สำหรับตัวอย่างภาคเอกชนที่ดำเนินการด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ASF ในสุกร ด้วย “ระบบไบโอซีเคียวริตี้” (Biosecurity System) ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในการเลี้ยงสุกร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งถือเป็นการสนับสนุน นโยบาย Zero ASF หรือ ASF เป็นศูนย์ ของกรมปศุสัตว์ ด้วยระบบดังกล่าวทำให้การป้องกันโรคระบาดในสัตว์มีประสิทธิภาพสูงสุด ได้ผลผลิตสุกรปลอดโรค เติบโตเป็นอาหารโปรตีนป้อนคนไทยได้อย่างเพียงพอ หนุนความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ให้ประเทศไทยคงสถานะครัวของโลกได้อย่างยั่งยืน
น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริการวิชาการสุกร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ปัจจุบันฟาร์มสุกรของซีพีเอฟ ดำเนินมาตรฐานฟาร์มตามแนวทางของกรมปศุสัตว์ และยกระดับมาตรฐานฟาร์มสุกรของบริษัทสู่ “ระบบไบโอซีเคียวริตี้” 100% รวมถึงผลักดันเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรกับซีพีเอฟ หรือคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ระบบการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์มดังกล่าวได้รับการยอมรับในระดับสากล ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบาดอื่นๆ ในฟาร์มสุกร และทุกฟาร์มต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด จึงมั่นใจได้ว่าสุกรในระบบจะปลอดโรค สู่เนื้อหมูอนามัย ปลอดภัย ส่งถึงมือผู้บริโภค
“ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญสูงสุดกับการผลิตอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต ขั้นตอนของการเลี้ยงสุกร เป็นอีกส่วนสำคัญของความปลอดภัยทางอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการป้องกันโรคระบาดในสัตว์ โดยซีพีเอฟได้ยกระดับมาตรฐานฟาร์มสุกรของบริษัทและของเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่ง เข้าสู่ระบบไบโอซีเคียวริตี้ทั้งหมดแล้ว 100% โดยซีพีเอฟ ยืนหยัดร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้ป้องกันโรค ASF อย่างแข็งแกร่งให้ประเทศไทยเดินหน้า สู่สถานะปลอดโรค ASF โดยเร็ว” น.สพ.ดำเนิน กล่าว
มาตรฐานฟาร์มสุกรของซีพีเอฟ ในระบบไบโอซีเคียวริตี้ ประกอบด้วย การเลี้ยงสุกรในโรงเรือนระบบปิด ป้องกันสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค อาทิ หนู นก หรือแมลงต่างๆ ในส่วนวัตถุดิบที่นำมาใช้ภายในฟาร์ม ทั้งอาหาร น้ำ ฯลฯ ต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งที่มาได้ ซึ่งฟาร์มจะรับจากแหล่งที่ปลอดภัยเท่านั้น ตลอดจนควบคุมยานพาหนะขนส่งเข้า-ออกฟาร์มอย่างเข้มงวด โดยรถทุกคันและพนักงานทุกคน ต้องผ่านระบบฆ่าเชื้อ เพื่อไม่ให้คนหรือยานพาหนะ เป็นพาหะนำเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม รวมถึงกำหนดจุดส่งมอบสุกรที่แยกจากออกฟาร์ม
ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพดังกล่าว ทำให้มั่นใจได้ในความปลอดภัยของกระบวนการผลิตสุกรตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยของเนื้อสุกรสู่ผู้บริโภคอย่างแท้จริง