ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ระบุถึง สถานการณ์ โควิด 19 ที่เริ่มระบาดมากขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม
หลังการรายงานของกรมการแพทย์ ว่าการระบาดนี้ เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ก่อนหน้า เนื่องจาก เป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลปกติของการระบาดของโรคทางเดินหายใจอยู่แล้ว (นอกจากโควิด ยังมีไข้หวัดใหญ่ โนโรไวรัส และ RSV) กอปรกับเป็นช่วงการเปิดเทอม โดยมี "นักเรียนเป็นผู้แพร่กระจายที่ดี" การรวมกลุ่มในโรงเรียน ทำกิจกรรม การไม่สวมหน้ากากอนามัย เหล่านี้ คือปัจจัยแพร่การระบาดอย่างดี
การระบาด จะเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม จะมีจุดสูงสุดในเดือนมิถุนายนจนถึง เดือนสิงหาคมและหลังจากนั้นจะค่อยๆลดลง และจะไปเพิ่มอีกครั้งหนึ่งแต่ไม่มากในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ปีหน้าแล้วก็สงบ
ประชากรส่วนใหญ่จะติดเชื้อ ความรุนแรงของโรคลดลง
การระบาดรอบใหม่สายพันธุ์ดาวดวงแก้ว (Arcturus )
การระบาดของโควิดรอบใหม่จากสายพันธุ์ใหม่ที่จะพบมากขึ้นในประเทศไทย ที่เรียกว่า "สายพันธุ์ดาวดวงแก้ว" มาจากคำว่า Arcturus (อาร์คตูรุส) สายพันธุ์ Arcturus เป็นสายพันธุ์ย่อยของเชื้อ COVID-19 ในอินเดีย โดยเชื้อ Arcturus เกิดจากการรวมตัวของเชื้อโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 และ BA.2 โดยผลการทดลองจากห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่าเชื้อ Arcturus สามารถเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และมีศักยภาพในการก่อโรคที่เพิ่มขึ้น
ความรุนแรงของโรคสายพันธุ์ดาวดวงแก้ว (XBB.1 .16) จากอินเดียไม่ได้รุนแรงไปกว่าสายพันธุ์เดิม แต่แพร่ระบาดง่าย เมื่อมีผู้ป่วยจำนวนมากก็ต้องพบผู้ป่วยอาการมากเป็นอัตราส่วนปกติ มีอาการบางอย่างแตกต่างไปบ้าง เช่น ตาแดงในเด็ก
ร่างกายแข็งแรงอาการจะน้อย
สำหรับผู้ที่เป็น novid ทั้งหลาย หรือที่ยังไม่เคยเป็น ก็จะเป็นในช่วงนี้มากขึ้นจะเหลือผู้ที่ไม่เคยเป็นจริงๆน้อยลงอย่างมาก
ในภาพรวมผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงอาการจะน้อย ความรุนแรงที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษจะอยู่ในกลุ่มเปราะบาง ในกลุ่มนี้จะต้องให้ความสำคัญในการป้องกัน และรีบรักษาให้เร็วที่สุดด้วยยาต้านไวรัส
สาเหตุที่ทำให้โรคระบาดมาก เพราะชีวิตกลับเข้าสู่ปกติ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่อาการไม่รุนแรง ก็จะให้อยู่บ้าน และในขณะเดียวกันการติดเชื้อภายในบ้านเดียวกัน ก็เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น รวมทั้งในโรงเรียนสถานศึกษาและสถานที่อยู่รวมกันเป็นจำนวนมากเช่นตามโรงงาน
การป้องกันการระบาดทุกคนจะต้องช่วยกันลดจำนวนให้ได้น้อยที่สุด และให้จำนวนค่อยเป็นค่อยไป ถ้าเกิดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก จะเป็นภาระในระบบสาธารณสุข เพราะในจำนวนนี้จะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ต่อไปคำว่า novid มีจริงแต่ก็คงจะน้อยลงไปเรื่อยๆ และการติดซ้ำ 2 หรือ 3 สามารถเกิดขึ้นได้ แต่การเป็นซ้ำ ส่วนใหญ่อาการจะลดน้อยลง
ทุกคนจะต้องช่วยกันลดการแพร่กระจายของโรค โดยเฉพาะในช่วงการระบาดใหญ่ที่กำลังจะมาถึงตามฤดูกาล
วัคซีนโควิด
"สายพันธุ์ XBB ทุกตัว หลบหลีกภูมิต้านทานเดิมได้ดี จึงเป็นแล้วเป็นอีกได้ ภูมิที่เกิดจากวัคซีนที่ใช้ในการลดความรุนแรงของโรค ใช้เพิ่มขึ้น ภูมิต้านทานชนิดสำเร็จรูป LAAB จะไม่ได้ผลในกลุ่มสายพันธุ์ XBB วัคซีนที่ใช้ไม่มีวัคซีนเทพ ทุกตัวไม่แตกต่างกัน แนะนำให้วัคซีนกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยง 607 ที่ได้รับวัคซีนมานานแล้วมากกว่า 6 เดือน ส่วนสตรีตั้งครรภ์ให้พิจารณากระตุ้นตามความเหมาะสม วัคซีนจะปรับเป็นการให้วัคซีนประจำปี ควรให้ก่อนเข้าฤดูฝน หรือจะเริ่มฉีดได้เลย เพื่อป้องกันการระบาดและจุดสูงสุดที่กำลังจะเข้ามาในเดือนหน้าช่วงฤดูฝน การให้วัคซีนกระตุ้นอาจพิจารณาให้ในผู้ที่เสี่ยงต่อการติดโรคเช่นผู้ที่สัมผัสกับผู้คนเป็นจำนวนมาก บุคลากรด่านหน้า คล้ายกับการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ส่วนในคนปกติที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ก็คงขึ้นอยู่กับความสมัครใจ"