เป็นการมุ่งสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเป็นธรรมและทันการณ์ มีการพัฒนาระบบบริหารการจัดหาวัคซีนเพื่อให้มีวัคซีนสำรองที่เพียงพอและลดปัญหาการขาดแคลนวัคซีนที่จำเป็น
1. อัตราครอบคลุมของการได้รับวัคซีนของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย
สามารถให้บริการวัคซีนพื้นฐานกับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย (เด็กแรกเกิด-12 ปี) ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 จำนวน 3 ชนิด (จาก 19 ชนิด)2 ได้แก่ วัคซีนป้องกันวัณโรค วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี และวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน เนื่องจากปัญหาความครบถ้วนของการรายงานผลการให้บริการที่สถานบริการแต่ละแห่งตามระบบการส่งข้อมูลเข้าส่วนกลาง รวมทั้งการรับบริการวัคซีนในพื้นที่ที่มีการเคลื่อนย้ายของแรงงานไทย แรงงานต่างชาติ และพื้นที่ชายแดน
2. จำนวนชนิดวัคซีนมีเพียงพอใช้ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน
- สามารถจัดหาวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ จำนวน 800,000 โดส และคาดว่าจะสามารถจัดหาวัคซีนได้อย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้บริการวัคซีนดังกล่าวแก่นักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
- ดำเนินการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอเสริมในพื้นที่เสี่ยงให้แก่เด็กไทยที่อายุต่ำกว่า 5 ปีและเด็กต่างชาติที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง (จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา) และพื้นที่อำเภอชายแดนไทย-เมียนมา (จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี) รวมถึงรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดและโรคหัดเยอมัน3ให้แก่กลุ่มเป้าหมายกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 20-40 ปี กลุ่มผู้ต้องขังรายใหม่และเจ้าหน้าที่เรือนจำทั่วประเทศ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขภาครัฐและกลุ่มทหารเกณฑ์ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน
3. บรรจุวัคซีนชนิดใหม่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
ไม่สามารถดำเนินการบรรจุวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดอีก 1 โดส ไว้ในแผนงานสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ เนื่องจากปัญหาข้อจำกัดด้านงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนประกอบกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่สามารถใช้วัคซีนโปลิโอชนิดฉีดแล้วตามด้วยวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทานได้ตามเดิม
4. ความสำเร็จในการจัดซื้อวัคซีนในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน
- มีการผลักดันให้มีการจัดซื้อวัคซีนแบบหลายปี (2 ปี) ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากปี 2564 จากการประเมินประสิทธิภาพการบริหารปริมาณวัคซีนคงคลัง 18 เดือน (ปริมาณวัคซีนที่ใช้ใน 12 เดือน รวมกับปริมาณวัคซีนสำรอง 6 เดือน มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรองรับการใช้วัคซีนในประเทศ จึงไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนวัคซีนสำรองจาก 6 เดือน เป็น 12 เดือน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
- การสำรองวัคซีนกรณีเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ในคลังผู้ผลิตยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั่วโลก ทำให้ไทยต้องจัดหาวัคซีนรองรับสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อใช้ในการควบคุมป้องกันโรค โดยขยายกรอบการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เป็นจำนวน 120 ล้านโดส (จากเดิม 103.5 ล้านโดส) เพื่อให้มีวัคซีนเพียงพอ
5. ข้อมูลชนิดและปริมาณความต้องการรายวัคซีนที่จำเป็นในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและวัคซีนที่ใช้ตอบโต้การระบาด
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาระบบข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีน เพื่อใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายเกี่ยวกับการวิจัยพัฒนา การผลิต และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สวช. ได้วางแผนพัฒนาและปรับปรุงระบบข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีน รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ช่วยในการแก้ปัญหาให้ข้อมูลมีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจในเชิงนโยบายได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำหรับการพัฒนาระบบเฝ้าระวังสอบสวนอาการภายหลังได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยได้บูรณาการระบบดังกล่าวเข้ากับระบบงานเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จึงทำให้ไม่มีแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565