสังเกตบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด ซองบรรจุไม่มีรูรั่ว และอ่านฉลากให้ครบถ้วน ตั้งแต่ชนิด ส่วนประกวันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดคุณภาพ ส่วนอาหารสดก่อนที่จะนำมาปรุง ประกอบอาหาร ควรล้างให้สะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อน และควรตรวจสอบวันหมดอายุก่อนนำมาบริโภคทุกครั้ง
ซึ่งนอกจากผู้บริโภคควรสังเกเรื่องความปลอดภัยของอาหารแล้ว หากพบอาหารที่สั่งมามีกลิ่นหรือสีที่เปลี่ยนไปถึงแม้จะมองไม่เห็นว่ามีเชื้อราก็ตาม ไม่ควรนำมาบริโภค
“ทั้งนี้ กรณีการนำเสนอข่าวการสั่งซื้อโดนัท ซึ่งเป็นของทอด มีส่วนประกอบหลักทำจากแป้ง และความหวานอร่อยของโดนัทเกิดจากการปรุงรสชาติด้วยน้ำตาล รวมถึงบรรดาหน้าต่าง ๆ ของโดนัท ส่วนประกอบหลัก คือ น้ำตาลเช่นเดียวกัน และโดยเฉลี่ยโดนัท 1 ชิ้น น้ำหนักประมาณ 40 กรัม ให้พลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 168 กิโลแคลอรีจะมีน้ำตาลประมาณ 5.5 - 13.9 กรัม หากกินเป็นประจำ เสี่ยงที่จะได้รับพลังงานและน้ำตาลเกินปริมาณที่แนะนำต่อวัน ดังนั้น การสั่งซื้ออาหารออนไลน์ จึงควรเลือกสั่งซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพร่วมด้วย” รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกรมอนามัย กล่าว