สปสช.ส่งกลอนเพราะๆ ที่บ่งบอกถึงภารกิจที่รออยู่เบื้องหน้า ดังนี้
สวัสดีปีใหม่ 2567
30 บาทอัปเกรด บริการ
ประชาชนเข้าถึงสถานพยาบาล ถ้วนทั่ว
ใช้บัตรประชาชนใบเดียว แสนสะดวก
เจ็บป่วยมะเร็งได้รักษา ครบวงจร
สถานชีวาภิบาลอุ่นใจ ระยะท้าย
เทเล กายภาพ รับยา ตรวจแลบ ใกล้บ้าน
จิตเบิกบานสุขภาพคนไทย ได้สร้างเสริม
เพิ่มเติมรักษาทั้งกายใจ ไม่ทอด ทิ้งกัน
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
สู่ปีที่ 22
สปสช. ย้ำหมุดหมายเข้าสู่ปีที่ 22 ของระบบบัตรทอง เร่งเดินหน้าเพิ่มความสะดวกผู้ใช้สิทธิบัตรทองทั้งด้านสิทธิประโยชน์และด้านการเข้าถึงบริการ 7 ม.ค. 2567 นำร่อง 4 จังหวัดใช้บัตรประชาชนไปรักษาที่ไหนก็ได้ พร้อมดึงคลินิกเอกชนเข้าร่วมดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองให้มากขึ้น
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงย่างก้าวของ สปสช. ในปีที่ 22 ไว้ว่า ตลอด 21 ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ความสำเร็จส่วนหนึ่งคือการทำให้ประชาชนมีสิทธิในการรับบริการสุขภาพ ซึ่งถือว่าน่าพอใจในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ดีก็ยังมีความท้าทายในเรื่องความสะดวกในการเข้ารับบริการ เพราะแม้มีสิทธิแล้ว แต่ถ้าประชาชนไม่สามารถเข้ารับบริการได้สะดวกก็ไม่มีประโยชน์อะไร
ดังนั้น สิ่งที่ สปสช. จะดำเนินการต่อ คือเรื่องการยกระดับเพื่อให้ประชาชนเข้ารับบริการได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น
นิยามและแนวทางสร้างความสะดวกให้ประชาชนรับบริการ
นพ.จเด็จ ขยายความว่า คำว่าความสะดวกนี้ แบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ
1.สะดวกจากสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ โดย สปสช. ได้สรรหาสิทธิประโยชน์หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกมากขึ้น เช่น การเก็บสิ่งส่งตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง หรือตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วยตัวเอง เป็นต้น สิทธิประโยชน์เหล่านี้ จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวกโดยไม่ต้องไปที่โรงพยาบาล
2.สะดวกในการเข้ารับบริการ ที่ผ่านมาเวลาเจ็บป่วยต้องไปโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เพิ่มบริการได้มากขึ้น เช่น เจ็บป่วยเล็กน้อยไปร้านยา หรือคลินิกพยาบาล หรือ รับบริการผ่านระบบเทเลเมดิซีน และถ้าจำเป็นต้องเจาะเลือดก็มีบริการไปเจาะเลือดให้ที่บ้าน มีบริการทำกายภาพบำบัดให้ที่บ้าน เป็นต้น ถือเป็นการเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนมากขึ้น
“เหล่านี้ คือ 2 ประเด็นที่ สปสช. ขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการแก่ประชาชน และส่วนหนึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วและจะขยายให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราผูกผู้มีสิทธิบัตรทองไว้กับหน่วยบริการใกล้บ้าน แต่ก็จะมีบางส่วนประมาณ 20% ของผู้มีสิทธิทั้งหมดอาจต้องการไปรักษาที่อื่น หรือบางครั้งต้องเดินทางไปต่างพื้นที่แล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการ เราก็อำนวยความสะดวกให้ท่าน โดยเริ่มจากการยกระดับบัตรทองใน 4 จังหวัดนำร่อง คือ จ.แพร่ จ.เพชรบุรี จ.ร้อยเอ็ด และ จ.นราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2567 ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวไปรับบริการได้ทุกที่ในเครือข่ายหน่วยบริการของ สปสช.” นพ.จเด็จ กล่าว
การเชื่อมโยงข้อมูลคือปัจจัยสำคัญ
นพ.จเด็จ กล่าวว่า การดำเนินการเช่นนี้ได้ ปัจจัยสำคัญคือข้อมูลบริการจะต้องเชื่อมต่อกัน ให้หน่วยบริการสามารถดึงประวัติการรักษาผู้ป่วยโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ซึ่งต้องขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการเชื่อมต่อข้อมูลบริการของโรงพยาบาลรัฐไว้บนระบบคลาวด์แล้ว
ส่วน สปสช. จะเสริมในส่วนการพัฒนาระบบการจ่ายชดเชยค่าบริการให้เร็วขึ้นและลดภาระหน่วยบริการให้มากที่สุด รวมทั้งการดึงหน่วยบริการในสังกัดอื่น และภาคเอกชน ให้เข้ามาร่วมดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองมากขึ้น เช่น โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม ร้านยา คลินิกพยาบาล คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกแพทย์แผนไทย โดย สปสช. จะสนับสนุนตั้งแต่ระบบการสมัครเข้าเป็นเครือข่ายหน่วยบริการของ สปสช. แบบ One Stop Service ช่วยลดภาระเอกสารและรับรองผลอย่างรวดเร็ว สนับสนุนโปรแกรมการเชื่อมข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายค่าบริการ และระบบการจ่ายเงินที่รวดเร็วใน 3 วัน เพื่อให้หน่วยบริการมีเงินสดหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
“ปัจจุบันโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในการเชื่อมข้อมูลแล้ว แต่ในส่วนของหน่วยบริการอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาครัฐใน 4 จังหวัด ยังคงทยอยสมัครเข้าร่วมให้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาพรวมของหน่วยบริการแต่ละประเภทมีจำนวนการสมัครเข้าร่วมแล้ว อาทิ คลินกเวชกรรม 479 แห่ง ร้านยา 461 แห่ง คลินิกการพยาบาล 331 แห่ง คลินิกทันตกรรม 131 แห่ง คลินิกแพทย์แผนไทย 32 แห่ง คลินิกเทคนิคการแพทย์ 25 แห่ง และคลินิกกายภาพบำบัด 15 แห่ง เพื่อร่วมนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากสิทธิบัตรทองในปี 2567
ร้านยาดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ยังคงเดินหน้าต่อ เร่งสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น
สปสช. ได้มีนโยบาย “ร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ” (Common Illnesses) และเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 จนถึงปัจจุบัน โดยเป็นการดำเนินการร่วมกับสภาเภสัชกรรม และร้านยาคุณภาพทั่วประเทศที่เข้าร่วมให้บริการตามนโยบายกับ สปสช. ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตร 30 บาท รักษาทุกโรค” กรณีที่มีภาวะเจ็บป่วยเล็กน้อย เป็นการอำนวยความสะดวก ลดการเดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาล เพื่อช่วยลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาล แต่สามารถเข้ารับการประเมินอาการและรับยาจากร้านยาใกล้บ้านได้แทน
นโยบายนี้ได้รับการยอมรับอย่างดีจากทั้งประชาชน ผู้ประกอบการร้านยาและเภสชักร ปัจจุบันมีร้านยาร่วมในโครงการ กว่า 1,500 แห่ง (ข้อมูล 1 มกราคม 2567)
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าในช่วงที่ผ่านมา มีประชาชนส่วนหนึ่งอาจเกิดความเข้าใจที่สับสนต่อนโยบายนี้ จึงไปที่ร้านยาเพื่อขอใช้สิทธิบัตรทองฯ รับยากับเภสัชกร ทั้งที่ไม่ได้เจ็บป่วยเพื่อนำมาเก็บไว้ที่บ้าน ดังนั้น สปสช. ขอย้ำว่า “ประชาชนที่จะใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับการดูแลจากร้านยาตามนโยบายนี้ จะต้องเป็นผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยใน 16 กลุ่มอาการเท่านั้น โดยเภสัชกรจะเป็นผู้คัดกรองอาการท่าน และจ่ายยาตามอาการที่ปรากฎ แต่หากท่านไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยก็จะไม่ได้รับการจ่ายยาใดๆ และนโยบายนี้ก็ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่เป็นการแจกยาฟรี เพื่อให้นำยาไปเก็บไว้ที่บ้านได้
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “นโยบายนี้ สปสช. และสภาเภสัชกรรม มีเจตนาที่ดีในการร่วมดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก หากเจ็บป่วยเล็กน้อยก็เข้าถึงการรักษาได้ง่าย ซึ่งท่านไม่ต้องนำยาไปเก็บไว้ที่บ้าน หากมีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็สามารถใช้สิทธิรับบริการที่ร้านยาได้ทุกเมื่อ ตามเวลาให้บริการของร้านยานั้นๆ จึงขอทำความเข้าใจ และขอความร่วมมือจากประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองมา ณ ที่นี้ด้วย เพื่อให้นโยบายดีๆ นี้คงอยู่ต่อไป เพราะไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายนี้ในอนาคตได้”
