1 มี.ค. 66 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวถึงภาพภาวะการณ์ด้านผู้สูงอายุในพื้นที่กรุงเทพมหานครและความสามารถในการจัดการของกรุงเทพมหานคร ว่า
- ประเทศไทย และ กรุงเทพมหานคร เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว
- บางพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร มีจำนวนผู้สูงอายุ สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ
- กรุงเทพมหานคร มีผู้สูงอายุที่อยู่ในการดูแลจำนวนมาก
รองผู้ว่าฯ ทวิดา สะท้อนภาพว่า
"หากให้พูดตรงๆ ทรัพยากรของกรุงเทพมหานครนั้นไม่เพียงพอ ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องเข้ามาร่วมทำงานให้ครบวงจร และถึงเวลาที่ต้องมาดูว่างานทั้งหมดคืออะไรและอย่าทำงานซ้ำซ้อนกัน แต่ต้องไม่มีช่องว่างระหว่างกัน แล้วทำให้งานนั้นมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพมากขึ้น"
ซึ่งจะสอดคล้องกับเป้าหมายหลักของผู้ว่าฯ ที่อยากให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำงานน้อยลง แต่ได้ผลงานมากขึ้น จึงต้องมีการวางแผนการใช้เวลาและการออกแบบการทำงานให้มากขึ้น
แผนปฏิบัติการ ระยะ 3 พร้อมแผนปฏิบัติการย่อย
ที่ประชุมได้นำเสนอแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566-2570) โดยมีวิสัยทัศน์คือ “ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ เป็นพลังของสังคม” ประกอบด้วย 3 แผนปฏิบัติการย่อย คือ
1) การเตรียมความพร้อมของวัยก่อนสูงอายุ
2) การยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และ
3) การบริหารและส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบรองรับสังคมสูงวัย
ซึ่งมีเป้าหมายรวม 25 เป้าหมาย โดยในบางเป้าหมาย อาทิ ชุมชนมีระบบป้องกันสาธารณภัยสำหรับผู้สูงอายุ
รองผู้ว่าฯ ทวิดา ชี้ว่าในการจัดการปัญหาผู้สูงอายุส่วนหนึ่งนั้น "จะต้องพยายามทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าเขายังมีฟังก์ชันอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องของเศรษฐกิจสังคมในการทำให้เราแข็งแรงขึ้น และต้องขยายไปถึงการทำให้ปฏิสัมพันธ์ของผู้สูงอายุกับคนกลุ่มอื่นในสังคมลื่นไหลไปด้วยกัน"
การทำงานยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม
รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้แนะนำว่าการทำงานยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ในการทำให้เกิดผลนั้นต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันหลายฝ่าย ในการนำเสนอแผนการทำงานอีกส่วนคือการปฏิบัติตามนโยบายผู้ว่าฯ กทม. ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านผู้สูงอายุ จำนวน 5 นโยบาย คือ
1. อาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.)
2. ชมรมผู้สูงอายุ สร้างสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพใจ
3. คลังปัญญาผู้สูงอายุ
4. หมอถึงบ้าน ผ่าน Telemedicine
5. ส่งเสริมกลไกภาคประชาชนสุขภาพดี ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ
ใน 5 นโยบายนี้ รองผู้ว่าฯ ทวิดา เน้นย้ำเรื่อง Telemedicine เป็นพิเศษ โดยจำเป็นต้องมีการสื่อสารและจัดทำเส้นทางการให้บริการกับผู้ป่วย พร้อมกับการพัฒนาอุปกรณ์ เทคโนโลยี เพื่อสร้างความมั่นใจในระบบ และเกิดการใช้บริการ telemedicine อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากเชื่อมโยงกับนโยบายโรงพยาบาล 10,000 เตียงของผู้ว่าฯ ชัชชาติ เช่นกัน
ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังได้หารือในวาระเรื่องการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อกำกับ ติดตามและประเมินผลตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง และแผนด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร โดยที่ประชุมมีมติให้คณะอนุกรรมการฯ แบ่งเป็น 3 คณะ ตามแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566-2570) โดยจะได้มีการหารือถึงผลการทำงานจากการประชุมในครั้งต่อไป