ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

กรมควบคุมโรคเตือน พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น ร่วมจิตอาสา 904 กำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย

กรมควบคุมโรคเตือน พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น ร่วมจิตอาสา 904 กำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย Thumb HealthServ.net
กรมควบคุมโรคเตือน พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น ร่วมจิตอาสา 904 กำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย ThumbMobile HealthServ.net

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วงนี้ มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้เกิดน้ำขังค้างในภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย จึงขอเน้นย้ำมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ป้องกันป่วยโรคไข้เลือดออก พร้อมปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง สะอาด ไม่ให้เป็นที่เกาะพักของยุง โดยมีเป้าหมายในการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลายมีทั้งสิ้น 7 สถานที่ หรือ 7 ร.

 
 
         9 มิถุนายน 2566 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีที่มีการคาดการณ์ว่าในปี 2566 ประเทศไทยจะพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากขึ้นตามวงรอบของปีที่จะระบาด โดยในปีนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 8 มิถุนายน 2566 พบรายงานผู้ป่วยจำนวน 19,503 ราย คิดเป็นอัตราป่วยต่อประชากรแสนคน 29.47 เสียชีวิต 17 ราย และจำนวนผู้ป่วยปี 2566 มากกว่า ปี 2565 ณ ช่วงเวลาเดียวกันถึง 3.8 เท่า กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงที่สุด ได้แก่ อายุ 5-14 ปี รองลงมา 15-24 ปี จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงที่สุดในช่วงเดือนที่ผ่านมา คือ จังหวัดตราด น่าน จันทบุรี แม่ฮ่องสอน และสตูล ตามลำดับ

 
          ในช่วงฤดูฝนมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายและเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการระบาดของโรคได้ กรมควบคุมโรค จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้านให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ เก็บขยะภายในบริเวณบ้าน โรงเรียน และวัด เช่น ขวด กระป๋อง ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จะสามารถป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ (ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา)


 
          นอกจากนี้ต้องช่วยกันปรับปรุงสิ่งแวดล้อม หรือทำกิจกรรม BIG CLEANING DAY เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถานที่ ให้ปลอดโปร่ง สะอาด ไม่ให้เป็นที่เกาะพักของยุง ซึ่งกรมควบคุมโรคได้กำหนดเป้าหมายในการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลาย 7 สถานที่ หรือ 7ร. ได้แก่ โรงเรือน(บ้าน) โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม/รีสอร์ท โรงงาน/อุตสาหกรรม โรงธรรม(วัด/มัสยิด/ศาสนสถาน) และสถานที่ราชการ ซึ่งสถานที่ดังกล่าวมีการรวมตัวกันของประชาชนถือเป็นสถานที่เสี่ยงที่จะมีการระบาดของโรคไข้เลือดออก และจากผลการสำรวจนั้น พบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายสูงสุดในกลุ่มโรงธรรม และโรงเรียน
 
          ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยการทายากันยุงหรือนอนในมุ้ง และหากประชาชนมีอาการไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากมีไข้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน จะได้รับการรักษาที่เหมาะสม และช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
กรมควบคุมโรคเตือน พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น ร่วมจิตอาสา 904 กำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย HealthServ

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติแนะอย่าประมาท


สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ชี้โรคไข้เลือดออกระบาด มียุงลายเป็นพาหะนำโรค สิ่งสำคัญต้องทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย ป้องกันไม่ให้ยุงกัด และไปพบแพทย์เมื่อป่วยพร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำ
 
 
          นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี ที่มียุงลายเป็นแมลงนำโรค ในเด็กกลุ่มอายุที่พบเป็นโรคดังกล่าวมากคือ กลุ่มอายุระหว่าง 10-14 ปี ในขณะที่ กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตสูง คือ กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปีมีภาวะอ้วนหรือมีโรคประจำตัว โรคไข้เลือดออกมีลักษณะที่แปรผันตามฤดูกาล โดยจะเริ่มมีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นในเดือนมิถุนายน - สิงหาคม ซึ่งเป็นฤดูฝน เดือนกันยายนจะเริ่มมีแนวโน้มผู้ป่วยลดลง แต่ถ้าหากช่วงปลายปีจำนวนผู้ป่วยไม่ลดลง อาจทำให้เกิดการระบาดต่อเนื่องในปีถัดไปได้ ไวรัสเดงกีมี 4 สายพันธุ์ โดยผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ที่เคยเป็น ไปตลอดชีวิต และจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่นในระยะสั้นประมาณ 3 – 12 เดือน
 
 
           นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของผู้ที่เป็นไข้เลือดออกจะมีไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่น อาจมีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง และในรายที่มีภาวะช็อกรุนแรงจะพบตับวาย ไตวาย หรือเลือดออกมากและเสียชีวิตได้ เมื่อพบว่าทารกหรือเด็กเล็ก มีอาการไข้ 2 - 3 วัน ควรตรวจ ATK เพื่อตัดข้อสงสัยการติดเชื้อโควิด19 หากผลตรวจเป็นลบ ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดและอาจตรวจหาเชื้อไวรัส และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
 