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า นอกจากการใช้สิทธิบัตรทองเพื่อเช้ารับบริการนี้ ขอแจ้งว่าเป็นสิทธิเฉพาะบุคคล ซึ่งไม่สามารถนำบัตรประชาชนผู้อื่นมาขอรับยาแทนได้ เนื่องจากเภสัชกรต้องทำการคัดกรองประเมินอาการเบื้องต้นเพื่อจ่ายยาและให้คำแนะนำการกินยา ในส่วนของผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง จำเป็นต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องจากแพทย์และมีนัดรับการรักษาที่โรงพยาบาล ก็ขอให้ไปรับการรักษาตามที่หน่วยบริการนัดหมายเพื่อรับการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถเข้ารับยาที่ร้านยาตามนโยบายนี้ได้
บริการการแพทย์ทางไกล เพื่อดูแลสุขภาพคนไทยสิทธิบัตรทองในต่างประเทศ
สปสช.ขยายบริการดูแลประชาชนชาวไทยที่อาศัยหรือต้องเดินทางไปต่างประเทศ ผ่านระบบบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เริ่ม 15 ม.ค.67 เป็นต้นไป เน้นให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงใช้หนังสือเดินทางหรือเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ยืนยันตัวตนใช้สิทธิรับบริการ ประสานกระทรวงการต่างประเทศร่วมสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้คนไทยในประเทศต่างๆ รับรู้
บริการการแพทย์ทางไกลนี้ เป็นการให้บริการผู้ป่วยได้ทุกที่ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใด ดังนั้นจึงสามารถที่จะขยายความครอบคลุมเพื่อให้บริการคนไทยในต่างประเทศได้ด้วย ทั้งให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ ประเมินอาการเจ็บป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นสำหรับคนไทยในต่างประเทศโดยแพทย์ไทย
ที่มาของระบบบริการฯ นี้ เนื่องจากมีคนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ หรือคนไทยที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ มีส่วนหนึ่งที่เกิดภาวะเจ็บป่วยและต้องเข้ารับบริการสาธารณสุขในประเทศนั้นๆ แต่ด้วยปัญหาด้านภาษาทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์และการเข้ารับบริการรักษาพยาบาล
- ในกรณีที่ผู้มีสิทธิบัตรทองมีอาการเจ็บป่วยเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illness) สามารถรับบริการการแพทย์ทางไกลผ่านแอปพลิเคชันด้านสุขภาพของผู้ให้บริการการแพทย์ทางไกล 4 แห่ง ที่เป็นหน่วยบริการในระบบของ สปสช. ได้
- ในส่วนของขั้นตอนการรับบริการ คนไทยที่มีสิทธิบัตรทองซึ่งอยู่ในต่างประเทศสามารถเลือกรับบริการการแพทย์ทางไกลผ่านแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการที่ สปสช. กำหนดได้ โดยรับบริการแอปใดแอปหนึ่ง ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
- การใช้สิทธิรับบริการจะใช้เพียงหนังสือเดินทาง (Passport) หรือเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อยืนยันตัวตนการใช้สิทธิ และจะได้พบแพทย์ผ่านระบบการแพทย์ทางไกลเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิบัตรทอง ที่อยู่ในประเทศไทย
ปัจจุบันมี 4 แอปพลิเคชันที่ร่วมให้บริการกับ สปสช. ประกอบด้วย
- แอปพลิเคชัน Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็ม ดี) โดยสุขสบายคลินิกเวชกรรม สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @Sooksabaiclinic ลงทะเบียนรับบริการได้ที่ https://telemed.salubermdthai.com/
- แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) โดยคลิกนิกเฮลท์คลินิกเวชกรรม สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @clicknic
- แอปพลิเคชัน Mordee (หมอดี) โดยชีวีบริรักษ์ คลินิกเวชกรรม สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @mordeeapp ลงทะเบียนรับบริการได้ที่ https://form.typeform.com/to/qKY8gV4X
- โททอลเล่เทเลเมด (Totale Telemed) โดยเดอะโททอลเล่คลินิก สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @totale
บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ สำหรับผู้ป่วยมะเร็งบัตรทอง
25 ธ.ค. 2566 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีมติรับทราบแนวทางดำเนินการจ่ายค่าใช้จ่ายกรณีบริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ โดยนำร่องให้บริการผู้ป่วยมะเร็ง 3 กลุ่ม ได้แก่
1. มะเร็งต่อมลูกหมาก
2. มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง (ในกลุ่ม CA rectum, CA Anal Canal) และ
3. มะเร็งตับ ตับอ่อน และท่อน้ำดี (เริ่มในบริการ Whipple Operation)
คาดการณ์ว่าจะมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากประมาณ 500 ราย ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงประมาณ 50 ราย และมะเร็งตับ ตับอ่อนและท่อน้ำดี อีกประมาณ 50 ราย รวมผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการรับบริการทั้งหมดจำนวน 600 ราย ประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายชุดอุปกรณ์ในการในการผ่าตัดหุ่นยนต์ประมาณ 100,000 บาทต่อราย รวมเป็นเงินงบประมาณทั้งหมดจำนวน 60 ล้านบาท
หน่วยบริการที่จะร่วมให้บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ในระบบบัตรทองฯ นี้ จะต้องผ่านการประเมินศักยภาพจากคณะกรรมการการพัฒนาระบบบริการผ่าตัดแผลเล็ก (MIS : Minimal Invasive Surgery) ที่กระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้ง หรือคณะกรรมการอื่นตามที่ สปสช. กำหนด
ส่วนหน่วยบริการภาครัฐ 7 แห่ง ที่ให้บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์อยู่แล้วในปัจจุบัน สามารถให้บริการต่อเนื่อง และถือว่าผ่านการประเมินแล้ว
“การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีความแม่นยำในการผ่าตัด โดยเฉพาะตำแหน่งที่เข้าถึงได้ยาก ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดได้ ทำให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยในการรักษามากขึ้น มีระยะเวลาในการฟื้นตัวเร็วขึ้นทำให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาลสั้นลง รวมทั้งลดการสัมผัสระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ผู้ผ่าตัด ช่วยเพิ่มคุณภาพบริการและความปลอดภัยในการผ่าตัดให้กับประชาชน สิทธิประโยชน์นี้จึงนับเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยิ่ง” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวต่อว่า คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน สปสช. ได้มีมติเห็นชอบการเพิ่มรายการบริการผ่าตัดวันเดียวกลับและการผ่าตัดแผลเล็กเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 65 และได้มีผลการบริการตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นมา ต่อมาในการประชุมคณะทำงานยกระดับความเป็นเลิศด้านการแพทย์ขั้นสูงสุด สปสช. เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 ได้เห็นชอบข้อเสนอบริการการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ในผู้ป่วยมะเร็ง 3 กลุ่มข้างต้น เพื่อเป็นบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ควรสนับสนุนเพื่อสร้างความเป็นเลิศขั้นสูงสุดของไทย โดยมอบให้ สปสช. นำเข้ากระบวนการบริการ MIS และรายงานต่อคณะทำงานเพื่อทราบผลการดำเนินการ
สปสช. ได้ร่วมกับคณะกรรมการการพัฒนาระบบบริการ การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (One Day Surgery) และการผ่าตัด. แผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery) ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และสำนักพัฒนาโรคร่วมไทย หารือแนวทางการให้บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ให้สอดคล้องกันทั้ง 3 กองทุน และนำมาสู่มติรับทราบของบอร์ด สปสช. ในวันนี้ โดยในขั้นต่อไป สปสช. จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดเงื่อนไข ข้อบ่งชี้ อัตราจ่าย และแนวทางการติดตามประเมินผลต่อไป
รักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน
25 ธันวาคม 2566 บอร์ด สปสช. ที่มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์การรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนในระบบบัตรทอง ซึ่งเป็นวิธีการฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอนที่เป็นเทคนิคการฉายรังสีสมัยใหม่ มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งและมีผลข้างเคียงลดน้อยลง
สิทธิประโยชน์การรักษานี้ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย มะเร็งครบวงจรของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็งให้เข้าถึงการรักษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
“การรักษานี้ เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งอย่างมาก ช่วยให้เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งจากข้อมูลในระบบของ สปสช. พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับรังสีรักษาเข้าข่ายที่จะรับบริการฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอนนี้ได้ประมาณ 32,000 รายต่อปี (ข้อมูลจากฐาน IP ปี 65ของสปสช.) โดยในปี 2565 ใช้งบประมาณที่จำนวน 50 ล้านบาทต่อปี ในการดูแลผู้ป่วย” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว
สิทธิประโยชน์นี้มาจากข้อเสนอของสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย เป็นข้อเสนอที่ได้จากการประชุมทีมแพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาผู้เชี่ยวชาญการฉายรังสีโรคมะเร็งในเด็ก และนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานยกระดับความเป็นเลิศด้านการแพทย์ขั้นสูงสุดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566
การรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนเป็นวิธีรักษามะเร็งที่มีประสิทธิผล มีอัตราการควบคุมโรคเฉพาะที่และการรอดชีวิตที่สูงในกลุ่มโรคมะเร็งสมองในเด็ก ช่วยลดผลข้างเคียงในทุกด้านเมื่อเปรียบเทียบกับการฉายรังสีโฟตอนแบบเดิม โดยการรักษาต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย แพทย์รังสีรักษา แพทย์รังสีวินิจฉัยแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ กุมารแพทย์ทางโลหิตวิทยาและรังสี (กรณีผู้ป่วยเด็ก) วิสัญญีแพทย์ นักฟิสิกส์การแพทย์ นักรังสีเทคนิค พยาบาล และวิศวกร
ปัจจุบันในประเทศไทยมีหน่วยบริการที่ให้บริการฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอนเพียงแห่งเดียว คือศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพฯ รพ.จุฬาลงกรณ์ เปิดให้บริการมาตั้งแต่สิงหาคม 2564 ดังนั้นในบริหารจัดการจ่ายชดเชย สปสช. จึงใช้รูปแบบเหมาจ่ายรายปี จำนวน 50 ล้านบาท ให้แก่ ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พร้อมให้มีการจัดระบบการส่งต่อ ประสานงาน เพื่อจัดบริการให้แก่ผู้ป่วยทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในกรณีการนำส่งผู้ป่วยสามารถเบิกจ่ายค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วยอัตราเฉลี่ย 2,300 บาทต่อครั้ง
“หลังจากบอร์ด สปสช. เห็นชอบแล้ว จากนี้ สปสช. จะออกประกาศหลักเกณฑ์รองรับการจ่ายชดเชยค่าบริการ พร้อมดำเนินการตามที่บอร์ด สปสช. มอบหมาย ทั้งการกำกับติดตามประเมินผลการเข้าถึงบริการ การประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประเมินประสิทธิภาพประสิทธิผลการรักษา รวมทั้งจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยเพื่อความสะดวกในการเข้ารับบริการอย่างเท่าเทียมกันทุกสิทธิ และรายงานต่อคณะทำงานยกระดับความเป็นเลิศด้านการแพทย์ขั้นสูงสุดฯ ทุก 4 เดือน และคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฯ นอกจากนี้จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นที่นอกเหนือจากทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนบริการและการดูแลผู้ป่วย เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษ เป็นต้น”