ช้อปดีมีคืน ปี 2566 กลับมาอีกครั้ง เป็นของขวัญจากรัฐบาลและกระทรวงการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจาก ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 เห็นชอบมาตรการโครงการ "ช้อปดีมีคืน 2566" ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และของขวัญปีใหม่เพื่อประชาชน จากกระทรวงการคลัง
โครงการช้อปดีมีคืน 2566 ลดหย่อนได้สูงสุด 40,000 บาท
โครงการช้อปดีมีคืน 2566 กำหนดให้สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการ "ซื้อสินค้าหรือบริการ" มาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ สูงสุด 40,000 บาท โดยมีรายละเอียดที่ตามประเภทใบกำกับภาษี (กระดาษ/อิเลคทรอนิคส์ ดู
รายละเอียดเพิ่มเติมด้านล่าง)
*โดยช้อปดีมีคืนในครั้งนี้ ได้เพิ่มยอดค่าลดหย่อนภาษีมากขึ้น จากครั้งก่อน (2565) ที่ได้เพียง 30,000 บาท
ระยะเวลาใช้สิทธิ
โครงการช้อปดีมีคืน 2566 มีกรอบเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2566 รวมเวลา 46 วัน
ช่วงเวลาใช้ยื่นภาษีในปี 2567
ค่าลดหย่อนที่ได้จากการใช้สิทธิ "ช้อปดีมีคืน 2566" จะนำไปใช้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2567 (ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2567)
รายละเอียดและเงื่อนไข มาตรการช้อปดีมีคืน 2566
ที่ควรต้องศึกษาไว้ ดังนี้
วงเงินที่ลดหย่อนภาษีได้
ช้อปดีมีคืน 2566 ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 40,000 บาท
โดยในยอด 40,000 บาท นี้ จำแนกสิทธิการลดหย่อนตามยอดเงิน 30,000/10,000 ตามเงื่อนไขประเภทของใบกำกับภาษี 2 แบบ คือ ใบกำกับภาษีแบบกระดาษ และ ใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ดังนี้
- ลดหย่อนได้ในวงเงิน 30,000 บาทแรก ได้สิทธิลด ไม่ว่าจะเป็น "ใบกำกับภาษีแบบกระดาษ" หรือ "ใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์" ก็ตาม
- ลดหย่อนได้อีก ในวงเงิน 10,000 บาท แต่จะได้สิทธิเฉพาะกับ "ใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์" เท่านั้น
*ประเทศไทย มีผู้ประกอบการที่สามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ จำนวน 1,737 ราย (
ข้อมูลจากกรมสรรพากร)
ตัวอย่างจากเงื่อนไขข้างต้น ดังนี้ [
iTax]
1.1 ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวน 30,000 บาทแรก ที่มีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์
1.2 ค่าซื้อสินค้าหรือบริการ อีกจำนวน 10,000 บาท ที่มีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
ตัวอย่างที่ 1
ซื้อคอมพิวเตอร์ราคา 40,000 บาท โดยได้รับ "ใบกำกับภาษีแบบกระดาษ" จะใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดเพียง 30,000 บาท
สาเหตุเนื่องจากกรณีนี้
- จะได้สิทธิลดหย่อนจากวงเงิน 30,000 แรกที่มีหลักฐานเป็น "ใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์" เท่านั้น
- แต่จะไม่ได้สิทธิอีก 10,000 บาท เนื่องจาก "ใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์"
ตัวอย่างที่ 2
ซื้อคอมพิวเตอร์ราคา 40,000 บาท โดยได้รับ "ใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์" จะใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 40,000 บาท
สาเหตุเนื่องจากกรณีนี้
- จะได้สิทธิลดหย่อนจากทั้งวงเงิน 30,000 บาทแรก ที่มีหลักฐานเป็น "ใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์"
- และได้สิทธิลดหย่อนเพิ่มอีก 10,000 บาท จาก "ใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์"
สินค้าและบริการที่ร่วมโครงการช้อปดีมีคืน 2566
- สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- สินค้าท้องถิ่น (OTOP)
- หนังสือ (รวมถึง e-book)
หลักฐานที่ต้องใช้
- ซื้อสินค้าและบริการทั่วไป ต้องใช้ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป (ทั้งแบบกระดาษ และแบบ e-Tax Invoice) ที่ระบุข้อมูลผู้ขาย และข้อมูลของคุณ รวมถึงวันที่ รายการและจำนวนเงินด้วย
- ซื้อหนังสือ (รวมถึง e-book) ต้องใช้ใบเสร็จรับเงิน (ทั้งแบบกระดาษ และแบบ e-Receipt) ที่ระบุข้อมูลผู้ขาย และข้อมูลของคุณ รวมถึงวันที่ รายการและจำนวนเงินด้วย
- ซื้อสินค้า OTOP ต้องใช้ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป/ใบเสร็จรับเงิน (ทั้งแบบกระดาษ และแบบ e-Tax Invoice & e-Receipt) ที่ระบุรายการสินค้า OTOP, ข้อมูลผู้ขาย และข้อมูลของคุณ รวมถึงวันที่ รายการและจำนวนเงินด้วย
ทั้งนี้ การระบุชื่อที่อยู่ของผู้ซื้อในใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ให้ยึดข้อมูลล่าสุดตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ (ทะเบียนบ้าน) แต่ถึงแม้จะระบุชื่อที่อยู่ไม่ถูกต้องก็ยังสามารถใช้หักลดหย่อนได้อยู่ดี หากใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีนั้นมีข้อความอื่นๆ ครบถ้วนถูกต้องแล้ว [
iTax]
สินค้าและบริการที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ลดหย่อนภาษีได้
ค่าซื้อสินค้าและบริการต่อไปนี้ไม่อยู่ในเกณฑ์ลดหย่อนภาษีช้อปดีมีคืน 2566 ได้
- ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์
- ค่าซื้อยาสูบ
- ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
- ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์
- ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาวซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 66 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 ก.พ. 66 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 66 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 66
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย เช่น เบี้ยประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ประกันรถยนต์
นอกจากนี้ สินค้าและบริการต่อไปนี้ก็ไม่เข้าเกณฑ์ใช้สิทธิลดหย่อนช้อปดีมีคืนได้
- ทองคำแท่ง
- ค่ารักษาพยาบาล
- ค่าทำศัลยกรรม
- ผักผลไม้สด
- เนื้อสัตว์สด
ใบเสร็จรับเงินที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ (กรณีซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่ได้จด VAT)
กรณีซื้อสินค้าจาก ร้านค้า/ผู้ขายที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีช้อปดีมีคืน ใบเสร็จรับเงินที่ออกโดยร้านค้า/ผู้ขายนั้น จะต้องมีข้อความครบถ้วนตามนี้ [
iTax]
- เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย
- ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ขาย
- เลขลำดับของเล่มและใบเสร็จรับเงิน
- วันเดือนปีที่ออกใบเสร็จรับเงิน
- ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ
- ชนิด ชื่อ จำนวน และราคาสินค้าที่ซื้อ
- จำนวนเงิน
ข้อสังเกตเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่ใช้สิทธิลดหย่อน "ช้อปดีมีคืน" ได้ [
iTax]
- หากร้านค้านั้นไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT) สินค้าและบริการที่ร้านนั้นขายจะไม่สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ยกเว้น เป็นการขายหนังสือ, e-book หรือเป็นสินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนเท่านั้น
- หากร้านค้านั้นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว แม้จะขายในรูปแบบบริการอย่างเดียว หากบริการนั้นเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น สปา คาราโอเกะ อาบอบนวด ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
- ค่าธรรมเนียมเทรดหุ้น และค่าธรรมเนียมซื้อกองทุนรวม (Front-end fee) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ แต่ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนรวม (Management fee) ลดหย่อนภาษีไม่ได้
- ค่าซื้อทองรูปพรรณ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เฉพาะส่วนที่เป็นค่ากำเหน็จหรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ตัวทองคำเองไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้
- ยารักษาโรค อาหารเสริม ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ค่าบริการทางแพทย์ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศัลยกรรม โดยปกติจะไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
- ค่าที่พักในโรงแรมไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ แต่ค่าอาหารและเครื่องดื่มในโรงแรม (ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้
- ค่าซื้อบัตรเพื่อแลกรับบริการ และนำบัตรไปใช้บริการในช่วงวันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 2566 หรือ ค่าบริการเช่ารถยนต์ ค่าซ่อมรถ/เปลี่ยนยางรถยนต์ที่รับบริการและแล้วเสร็จในช่วงวันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 2566 สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ แต่ถ้ารับบริการก่อนหรือหลังช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่สามารถลดหย่อนได้
- อุปกรณ์ไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน เช่น iPhone, iPad, MacBook ไม่ว่าจะซื้อราคาเต็ม หรือซื้อจาก Outlet ก็สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้
- สินค้าที่ซื้อจากร้าน Duty Free หากเป็นสินค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้
- รายการที่ซื้อจะสะสมหลายใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีหลายใบ หรืออยู่ในใบเดียวกันก็ได้ แต่ถ้ายอดซื้อเกิน 30,000 บาท (รวม VAT แล้ว) จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุด 30,000 บาท
- การซื้อของออนไลน์ เช่น ซื้อผ่าน Shopee, Lazada หรือร้านค้าออนไลน์ต่างๆ จะสามารถลดหย่อนภาษีได้ ถ้าซื้อจากร้านที่ออกใบกำกับภาษีได้ โปรดตรวจสอบกับผู้ขายให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เสียสิทธิ
- ในกรณีที่รายการสินค้ามีทั้งเสีย VAT และไม่เสีย VAT อยู่ในใบกำกับภาษีเดียวกัน คุณจะได้สิทธิลดหย่อนเฉพาะสินค้าที่เสีย VAT เท่านั้น เช่น ถ้าซื้อทั้งนมช็อกโกแลต (เสีย VAT) และนมจืด (ไม่เสีย VAT) จะได้สิทธิลดหย่อนเฉพาะนมช็อกโกแลต (เสีย VAT) เท่านั้น
- การซื้อสินค้าและบริการจะจ่ายด้วยเงินสด พร้อมเพย์ บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตก็ได้ขอให้ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีลงวันที่ภายใน 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 และมีรายละเอียดครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
- ค่าเติมน้ำมันสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน แต่ต้องขอใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีลงวันที่ภายใน 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 และมีรายละเอียดครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด