นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 เปิดเผยว่า อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต มีจำนวนประชากร 112,204 คน ในจำนวนนี้เป็นประชากรสูงอายุ 13.1% มากเป็นอันดับ 2 ของจังหวัด และมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 12,853 ราย ในปี 2563 เป็น 14,786 ราย ในปี 2565 ซึ่งจากข้อมูลของโรงพยาบาลถลางพบว่า มีการให้บริการผู้สูงอายุเฉลี่ยปีละ 12,508 ราย ล่าสุด ปี 2566 ให้บริการแล้ว 8,568 ราย จึงได้นำแนวคิด “THALANG MODEL” มาขับเคลื่อนงานดูแลผู้สูงอายุแบบไร้รอยต่อ ประกอบด้วย T-Team Work ดูแลผู้สูงอายุจากหน่วยบริการถึงที่บ้านอย่างต่อเนื่อง โดยทีมสหวิชาชีพ รพ.ถลาง, รพ.สต. และทีมเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง H-Health Care Support มีผู้จัดการดูแลผู้สูงอายุ 16 คน และผู้ดูแลผู้สูงอายุ 107 คน ครบทุก รพ.สต. มีทีมสหวิชาชีพ/ทีมหมอครอบครัวและแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นที่ปรึกษาในการดูแลสุขภาพทั้งเชิงรับและเชิงรุก จัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลถลาง บูรณาการดูแลผู้ป่วยสูงอายุระยะกลาง/ระยะยาว/ดูแลสุขภาพที่บ้าน/ดูแลแบบประคับประคอง
A-Aging Screening คัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ 9 ด้าน โดย อสม. ดำเนินการแล้ว 89.91% เมื่อพบมีภาวะเสี่ยง จะคัดกรองซ้ำโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และหากพบความผิดปกติ จะส่งต่อคลินิกผู้สูงอายุ L-Long Term Care จัดระบบบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ซึ่งผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้วครบทั้ง 6 ตำบล ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 329 ราย มีแผนการดูแลรายบุคคล (Care plan) ครบ 100% A-Ageing Health Club กระตุ้นการรวมกลุ่มทำกิจกรรม ปัจจุบันมีชมรมผู้สูงอายุ 2 ชมรม ชมรมออกกำลังกายครบทุกตำบล รวม 6 ชมรมและโรงเรียนผู้สูงอายุ 5 แห่ง N-Network มีเครือข่ายดูแลผู้สูงอายุ และ G-Goal : Healthy Aging มีเป้าหมายคือ การมีผู้สูงอายุที่มีศักยภาพในการดำรงชีวิตตามปกติ สามารถสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคมได้
ด้าน นพ.บรรพต ปานเคลือบ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลถลาง กล่าวว่า จากการคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ 9 ด้าน พบว่า ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงด้านการมองเห็นมากที่สุด 21.46% รองลงมา คือ การเคลื่อนไหวร่างกาย 17.57% สุขภาพช่องปาก 15.77% การได้ยิน 11.80% ความคิดความจำ 11.64% การทำกิจวัตรประจำวัน (ADL) 11.32% การกลั้นปัสสาวะ 8.96% ขาดสารอาหาร 7.39% และซึมเศร้า 6.57% ซึ่งทุกรายได้รับการส่งต่อดูแลรักษาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังมีแผนดำเนินงานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงด้วยค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบเข้มข้น “เพื่อนช่วยเพื่อน” โดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น จัดตั้งศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยทีมสหวิชาชีพ ให้ความรู้รายบุคคล เน้นให้เกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ และค้นหาบุคคลต้นแบบ เป็นต้น