ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ปปส.-ตร. เห็นพ้องครองยาบ้า 5 เม็ด

ปปส.-ตร. เห็นพ้องครองยาบ้า 5 เม็ด HealthServ.net
ปปส.-ตร. เห็นพ้องครองยาบ้า 5 เม็ด ThumbMobile HealthServ.net

ปปส.และตำรวจ มีความเห็นพ้องกันในกรณีการจะออกกฏกระทรวงกำหนดการครอบครองยาบ้า จากที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ.กล่าวไว้ว่าอาจจะปรับให้เหลือ 10 เม็ด ถือให้อยู่ในสถานะผู้เสพสารเสพติดไม่ใช่ผู้ค้า ซึ่งทั้งสองหน่วยงานหลักด้านปราบปรามยาเสพติดเห็นพ้องกันว่าควรอยู่ที่ 5 เม็ดเท่านั้นสำหรับผู้เสพ

ปปส.ชี้ 5 เม็ดเหมาะสม


1 พ.ย. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมประกาศกฎกระทรวงให้จัดเกณฑ์ผู้ครอบครองเมทแอมเฟตามีน(ยาบ้า) 10 หน่วย หรือ 10 เม็ดให้อยู่ในสถานะผู้เสพสารเสพติดไม่ใช่ผู้ค้า
 
     พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า สำหรับประมวลกฎหมายยาเสพติด ปี 2564 เป็นกฎหมายที่ใช้การสาธารณสุขนำการปราบปราม ซึ่งประมวลกฎหมายฉบับนี้มองผู้เสพเป็นเหยื่อ เป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ากระบวนการคัดกรองเข้าสู่การฟื้นฟูไม่ได้มุ่งเน้นที่การดำเนินคดีเพียงอย่างเดียว ผู้เสพต้องได้รับการรักษาให้มีงานทำมีชีวิตที่ดีขึ้น
 
     ส่วนประเด็น ที่สธ. เสนอเกณฑ์การครอบครองยาบ้า 10 เม็ดนั้น ในที่ประชุมมีการเสนอเอกสารทางวิชาการของคณะแพทย์ที่ระบุว่าการครอบครองเพียง 10 เม็ดให้จัดเป็นผู้เสพ เนื่องจากตามปกติแล้วผู้เสพยาบ้าจะใช้ยาอยู่ที่ 1-3 เม็ด ซึ่งปริมาณที่ต่ำกว่า 5 เม็ดผลที่เกิดขึ้นคือจะทำให้ผู้เสพมีอารมณ์ที่ดี สดชื่น มีแรงในการทำงานหนัก แต่ถ้าหากเสพเกินกว่า 5 เม็ดไปจนถึง 10 เม็ดผู้เสพจะมีอาการกระสับกระส่ายไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ซึ่งกรณีที่มีการเสพมากกว่า 10 เม็ดจะมีผลถึงขั้นเสียชีวิต ฉะนั้นเมื่ออ้างอิงจากเอกสารดังกล่าวแล้ว จึงมีความเห็นว่าผู้เสพน่าจะมีการใช้งานอยู่ที่ 10 เม็ดไม่เกินนี้
 
     ทั้งนี้ในมุมมองของผู้บังคับใช้กฎหมายซึ่งตนเองที่เคยเป็นตำรวจมาก่อนมองว่าการจัดเกณฑ์ครอบครองเพื่อเสพ 10 เม็ด โทษที่ตามมาคือจะทำให้เกิดผู้ค้ารายย่อยมากขึ้น เพราะในการค้าแต่ละครั้งผู้ค้ารายย่อย จะไม่เกรงกลัวต่อการพกพายาบ้าเพราะสามารถพกได้ถึง 10 เม็ด ก็ไม่ถือว่าได้รับโทษค้า
 
     พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวต่อว่า ตนในฐานะเลขาธิการฯป.ป.ส. มีหน้าที่ที่จะต้องบูรณาการการบำบัดฟื้นฟู คู่กับการบังคับใช้กฎหมายส่วนตัวได้มีข้อเสนอว่าเกณฑ์การครอบครองควรจะอยู่ที่ 5 เม็ดซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานยึดหลักนี้มาตลอด เพราะมองว่าการครอบครองเกินกว่า 5 เม็ดก็จะถูกลงโทษเป็นผู้ค้า ฉะนั้นผู้ค้ารายย่อยเองก็จะมองว่าไม่คุ้มกับการที่พกพา 5 เม็ดแล้วถูกจับโทษหนัก ที่ผ่านมาจากรายงานการจับกุมผู้ใช้สารเสพติด 100 คนจะแบ่งเป็นผู้ค้าจำนวน 12.5 คน
 
     ดังนั้นหากมีการปรับเกณฑ์การถือครองได้มากขึ้นจึงเป็นความเสี่ยงต่อการจะเพิ่มจำนวนผู้ค้า รายย่อยทั้งนี้ตนขอยืนยันว่าส่วนตัวได้พิจารณาเกณฑ์จำนวนยาบ้า 5 เม็ดจากหลายองค์ประกอบทั้งฝั่งของวิชาการการแพทย์ผู้บังคับใช้กฎหมายและอนาคตที่จะต้องบูรณาการทุกฝ่าย
 
 

quick win บำบัดยาเสพติด

     พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวานนี้ ที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเร่งด่วน หรือ quick win ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบรามยาเสพติดเร่งดำเนินการนำผู้ใช้ยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัด


     โดยสำหรับการบำบัดนั้น จากข้อมูลที่พบว่าปัจจุบันมีผู้ใช้ยาเสพติดทั่วประเทศประมาณ 530,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสพที่มีอาการทางจิตเวช และอาจใช้ก่อเหตุความรุนแรง 32,623 คน แบ่งเป็น กลุ่มเฝ้าระวัง สูงสุด 1,963 คน


 
กลุ่มเฝ้าระวังสูง 5,024 คน และกลุ่มเฝ้าระวังทั่วไป 25,636 คน
 
     โดยจะนำคนกลุ่มนี้เข้าสู่กระบวนการบำบัดก่อน เพื่อลดเงื่อนไขความเสี่ยงที่อาจเกิดเหตุรุนแรงกับประชาชน โดยให้ทุกจังหวัดกำหนดวิธีการนำบุคคลเข้าสู่การระบบบำบัดรักษาของกระทรวงสาธารณสุข และสร้างความพร้อมให้กับชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถร่วมกับภาครัฐ ดูแลและเฝ้าระวังเหตุต่างๆได้ เช่นเดียวกับ ‘หัวโทนโมเดล’ ที่ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ได้อย่างเห็นผล โดยนโยบายดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ จะดำเนินนโนบายนโยบาย’ 1 โรงพัก 1 ตำบล’ ให้ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดระดับชุมชนด้วย
 
     นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ประกาศยังได้กำหนดพื้นที่เร่งด่วน ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 5(10) เพื่อควบคุมการลักลอบนำเข้ายาบ้าเข้าสู่ประเทศไทย ประกอบด้วย พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 5 อำเภอ จังหวัดเชียงราย 6 อำเภอ และจังหวัดนครพนม 4 อำเภอ โดยหน่วยงานความมั่นคงทั้งทางทหารตำรวจ จะร่วมกันบูรณาการ เพื่อให้การดูแลป้องกันลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้าประเทศ และจะได้ประสานกับหน่วยงานความมั่นคงในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ช่วยประสานข้อมูลและจับตาความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ด้วย

รองผบ.ตร. เห็นควรกำหนด 5 เม็ดเท่านั้น


1 พฤศจิกายน 2566 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร). พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดเพื่อให้ความเห็นชอบ และเพื่อเสนอต่อที่ประชุมครม.ต่อไป ยังไม่เป็นที่แน่ชัดเรื่องจำนวน ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนงานด้านการปราบปรามยาเสพติดให้เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เรื่องการลดปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดในชุมชน และตัดวงจรผู้ค้ารายย่อยให้หมดไป ก็เห็นควรกำหนดปริมาณยาเสพติดไว้ที่ 5 หน่วยการใช้ หรือ 5 เม็ดเท่านั้น
 
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวอีกว่า การกำหนดปริมาณยาเสพติดที่ 5 หน่วยการใช้ หรือ 5 เม็ด ได้ผ่านการหารือจากหน่วยที่เกี่ยวข้องในเวทีการประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศอ.ปส.ตร.) แล้ว โดยขณะนั้นมี พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ อดีต ผบ.ตร.เป็นประธาน ในการหารือให้เหตุผลว่าเป็นปริมาณยาเสพติดที่ผู้ค้ารายย่อยไม่คุ้มค่าความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี หากกำหนดปริมาณยาเสพติดที่ 10 หน่วยการใช้ หรือ 10 เม็ด จะเป็นปริมาณที่ผู้ค้ารายย่อยนิยมจำหน่ายในชุมชน หากถูกจับกุมก็สามารถเลี่ยงการถูกดำเนินคดี โดยสมัครใจเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้ และจะทำให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดในชุมชน และเกิดผู้ค้ารายย่อยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งอนาคตผู้ค้ากลุ่มนี้จะพัฒนาไปเป็นผู้ค้ารายใหญ่ต่อไป
 
 
 
อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตมีการเพิ่มเติมเกณฑ์การกำหนดปริมาณที่ใช้ครอบครองเพื่อเสพชัดเจนแล้ว ผลดีที่จะตามมาคือจะช่วยให้การดำเนินการกับผู้ค้ารายย่อย และการคัดแยกผู้เสพเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษามีความชัดเจนขึ้น หากคัดแยกผู้ค้ารายย่อยไปสู่ระบบการดำเนินคดีได้มาก และลดความต้องการซื้อจากผู้เสพในชุมชน จะช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดได้
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องปรับแนวทางเพื่อรับเกณฑ์ใหม่อย่างไรบ้าง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า กรณีข้อหาครอบครองเพื่อเสพถือเป็นข้อหาใหม่ ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้มาก่อน หากมีกฎกระทรวงประกาศใช้จริง ก็เห็นควรให้ ตร. แจ้งให้ทุกหน่วยทราบเพื่อถือปฏิบัติตาม ซึ่งที่ผ่านมาตลอด 2 ปี การที่ไม่มีกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดที่มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพอย่างชัดเจน ถือเป็นปัญหาอุปสรรคในการจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายยาเสพติด โดยผู้ที่ถูกจับกุมจะอาศัยช่องว่างนี้แอบอ้างว่าเป็นผู้เสพ ทำให้เจ้าหน้าที่เองต้องใช้ดุลยพินิจในการแจ้งข้อหาหรือดำเนินคดี หรือต้องตรวจสอบพฤติการณ์คดีรายย่อยเพียงเพื่อทราบว่าเป็นผู้ค้าหรือผู้เสพ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ

ไทยรัฐ  1 พ.ย. 66

นายกฯ เศรษฐา นั่งหัวโต๊ะ บัญชางานยาเสพติด

นายกฯ เศรษฐา นั่งหัวโต๊ะ บัญชางานยาเสพติด 
วางเป้าลดความรุนแรงปัญหายาเสพติดเพื่อประชาชน 
พร้อมถกแผนเร่งด่วน 1 ปี ลดผู้ป่วยจิตเวช
 
วันที่ 31 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (บอร์ด ป.ป.ส.) ครั้งที่ 3/2566 ณ ห้องประชุมตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายเชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รักษาราชการแทน เลขาธิการ ป.ป.ส. นายธนากร คัยนันท์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร รองเลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

 
การประชุมในครั้งนี้ นับเป็นการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส. เป็นครั้งแรกของรัฐบาลชุดนี้ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้วยตนเอง ต่างจากในอดีตที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการมอบหมายเป็นประธาน โดยมีวาระประชุมที่รัฐบาลให้ความสำคัญและต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ การลดผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด และผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด ปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ในระยะเวลา 1 ปี 

 
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมว่า คณะกรรมการ ป.ป.ส. ถือเป็นกลไกสำคัญทางนโยบายด้านยาเสพติดของประเทศ ตนจึงต้องการเห็นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการปราบปราม การป้องกัน การบำบัดรักษา ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด โดยตนจะนั่งหัวโต๊ะในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส. ผู้บัญชาการงานด้านยาเสพติดด้วยตนเอง เพื่อลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด

 
นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าว มอบแนวทางให้การทำงานบรรลุผลสำเร็จ อาทิ การยึดเป้าหมายร่วมกัน ไม่แยกกันทำ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือลดความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้, การแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้านจิตเวช-ยาเสพติด ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน, การสร้างความเข้าใจ เนื่องจากแนวทางการทำงานที่ใหม่ จึงต้องทำความเข้าใจทั้งส่วนกลางและพื้นที่ เพื่อความสำเร็จในการปฏิบัติ, การขยายการมีส่วนร่วมของชุมชน, การใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดให้มากขึ้น รวมถึงให้มีการติดตาม และสรุปองค์ความรู้ใหม่ให้เป็น best practice เพื่อสร้างนวัตกรรมจากปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดนี้
 
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึง การยกระดับการใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด เพื่อลดความรุนแรงของปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะมีการบังคับใช้แล้ว แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ปรับแนวคิดการแก้ไขปัญหายาเสพติด ยึดผู้เสพเป็นเป็นผู้ป่วยต้องช่วยเหลือ สร้างอาชีพ ผู้ค้าต้องถูกลงโทษและยึดทรัพย์ ซึ่งหน่วยงานและผู้บังคับใช้กฎหมายต้องเร่งปรับตัว ทำความเข้าใจ เพื่อให้การใช้กฎหมายสอดคล้องกัน และนำไปสู่ประโยชน์ได้เต็มที่
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส. ได้เสนอที่ประชุมให้กำหนดพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนโดยใช้มาตรา 5 (10) ของประมวลกฎหมายยาเสพติด ในการกำหนดพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการปราบปรามยาเสพติดตามแนวชายแดน เพื่อดำเนินการควบคุมเป็นพิเศษ เช่น ในพื้นที่ที่มีกลุ่มผู้ลักลอบมักใช้ลำเลียงยาเสพติดผ่านอย่างในจังหวัดพื้นที่ชายแดนภาคเหนือและพื้นที่ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการดังกล่าว
 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นนโยบายที่สำคัญยิ่งของรัฐบาล ซึ่งผมได้ประกาศเป็นนโยบายที่จะลดปัญหายาเสพติดให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ และท้าทายอย่างมาก หากทำได้สำเร็จผลมากเท่าใดจะลดความเดือดร้อนของประชาชนได้เท่านั้น 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด