26 กันยายน 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา เผยแพร่พยากรณ์อากาศ คาดหมายลักษณะอากาศใน 7 วันข้างหน้า ในช่วง 25 - 29 ก.ย. 2566 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทย ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และลมกระโชกแรงบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเสี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ภาคกลาง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 26 - 29 ก.ย. 66
ช่วง 27-29 ก.ย. 66 มีฝนฟ้าคะนอง 70-80% หลายพื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพ ปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคเหนือ ส่วนภาคอีสาน ภาคตะวันออกและภาคใต้ ตกหนักบางพื้นที่ระดับ 40-60%
กรมอนามัยเฝ้าระวัง เตรียมทีมฉุกเฉินรับน้ำท่วม
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาว ทำให้มีฝนตกหนัก ลมกรรโชกแรก และบางพื้นที่มีดินโคลนถล่ม ส่งผลให้จังหวัดอุดรธานี อุบลราชธานี และยโสธรประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งมีการตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่แล้ว เบื้องต้น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้มอบหมายกองอนามัยฉุกเฉินประเมินสถานการณ์และความเสี่ยง ร่วมกับ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ และศูนย์อนามัยที่ในพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเข้าช่วยเหลือและสนับสนุนภารกิจการจัดการด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เช่น วัสดุ อุปกรณ์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมรองรับสถานการณ์น้ำท่วม ชุดสาธิตการจัดการสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือชุดเราสะอาด (V-Clean) ชุดตรวจประเมินและจัดการการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำ เป็นต้น
นายแพทย์กฤษฎา ศิริชัยสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี กล่าวว่า ทีมปฏิบัติการฯ ของหน่วยงาน ได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือแล้ว โดยในศูนย์อพยพดำเนินการภายใต้หลัก 3S คือ 1) Survey สำรวจเตรียมการจัดกระบวนการเฝ้าระวัง 2) Surveillance กำหนดผังงานและจัดการระบบที่ดี 3) System ส่งทีมภารกิจปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของศูนย์อนามัย จะช่วยสนับสนุนการสำรวจ ประเมินด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและจัดพื้นที่พักอาศัยผู้ประสบภัยที่ไม่แออัด มีการระบายอากาศที่ดี การจัดการห้องน้ำ ห้องส้วมทั้งส้วมที่มีในศูนย์อพยพที่มีโครงสร้าง หรือส้วมเคลื่อนที่ที่หน่วยงานจัดเตรียมไว้กรณีไม่มีโครงสร้างอาคารรองรับ และต้องมีความสะอาดเพียงพอกับผู้เข้าอาศัย มีความปลอดภัยได้มาตรฐานมีการจัดบริการถังขยะแบ่งแยกประเภทเพียงพอ มีระบบการรวบรวม จัดเก็บ และขนส่งไปกำจัดที่ดี สำหรับอาหารถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ประชาชนได้กินอาหารที่สะอาด มีการปรุงประกอบอาหาร และการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์แมลงและการระบาดของโรคต่างๆ
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับประชาชนเพื่อสุขอนามัยที่ดีและความปลอดภัย ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วม ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งดูแลสุขภาพตนเองและสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุเป็นกลุ่มวัยที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำหรืออยู่ใกล้น้ำ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุจมน้ำได้และไม่ปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง หากมีน้ำท่วมในพื้นที่ให้จัดเตรียมสิ่งของขึ้นที่สูง เตรียมยาและอาหารแห้งสิ่งของจำเป็น เตรียมกระสอบทรายสำหรับอุดปิดทางน้ำไหล เรียนรู้เส้นทางอพยพในพื้นที่ ห้ามขับรถเข้าไปในพื้นที่น้ำท่วมหรือน้ำหลาก หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขัง และดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างปลอดภัย