 
           การป้องกันโรคไข้เลือดอออกที่สำคัญ คือ ป้องกันตัวเองและบุตรหลานไม่ให้ยุงกัดด้วยการนอนในมุ้ง ทายากันยุง ช่วยกันกำจัดทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย แหล่งน้ำขังในบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่ควรประมาท ควรติดตามอาการอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย ซึม รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียน ปวดท้อง ถ้ามีอาการดังกล่าวแม้ว่าไข้เริ่มจะลดลงแล้วควรไปพบแพทย์  วัคซีนไข้เลือดออกมีประสิทธิภาพดีและมีความปลอดภัย จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการป้องกันโรคไข้เลือดออก  วัคซีนไข้เลือดออกที่มีในประเทศไทยในปัจจุบัน แนะนำให้ฉีด ช่วงอายุ 6 - 45 ปี ในผู้ป่วยที่มีหลักฐานยืนยันว่าเคยติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกแล้ว

 
กรมควบคุมโรคเตือน พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น ร่วมจิตอาสา 904 กำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย HealthServ

กรมควบคุมโรคร่วมกับจิตอาสาพระราชทาน ๙๐๔ และเครือข่าย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ป้องกันโรคไข้เลือดออกในศาสนสถาน

 
        กรมควบคุมโรค บูรณาการการปฏิบัติงานของจิตอาสาพระราชทานทุกภาคส่วน จัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม กำจัดลูกน้ำยุงลาย ป้องกันไข้เลือดออกในศาสนสถาน เพื่อน้อมนำกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในศาสนสถานสู่การปฏิบัติ และเพื่อเฉลิมพระเกียรติ และถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสพระชนมายุ 72 พรรษา ในปี 2567
 
 
       9 มิถุนายน 2566  ณ วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร พลอากาศเอก นายแพทย์สุบิน ชิวปรีชา กรมวังผู้ใหญ่ในพระองค์ ๙๐๔ พร้อมด้วย ดร.นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค, ดร.พาหุรัตน์ คงเมือง ทัยสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการโครงการพระราชดำริฯ, ดร.นายแพทย์สุทัศน์  โชตนะพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง, นายสมหวัง ชัยประกายวรรณ์ ผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ ผู้บริหาร บุคลากร และจิตอาสาพระราชทาน ๙๐๔ รวม มากกว่า 100 คน ร่วมกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม กำจัดลูกน้ำยุงลาย ป้องกันไข้เลือดออกในศาสนสถาน ภายใต้โครงการ : เฝ้าระวัง คัดกรอง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพที่สำคัญเพื่อเฉลิมพระเกียรติ และถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสพระชนมายุ 72 พรรษา ในปี 2567 โดยมี พระธรรมราชานุวัตร พระเดชพระคุณเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ ให้การต้อนรับ และร่วมเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ กิจกรรมในงาน ได้มีการสำรวจ และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ใส่ทรายอะเบท เก็บขยะบริเวณวัด ทำความสะอาดวัด และประชุมปรึกษาหารือเพื่อเตรียมการจัดกิจกรรมเฉลิม และถวายพระราชกุศลฯ ในวันที่ 30 มิถุนายน ศกนี้ต่อไป รวมทั้ง ได้ร่วมถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ และสามเณร จำนวน 500 รูป เป็นธรรมทาน ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม กำจัดลูกน้ำยุงลาย ป้องกันไข้เลือดออกในศาสนสถานในครั้งนี้ เป็นการน้อมนำกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในศาสนสถาน และเป็นการบูรณาการการปฏิบัติงานของจิตอาสาพระราชทานทุกภาคส่วน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสพระชนมายุ 72 พรรษา ในปี 2567


 
          ดร.นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 8 มิถุนายน 2566 พบรายงานผู้ป่วยจำนวน 19,503 ราย คิดเป็นอัตราป่วยต่อประชากรแสนคน 29.47 เสียชีวิต 17 ราย และจำนวนผู้ป่วยปี 2566 มากกว่า ปี 2565 ณ ช่วงเวลาเดียวกันถึง 3.8 เท่า กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงที่สุด ได้แก่ อายุ 5-14 ปี รองลงมา 15-24 ปี จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงที่สุดในช่วงเดือนที่ผ่านมา คือ จังหวัดตราด น่าน จันทบุรี แม่ฮ่องสอน และสตูล ตามลำดับ ซึ่งการป้องกันโรคไข้เลือดออก ทำได้โดยป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ทายากันยุงหรือนอนในมุ้ง กำจัดแหล่งวางไข่ยุงลายรอบบ้าน ทำลายภาชนะที่มีน้ำขัง หรือใช้ทรายกำจัดลูกน้ำบริเวณน้ำขัง และที่สำคัญต้องไม่สร้างแหล่งวางไข่ยุงลายเพิ่มขึ้น โดยใช้หลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ เก็บบ้านให้สะอาด ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้าน ให้มีความเป็นระเบียบ ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะ บริเวณรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งวางไข่ยุงลาย และ เก็บน้ำ โดยปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ พร้อมทั้งขัดขอบภาชนะ เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย ป้องกันไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกาได้
 
 
กรมควบคุมโรคเตือน พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น ร่วมจิตอาสา 904 กำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย HealthServ

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด