ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สธ. เผย อุจจาระร่วง จ.ภูเก็ต แนวโน้มดีขึ้น ผู้ป่วยรายใหม่ลดเหลือ 300 กว่าราย

สธ. เผย อุจจาระร่วง จ.ภูเก็ต แนวโน้มดีขึ้น ผู้ป่วยรายใหม่ลดเหลือ 300 กว่าราย HealthServ.net
สธ. เผย อุจจาระร่วง จ.ภูเก็ต แนวโน้มดีขึ้น ผู้ป่วยรายใหม่ลดเหลือ 300 กว่าราย ThumbMobile HealthServ.net

ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 เผย สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงระบาดใน จ.ภูเก็ต แนวโน้มดีขึ้น พบผู้ป่วยรายใหม่ลดลงเหลือ 376 ราย จากที่เคยสูงสุดกว่า 1,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 15-34 ปี ผลตรวจหาเชื้อ 75% พบโนโรไวรัส ขณะที่ตัวอย่างน้ำและน้ำแข็งไม่พบเชื้อไวรัสก่อโรค ยังคงเฝ้าระวังเข้มข้น ลงพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วย เพื่อค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมพร้อมติดตามสอบสวนโรค


 
          14 มิถุนายน 2566 นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์โรคอุจจาระร่วง จ.ภูเก็ต ว่า หลังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมากตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2566 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกับ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ทีมสอบสวนควบคุมโรคจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ออกปฏิบัติการควบคุมโรคในจุดต่างๆ พร้อมทั้งติดตามสอบสวนโรคหาสาเหตุ และยกระดับเป็นศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) โรคอุจจาระร่วง เพื่อติดตามสถานการณ์และวางแผนควบคุมการระบาด โดยพบผู้ป่วยในวันที่ 6 มิถุนายน 2566 จำนวน 383 ราย และเพิ่มขึ้นจนสูงสุดในวันที่ 9 มิถุนายน จำนวน 1,238 ราย จากนั้นผู้ป่วยเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 10 มิถุนายน พบผู้ป่วย 808 ราย วันที่ 11 มิถุนายน 659 ราย วันที่ 12 มิถุนายน 529 ราย ล่าสุดวันที่ 13 มิถุนายน 376 ราย
 
 
สธ. เผย อุจจาระร่วง จ.ภูเก็ต แนวโน้มดีขึ้น ผู้ป่วยรายใหม่ลดเหลือ 300 กว่าราย HealthServ
          นพ.กิตติศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสอบสวนโรคพบกลุ่มอายุ 25-34 ปี มีอัตราป่วยสูงสุด ร้อยละ 26.23 รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 19.20 กลุ่มอายุ 34-44 ปี ร้อยละ 14.12 กลุ่มอายุ 5-9 ปี ร้อยละ 10.76 และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ร้อยละ 10.44 ตามลำดับ ผู้ป่วยอายุน้อยสุดคือ 28 วัน และมากสุด 98 ปี โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง มีผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพียง ร้อยละ 13.32 จากการเก็บตัวอย่างอุจจาระผู้ป่วยส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค พบเป็นโนโรไวรัส ร้อยละ 75 ส่วนอีกร้อยละ 25 ตรวจไม่พบเชื้อ สำหรับผลการตรวจโรงน้ำแข็ง 6 แห่งของ จ.ภูเก็ต และโรงผลิตน้ำดื่ม 3 แห่งใหญ่ ที่จำหน่ายในจังหวัด พบผ่านเกณฑ์มาตรฐานส่วนผลตรวจน้ำและน้ำแข็งไม่พบเชื้อไวรัสก่อโรค
 
          นพ.กิตติศักดิ์กล่าวต่อว่า แม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย แต่ในการเฝ้าระวังควบคุมโรคยังคงดำเนินการต่อเนื่อง โดยให้โรงพยาบาลต่างๆ ใน จ.ภูเก็ต ค้นหาและเก็บตัวอย่างผู้ป่วยที่มีอาการชัดเจน พร้อมลงพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วย เช่น ร้านอาหาร คอนโดที่พักผู้ป่วย ชุมชนที่พบผู้ป่วยใหม่หลายราย เพื่อค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมและเก็บตัวอย่างผู้ป่วยส่งตรวจ รวมถึงตรวจสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลอาหาร นอกจากนี้ จะติดตามตรวจคลอรีนในแหล่งผลิตน้ำประปา และแจ้งให้โรงแรมเติมคลอรีนในน้ำใช้ รวมทั้งประสานท้องถิ่นเรื่องการเพิ่มคลอรีนในระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยสู่แหล่งสาธารณะด้วย
สธ. เผย อุจจาระร่วง จ.ภูเก็ต แนวโน้มดีขึ้น ผู้ป่วยรายใหม่ลดเหลือ 300 กว่าราย HealthServ

กรมอนามัย เร่งคุมเข้มความสะอาด หลังพบอุจจาระร่วงเฉียบพลันในหลายพื้นที่

 
        กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก โรงแรม รีสอร์ท สถานประกอบการคุมเข้มความสะอาด ตามแนวปฏิบัติด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม หลังพบการแพร่ระบาดของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน แนะประชาชนกินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ล้างมือ 
 
          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิงเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศแปรปรวนในประเทศไทยทั้งฝนตก อากาศเย็น ส่งผลให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเชื้อโนโรไวรัสและโรต้าไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคอุจจาระเฉียบพลันหรืออุจจาระร่วงรุนแรง โดยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566ได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต พบนักเรียน จำนวนกว่า 80 คน ท้องร่วงเฉียบพลันในโรงเรียน รวมทั้งรายงานจากศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 มีคณะศึกษาดูงานที่เข้าพักในรีสอร์ทจังหวัดจันทบุรี จำนวน 20 คน มีอาการอาหารปวดท้อง ถ่ายเหลว และอาเจียน
 
           นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นการระบาดของโรคอุจจาระเฉียบพลัน ที่เกิดขึ้นเป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียน และที่พัก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มอบหมายทีมภารกิจปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อมดำเนินงานร่วมกับพื้นที่ สื่อสาร สร้างการรับรู้ และเน้นย้ำให้โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก โรมแรม รีสอร์ท สถานประกอบการร้านจำหน่ายอาหาร ตลาด และประชาชนปฏิบัติตามแนวปฏิบัติด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในทุกพื้นที่และทุกกลุ่มวัย คือ 1) สำรวจ ประเมินสุขลักษณะของสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรค สถานประกอบการ กระบวนการผลิตของสถานประกอบการ กิจการ และแหล่งผลิตอาหารและน้ำดื่มน้ำใช้ เช่น ร้านจำหน่ายอาหาร ตลาดสด ระบบประปาชุมชน โรงงานผลิตน้ำแข็ง น้ำดื่ม เป็นต้น เพื่อเป็นการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโรค 2) ให้คำแนะนำในการดูแล ควบคุม กำกับการประกอบการ การจัดการกระบวนการผลิต ของสถานประกอบการ กิจการ แหล่งผลิตอาการและน้ำดื่ม น้ำใช้ให้มีความสะอาด มีการฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อโรค การดูแลส้วมให้สะอาด รวมทั้งดูแลสุขอนามัยที่ดีของพนักงาน เจ้าหน้าที่ ผู้ปรุงประกอบอาหาร หรือผู้ที่มีการสัมผัสอาหารและน้ำดื่ม และ3) สื่อสาร สร้างการรับรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ผู้ดูแลสถานที่ผลิต และจำหน่ายอาหาร ครู นักเรียน ให้มีการสังเกต ประเมินความเสี่ยงในพื้นที่และจุดที่มีความเสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อโรค รวมทั้ง การดูแลสุขลักษณะของอาคาร สถานที่ต่างๆ ให้มีความสะอาด การฆ่าเชื้อโรค และมีการจัดการขยะอย่างถูกต้อง
 
            “ทั้งนี้ กลุ่มเด็กเล็กถือเป็นกลุ่มเสี่ยง กรมอนามัยจึงขอให้ครูและผู้ดูแลเด็กเล็กให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยจัดให้มีจุดล้างมือพร้อมสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ พร้อมให้ความรู้แก่นักเรียนในการดูแลสุขภาพและส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยส่วนบุคคล และมีอาการอุจจาระร่วงเฉียบพลันหรือเสี่ยงเกิดภาวะร่างกายสูญเสียเกลือแร่ อ่อนแรง เบื้องต้นให้ดื่มเกลือแร่ Oral Rehydration Salt (ORS) และหากมีอาการรุนแรงให้รีบไปพบแพทย์ทันที สำหรับผู้ประกอบปรุงอาหารควรมีสุขอนามัยที่ดี ดูแลสุขลักษณะอาคารสถานที่ สถานที่ผลิตน้ำดื่ม น้ำแข็งได้มาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ และประชาชนควรมีพฤติกรรมอนามัยส่วนบุคคลที่ดี โดยกินอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลางของตนเอง ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำห้องส้วม และเมื่อสัมผัสจุดสัมผัสร่วม เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ และรับประทานอาหารในร้านจำหน่ายอาหารที่สะอาด เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว
สธ. เผย อุจจาระร่วง จ.ภูเก็ต แนวโน้มดีขึ้น ผู้ป่วยรายใหม่ลดเหลือ 300 กว่าราย HealthServ
สธ. เผย อุจจาระร่วง จ.ภูเก็ต แนวโน้มดีขึ้น ผู้ป่วยรายใหม่ลดเหลือ 300 กว่าราย HealthServ
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด